คำถามนี้เป็นคำถามที่ได้ยินจากเจ้าของสุนัขและแมวค่อนข้างบ่อยวันนี้เรามาฟังคำตอบจาก อ.น.สพ.ดร.ธีรพล ชินกังสดาร ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กันครับ
กว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของสุนัขและแมวที่โตเต็มที่นั้น มักจะพบปัญหาโรคเหงือกอักเสบหรือโรคปริทนต์ ซึ่งโรคนี้มีสาเหตุมาจากการสะสมของคราบแบคทีเรียบนผิวฟันเมื่อมีปริมาณมากขึ้นก็จะก่อตัวเป็นหินน้ำลาย (หินปูนที่ฟัน) ซึ่งหากไม่ได้รับการดูแลรักษา ก็จะทำให้เกิดปัญหาฟันโยก จนทำให้สูญเสียฟันตามมาได้การรักษาที่เหมาะสมที่สุดก็คือ การขูดหินปูน
เมื่อเจ้าของพาสัตว์เลี้ยงไปพบสัตวแพทย์ ก็มักจะได้รับการแนะนำให้รักษาด้วยการขูดหินปูน ซึ่งจะมีการวางยาสลบด้วยทั้งนี้ หลายท่านทราบกันอยู่แล้วว่าการวางยาสลบนั้นมีความเสี่ยงที่อาจเกิดอันตรายถึงชีวิตได้ (แม้จะมีโอกาสต่ำมากก็ตาม)
จุดนี้เองที่อาจจะทำให้เจ้าของหลายท่านสงสัยว่า แค่ขูดหินปูน ทำไมต้องถึงกับวางยาสลบเลยหรือ???
เจ้าของหลายท่านอาจไปหาข้อมูลตามสังคมออนไลน์ และพบว่ามีการพูดถึงวิธีการขูดหินปูนสัตว์เลี้ยงแบบไม่วางยาสลบด้วยซึ่งอาจจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่เจ้าของสนใจ
ข้อดีของการขูดหินปูนแบบไม่วางยาสลบนั้น ก็ตรงตัวเลยคือไม่ต้องวางยาสลบและไม่ต้องห่วงเรื่องความเสี่ยงของสัตว์เลี้ยงนั่นเอง
วิธีการปฏิบัติของการขูดหินปูนแบบไม่วางยาสลบมีดังนี้เริ่มจากการจับสัตว์เลี้ยงให้อยู่นิ่ง (animal handling and restraint หรือการจับบังคับสัตว์) จากนั้นจะทำความสะอาดบริเวณตัวฟันด้วยอุปกรณ์ขูดหินปูน (ซึ่งจะมีข้อจำกัดมากมายจากการที่สัตว์เลี้ยงจะต้องอยู่นิ่ง ซึ่งอาจทำให้สัตว์เกิดความเครียด)
เมื่อต้องมีการจับบังคับสัตว์ ก็จะทำให้การทำงานลำบากขึ้นใช้เวลานานขึ้น และผู้ช่วยสัตวแพทย์ที่จับสัตว์เลี้ยงรวมถึงตัวหมอก็ต้องคอยระวังไม่ให้ถูกกัดด้วย
หลังจากเสร็จขั้นตอนการทำความสะอาดฟันแล้ว อาจมองเห็นจากภายนอกว่าตัวฟันสะอาดดี แต่จริงๆ แล้ว จุดที่มีการสะสมของคราบแบคทีเรียมากที่สุดคือบริเวณคอฟันและใต้เหงือก ซึ่งเราไม่สามารถทำความสะอาดลึกๆ ได้ด้วยวิธีการไม่วางยาสลบ เพราะสัตว์จะเจ็บและไม่ยอมให้ทำโดยง่าย
นอกจากนี้ การไม่ได้วางยาสลบก็จะไม่สามารถตรวจสุขภาพฟันแบบละเอียดเป็นรายซี่ได้ ส่งผลให้ไม่สามารถวางแผนการรักษาต่อไปได้อย่างครบถ้วน ซึ่งการตรวจสุขภาพฟันที่ถูกต้องและเหมาะสมนั้น จะต้องประกอบไปด้วยการประเมินระดับการอักเสบของเหงือก การสะสมของหินปูนด้วย โดยการตรวจฟันเป็นรายซี่ บางครั้งอาจต้องมีการถ่ายภาพเอกซเรย์ฟันร่วมด้วย จึงจะช่วยให้วินิจฉัยโรคในช่องปากที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
การขูดหินปูนโดยใช้เวลาจำกัดเนื่องจากไม่มีการวางยาสลบนั้นจึงทำให้สัตว์เลี้ยงไม่ได้รับการวินิจฉัยอย่างครบถ้วน ทำให้โรคปริทันต์ไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง และสามารถก่อให้เกิดความผิดปกติอย่างต่อเนื่องและมากขึ้นตามมา เช่น เกิดการอักเสบของไซนัส หรือฝีที่ปลายรากฟัน เป็นต้น
ดังนั้น จึงต้องเรียนให้ทราบว่าประโยชน์ของการตรวจอย่างละเอียดเมื่อสัตว์ได้รับการวางยาสลบนี้ มีค่ามากเกินกว่าความเสี่ยงของการวางยาสลบ (ซึ่งเราสามารถควบคุมและประเมินความเสี่ยงได้ จากการตรวจสุขภาพอย่างละเอียด การตรวจค่าเม็ดเลือดและค่าชีวเคมีของเลือด การเลือกชนิดยาสลบ และวิธีการวางยาสลบ ตามหลักความปลอดภัยทางสัตวแพทย์)
ดังนั้น การขูดหินปูนด้วยวิธีที่ไม่วางยาสลบนั้น ไม่ใช้วิธีที่ดีที่สุดในการรักษาภาวะเหงือกอักเสบในสัตว์เลี้ยง นอกจากนี้ยังสร้างความเครียดให้สัตว์เป็นอย่างมาก รวมถึงไม่สามารถตรวจหาปัญหาต่างๆ ที่ซ่อนอยู่ ซึ่งเมื่อปล่อยไว้อาจทำให้เกิดโรคที่มีผลต่อสุขภาพอื่นๆ ต่อไปได้อีกด้วย
เรียนย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า การวางยาสลบไม่ได้น่ากลัวอย่างที่หลายท่านกังวล หากได้รับการวางแผนและการประเมินสุขภาพอย่างครบถ้วนครับ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.ทิลดิสร์ รุ่งเรืองกิจไกร
ภาควิชากายวิภาคศาสตร์และฝ่ายประชาสัมพันธ์และภาพลักษณ์องค์กร
คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี