อาทิตย์นี้ขอพักเรื่องสงคราม (รัสเซีย-ยูเครน) แล้วมาว่ากันด้วยเรื่องของการลงทุนสู่อนาคต กับสิ่งที่เรียกว่า NFT หรือ Non-Fungible Token ที่มีรูปแบบของมูลค่า และการคงอยู่ ไม่ต่างจากCryptocurrency หรือ “เงินดิจิตอล”อาทิ บิตคอยน์ (Bitcoin) อีเธอเรียม(Ethereum) เพียงแต่ NFT จะอยู่ในรูปแบบของ “สินทรัพย์ดิจิตอล” ต่างๆ อาทิรูปภาพ วีดีโอ คลิปสั้น การ์ดเกม การ์ตูน โฉนด ฯลฯ ตามแต่จะกำหนดมูลค่าของสิ่งนั้นๆ ขึ้นมา โดยที่สิ่งนั้นๆ ต้องมีเพียงชิ้นเดียว และแสดงตัวอยู่บนโลกออนไลน์ ผ่านการเชื่อมโยงการรับรู้ด้วยบล็อกเชน (Blockchain) หรือระบบการจัดเก็บข้อมูลที่เป็นอิสระ และมีความปลอดภัยสูง อีกทั้งยังสามารถเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ได้อย่างสะดวกสำหรับทุกคน เรียกได้ว่า เป็นระบบยืนยันความเป็นเจ้าของ และยืนยันข้อมูลดังกล่าวว่าไม่ใช่สำเนา รวมไปถึงการอัพเดตความเคลื่อนไหวของสินทรัพย์ และความเป็นเจ้าของให้มีความเป็นปัจจุบันเสมอ
เราจึงเห็นในช่วงเวลาที่ผ่านมา จะมีศิลปินระดับโลกหลายท่านที่ทำงานศิลปะผ่านการวาดรูป ถ่ายรูป หรือการทำเพลง นอกเหนือไปจากการหารายได้จากการขายลิขสิทธิ์ความเป็นเจ้าของแบบปกติทั่วไปแล้ว ยังเปลี่ยนสินทรัพย์นั้นให้กลายเป็นสินทรัพย์บนโลกออนไลน์ และขายลิขสิทธิ์ความเป็นเจ้าของกันอย่างครึกครื้น จนมีศิลปินหลายคนสามารถทำรายได้อย่างมหาศาลจากสินทรัพย์ในรูปแบบดังกล่าวนี้ บางทีอาจสร้างมูลค่าได้มากกว่าสินทรัพย์บนโลกจริงๆ เสียอีก
อาทิ กัปตันแจ็ค สแปร์โร่ว์ (ตัวละครในภาพยนตร์ Pirates of the Caribbean) หรือ “จอห์นนี่ เดปป์” (Johnny Depp) ที่เพิ่งประเดิมเข้าวงการ NFT เมื่อต้นปี (2022) ที่ผ่านมา ด้วยคอลเลคชัน “Never Fear Truth” ซึ่งเป็นงานวาดภาพเหมือนบุคคลอันสร้างแรงบันดาลใจให้กับตัวเขา อาทิ ผู้กำกับภาพยนตร์ “ทิม เบอร์ตัน”นักแสดงเจ้าของรางวัลออสการ์ “ฮีธ เลกเจอร์”และ “อัล ปาชิโน” รวมไปถึงตัวของเขาเองเป็นต้น จากนั้นก็เอามาตกแต่งใหม่ให้มีสีสันที่ฉูดฉาด กลายเป็นภาพแนวเสมือนบุคคลในรูปแบบของการ์ตูนเท่ๆ ที่มีให้เลือกมากกว่า 11,111 ชิ้น ซึ่งรายได้จาก “Never Fear Truth” ประมาณ 25% จะได้รับการนำไปบริจาคให้กับโรงพยาบาลเด็กในลอสแองเจลิส รวมถึงมูลนิธิเด็ก และองค์กรการกุศล Elizabeth Taylor Aids Foundation ในประเทศสหรัฐอเมริกา
หรืออย่าง “โทนี่ ฮ็อค” (Tony Hawk) นักสเก็ตบอร์ดระดับตำนาน ที่ทำคลิปวีดีโอเกี่ยวกับการเล่นท่า “โอลลี่ 540”ขึ้นมา ซึ่งเป็นท่าที่ได้สร้างชื่อให้ตัวเขากลายเป็นที่รู้จักของวงการสเก็ตบอร์ดในปี 1989 จากนั้นก็ขายในรูปแบบ NFT ให้แก่บุคคลที่ต้องการเป็นเจ้าของภาพเคลื่อนไหว สำหรับการเล่นท่าบนสเก็ตบอร์ดครั้งสุดท้ายของตำนานที่ยังมีชีวิตอย่างเขา ซึ่งก็ทำราคาได้สูงมากเสียด้วย
ที่น่าสนใจมากๆ ก็คือ “สนู๊ป ด๊อก” (Snoop Dogg) นักร้องเพลง HIPHOPชื่อดัง ที่นอกจากเป็นนักลงทุนซื้อ NFT มาเกร็งราคาแล้ว ยังทำเพลง มิวสิกวีดีโอ คอนเสิร์ต หรือเหรียญสะสม พร้อมอภิสิทธิ์ต่างๆ จากผลงานของเขาในรูปแบบ NFT มากมาย สร้างรายได้มหาศาล ล่าสุด นักร้องระดับตำนานคนนี้ ยังเข้าไปมีส่วนรวมกับเกมออนไลน์ ด้วยการสร้างเสื้อผ้า รถยนต์ แมนชั่นสุดหรูและตัวละครในเกม ที่เป็นอวตารของตัวเขาเองจากนั้นก็ตั้งเป็นของแถม หรืออภิสิทธิ์ สำหรับคนที่ซื้อ “ที่ดิน” ในเกมออนไลน์นั้น ซึ่งเป็นที่ดินที่ตัวสนู๊ป ด็อก ได้ลงทุนกว้านซื้อเอาไว้ แล้วทำการแบ่งขายในชื่อโปรเจกท์ว่า “Snoopverse”นี่ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของ NFT ที่วงการเกมออนไลน์นำไปใช้ในการสร้างธุรกิจขึ้นมา เพื่อหารายได้บนโลกเสมือนจริง
และในปัจจุบัน ก็มีการสร้าง NFT แบบเหรียญบ้าง การ์ดบ้าง หรือแบบเป็นบัตร เพื่อเป็นการยืนยันลิขสิทธิ์เฉพาะตัวสำหรับความเป็นเจ้าของ หรือการแสดงความเป็น
กลุ่มแฟนคลับต่อศิลปินที่ชื่นชอบ โดยทางต้นสังกัดของศิลปิน โดยเฉพาะใน “เกาหลีใต้”ก็เริ่มเปิดช่องส่วนตัวบนแพลตฟอร์ม YouTubeแล้วต้อนรับเฉพาะคนที่ครอบครอง NFT ดังกล่าวให้สามารถเข้ามาใช้บริการได้เท่านั้น รวมไปถึงกลุ่มความสนใจอื่นๆ ที่ก็มีการขาย NFT ในรูปแบบนี้ เพื่อแสดงตัวตนในกลุ่มเฉพาะ และการเข้าร่วมบนโลกเสมือนจริง
ทั้งหมดที่เล่ามานี้ เป็นเพียงข้อมูลส่วนหนึ่งของสินทรัพย์ดิจิตอล หรือ NFT ซึ่งปัจจุบันมีการพัฒนากันออกมาในชนิดที่เรียกว่า ก้าวกระโดดอย่างไม่น่าเชื่อ หลังจากการที่ Facebook ออกมาประกาศตัวว่า จะเดินหน้าเข้าสู่โลกแห่ง Metaverse อย่างเต็มกำลัง ทุกธุรกิจจึงมองไปที่เป้าหมายเดียวกับ Facebook และพวกเขาได้เล็งเห็นว่า NFT จะกลายเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมในโลกที่พวกเขากำลังร่วมกันสร้างขึ้นมานี้
กระนั้น เหรียญย่อมมีสองด้านเสมอ ในแง่ของการสร้างรายได้ และการปลดปล่อยจินตนาการที่สร้างสรรค์ รวมไปถึงแนวคิดทางธุรกิจที่น่าสนใจ ก็ย่อมมาพร้อมกับความไม่ปลอดภัยจากมิจฉาชีพ และข้อจำกัดบางอย่างในการใช้งาน NFT สำหรับการสร้างรายได้ อันนอกเหนือไปจากโลกออนไลน์ เพราะเมื่อมูลค่าของสินค้าบางอย่างมันสูงจนเปลี่ยนชีวิตของเราได้ และการถือครองนั้นอ้างอิงจาก “ลิขสิทธิ์” ที่ระบบออนไลน์การรันตีความปลอดภัยเพียงทางเดียว ดังนั้น การทำมาค้าขายบนโลกเสมือนจริง ที่ถูกนำออกไปใช้บนโลกจริงๆ ย่อมมีความสุ่มเสี่ยง และอันตรายที่อาจทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยทางธุรกรรมและอาจนำไปสู่การขู่กรรโชกที่ทำให้ต้องเสียทรัพย์ และอาจไปถึงขั้นเสียชีวิต อีกทั้งไอเดียอันสุดแสนบรรเจิดของนักลอกเลียนแบบหรือคนที่ชอบซิกแซก ก็ย่อมหาช่องทางเปลี่ยนลิขสิทธิ์บนโลกออนไลน์ มาเป็นของขายบนโลกจริงได้อย่างไม่รู้สึกละอายใจแต่อย่างใด อย่างเช่นกรณีง่ายๆ การเอารูปภาพมาสกรีนใส่เสื้อแล้วขาย หรือเอาแบบเสื้อผ้าแฟชั่นมาตัดเย็บผลิตเป็นสินค้าของตัวเอง ฯลฯ นี่คือรายละเอียดที่ต้องนำไปเติมเต็มความปลอดภัยของนักลงทุน และศิลปิน ที่จะสร้างธุรกิจ NFT ให้มีความยั่งยืน นี่ยังไม่รวมถึงประเด็นของการฟอกเงินเรื่องของภาษี และภาวะปั่นราคาเงินดิจิตอลอันมีผลต่อมูลค่าของสินค้าดังกล่าวนี้ด้วย
แน่นอนว่า การเกิดขึ้นของธุรกรรมการค้าในรูปแบบนี้ ปัจจัยหนึ่งคือการสร้างอิสระที่ปราศจากการควบคุมของรัฐใดๆ แต่ผลกระทบในด้านลบของการไปสร้างความเจริญเติบโตให้แก่ธุรกรรมจากองค์กรสีเทาไปจนถึงดำนั้น ตรงนี้ก็เป็นอีกเรื่องที่ต้องคิด และเชื่อว่าหลายรัฐบาลในหลายประเทศก็กำลังคิด และหาวิธีบริหารจัดการ ซึ่งโดยส่วนตัว ก็ไม่เห็นด้วยที่ทางรัฐบาลเหล่านั้นจะหากรอบกติกา หรือกฎหมายใดๆ มาครอบจนการดำเนินธุรกรรมต่างๆ บนโลกออนไลน์ อยู่ในสภาพที่อึดอัด
แต่ถ้าอยู่ในความพอดี และเหมาะสมไม่ปิดกั้นความคิดสร้างสรรค์ ไม่ทำหมันการเติบโตของธุรกิจใหม่ๆ และส่งเสริมให้คนทั่วไปสามารถสร้างรายได้ และอนาคตของตัวเอง โดยไม่ถูกกดทับด้วยข้อจำกัดที่เสียเปรียบทุนใหญ่ ก็เชื่อว่า NFT จะเป็นช่องทางสร้างรายได้ที่มั่นคง ให้กับทุกคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ และมองว่า ทุกวันเป็นโอกาสที่ดีของชีวิต
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี