ท่านที่เลี้ยงสุนัขและแมวคงเคยเจอปัญหาสัตว์เลี้ยงเอาก้นไถพื้นบ้างหลายตัวมีสิ่งแปลกๆ ปนออกมากับอุจจาระบ้าง นั่นเป็นอาการของการมีพยาธิในทางเดินอาหารหรือไม่ เรามีวิธีสังเกตอย่างไร รวมถึงมีวิธีการป้องกันและรักษาอย่างไร วันนี้ผมมีข้อมูลจาก รศ.น.สพ.ดร.ปิยนันท์ ทวีถาวรสวัสดิ์หน่วยปรสิตวิทยา ภาควิชาพยาธิวิทยา คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาฝากครับ
@อาการสามารถพบได้กรณีน้องหมาน้องแมวมีพยาธิในร่างกายมีอะไรบ้าง
1.เจอตัวพยาธิในกองอุจจาระ
ส่วนใหญ่ที่เราเห็น คือกลุ่มของพยาธิไส้เดือนที่มีการปนออกมาเนื่องจากพยาธิไส้เดือนมีขนาดใหญ่ เราจะมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า มีขนาดประมาณ 5-7 เซนติเมตรตัวค่อนข้างอ้วน มีสีขาวครีม ลำตัวค่อนข้างกลมเนื่องจากเป็นพยาธิตัวกลม
2.ถ่ายเหลวมีมูกหรือมูกเลือดปน
อาจพบได้ในกรณีการติดพยาธิปากขอ เนื่องจากตัวเต็มวัยของพยาธิปากขอนั้นจะอาศัยอยู่ที่ลำไส้เล็ก และจะดูดเลือดสัตว์เป็นอาหาร กรณีมีมากหรือเป็นมานานอาจจะก่อให้เกิดภาวะโลหิตจางด้วย สามารถสังเกตได้ง่ายคือ เยื่อเมือกสีขาวซีด อุจจาระจะออกสีดำ ส่วนในกรณีของพยาธิแส้ม้าก็สามารถพบได้เช่นกัน ซึ่งมักจะพบในสุนัขโตมากกว่า ตัวเต็มวัยของพยาธิแส้ม้าจะอยู่ที่ลำไส้ใหญ่ ดังนั้นการติดพยาธิแส้ม้าอาจจะทำให้สุนัขมีปัญหาเกี่ยวกับลำไส้ใหญ่ ซึ่งก็จะมีโอกาสพบลักษณะของการถ่ายเป็นมูกหรือปนเลือดได้
กรณีการถ่ายมีมูกหรือมูกเลือดปนนี้ เป็นเพียงส่วนประกอบหนึ่งในอาการที่อาจพบได้เท่านั้น เนื่องจากเป็นอาการที่สามารถพบได้ในโรคต่างๆ ของระบบทางเดินอาหารอีกหลายโรค จึงอาจไม่สามารถบ่งได้ว่าจะเป็นพยาธิเสมอไป
3.พบปล้องของพยาธิติดอยู่ที่ก้น
ในบางครั้งอาจเห็นว่ามีชิ้นส่วนหรือเกล็ดสีขาวติดอยู่ที่ทวารหนัก โดยจะเห็นลักษณะของปล้อง คล้ายเม็ดข้าวสุกหรือเมล็ดแตงกวา ซึ่งเป็นปล้องสุก (ส่วนของพยาธิตืดที่แก่เต็มที่แล้ว) ที่หลุดออกมา
พยาธิพวกนี้เป็นกลุ่มของพยาธิตืด จะเรียกว่าพยาธิตืดเม็ดแตงกวาเนื่องจากลักษณะของตัวปล้องสุกนี้ มีลักษณะคล้ายกับเม็ดของผลแตงกวาซึ่งพยาธินี้อาจเรียกได้อีกชื่อหนึ่งว่าพยาธิตืดหมัด เนื่องจากส่วนใหญ่จะมีหมัดเป็นโฮสต์กึ่งกลาง และติดต่อโดยการกินหมัดที่มีตัวอ่อนของพยาธิตืดเข้าไป
4.อาเจียนออกมาเป็นพยาธิ
กรณีนี้ค่อนข้างพบได้บ่อยในสุนัขและแมวเด็ก ที่พบได้คือการอาเจียนมีพยาธิไส้เดือนปนออกมา กรณีนี้ก็สามารถระบุได้เลยว่าน้องหมาน้องแมวของเรามีการติดพยาธิอย่างแน่นอน ซึ่งโดยปกติแล้ว การติดพยาธิไส้เดือนในลูกสุนัขและแมว จะเป็นการติดต่อจากแม่มายังลูกผ่านทางรกและทางน้ำนม ซึ่งมีโอกาสพบได้บ่อยในกรณีที่แม่สัตว์มีพยาธิไส้เดือนในร่างกาย
5.ตัวผอม ขนหยาบ โตช้า ไม่แข็งแรง
กรณีนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่สามารถพบได้กรณีสัตว์มีพยาธิ แต่อาจไม่ได้บ่งชี้ว่าเป็นพยาธิในทุกกรณี เนื่องจากลักษณะที่กล่าวมานี้ มักจะเป็นเรื่องของการขาดสารอาหารซึ่งพยาธิอาจจะเป็นปัจจัยนึงในการที่จะทำให้เกิดการขาดสารอาหาร เนื่องจากบางครั้งพยาธิจะไปแย่งสารอาหารจากตัวสัตว์ ทำให้สัตว์อาจเกิดจากภาวะขาดสารอาหารเกิดขึ้นได้
6.ชอบเอาก้นไถพื้น
อาการนี้อาจเป็นส่วนหนึ่งที่พอจะบ่งว่ามีพยาธิ เนื่องจากกรณีของพวกพยาธิตืดเม็ดแตงกวาหรือพยาธิตืดหมัดนั้น จะมีปล้องสุกที่หลุดออกมา ซึ่งอาจจะทำให้เกิดปัญหาเรื่องต่อมข้างก้นอักเสบได้ แต่ปัญหาต่อมข้างก้นอักเสบนั้นอาจมาจากสาเหตุอื่นได้ รวมถึงอาการเอาก้นถูพื้นอาจจะเกิดจากการนะคายเคืองผิวหนังบริเวณก้นและทวารหนักได้
สิ่งที่อาจจะเป็นข้อสังเกตใหักับผู้เลี้ยงคือ การติดพยาธิตืดหมัดนั้น สัตว์เลี้ยงของเรามักจะมีหมัด หรือสัตว์ตัวอื่นที่เลี้ยงด้วยกันมีการติดหมัด การสังเกตสิ่งเหล่านี้ประกอบก็อาจจะเป็นเครื่องมือช่วยเราวินิจฉัยเบื้องต้นได้ว่า การไถก้นของน้องหมานั้นจะเกิดจากพยาธิหรือไม่
7.ลูกสุนัขหรือลูกแมวท้องกาง
ลักษณะที่ลูกสุนัขหรือลูกแมวมีอาการท้องกางนี้ ส่วนหนึ่งก็อาจจะเป็นเรื่องของการมีพยาธิไส้เดือนก็เป็นไปได้ แต่อาจจะต้องแยกให้ออกระหว่างคำว่า
“ท้องกาง” กับ “อ้วนพุงกาง” จากการกินอาหารเก่ง แล้วก็มีการพุงกางขึ้นมา ซึ่งจะต้องดูอย่างอื่นประกอบด้วย เพราะพยาธิไส้เดือนที่มีปริมาณมากก็จะทำให้เกิดลักษณะของอาการท้องกางได้
@การรักษาพยาธิในสุนัขและแมวทำได้อย่างไร
การกำจัดพยาธิในทางเดินอาหารของสุนัขและแมวนั้น ต้องให้ยาถ่ายพยาธิ แต่เนื่องจากพยาธิที่สามารถพบได้ในสุนัขและแมวมีหลายชนิด ซึ่งการใช้ยากำจัดพยาธิแต่ละประเภท ก็จะมีชนิดและรูปแบบของยาที่แตกต่างกัน การพาไปพบสัตวแพทย์จะเป็นประโยชน์มาก เนื่องจากสัตวแพทย์มักจะทำการตรวจอุจจาระ เพื่อให้ทราบลักษณะและชนิดของไข่พยาธิซึ่งสามารถมองเห็นได้ผ่านกล้องจุลทัศน์
ทั้งนี้ ระยะเวลาในการรักษา พยาธิแต่ละชนิดก็จะแตกต่างกันออกไป
นอกจากนี้ เจ้าของสัตว์ควรหมั่นสังเกตว่า สัตว์เลี้ยงของเรามีปัญหาเรื่องปรสิตภายนอก เช่นพวกเห็บและหมัดหรือไม่ เราควรจะต้องควบคุมปรสิตภายนอกเหล่านี้ควบคู่ไปด้วย จะทำให้ปัญหาของสัตว์เลี้ยงเราที่มีการติดมาจากปรสิตภายนอกเหล่านี้หมดไปเช่นกัน
@ป้องกันพยาธิในสุนัขและแมวได้ยังไง
การป้องกันพยาธินั้น อยู่ที่ลักษณะการเลี้ยงและสุขอนามัยในการเลี้ยง หากเราเลี้ยงอยู่ในพื้นที่จำกัดในระบบปิด ไม่ได้ปล่อยให้ออกไปเล่นนอกบ้าน หรือเล่นบนพื้นหญ้าที่มีสัตว์อื่นอาศัย วิ่งเล่นหรืออุจจาระ ก็จะมีโอกาสจะติดพยาธิได้น้อยกว่า กรณีนี้สัตวแพทย์อาจแนะนำให้ถ่ายพยาธิเพียงปีละครั้งตอนฉีดวัคซีนประจำปีก็เพียงพอ
ส่วนกลุ่มที่เลี้ยงปล่อย สัตว์เลี้ยงสามารถออกไปภายนอกได้อย่างอิสระนั้น ก็จะมีโอกาสที่ไปสัมผัสหรือได้รับไข่หรือตัวอ่อนของพยาธิได้ง่ายกว่า ดังนั้นอาจจะต้องมีการถ่ายพยาธิบ่อยขึ้นทุก 1-2 เดือน หรือพาไปให้ตรวจเช็คอยู่เป็นประจำว่าสุนัขหรือน้องแมวของเรามีการติดพยาธิหรือไม่
“หมอโอห์ม”
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.ทิลดิสร์ รุ่งเรืองกิจไกร
ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ ฝ่ายประชาสัมพันธ์และภาพลักษณ์องค์กร
คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี