อย่างที่หลายท่านทราบกันดีว่า สงครามบนพื้นที่ของ “ประเทศยูเครน” จากการโจมตีโดย “ประเทศรัสเซีย” ยังคงดำเนินอยู่ พร้อมความเสียหายทั้งชีวิต และทรัพย์สิน อันทวีคูณมากขึ้นเรื่อยๆ ตามความโหดร้ายจากการเข่นฆ่าเพื่อเอาชนะกัน และความอดอยากของประชาชนบางส่วน ซึ่งเป็นผลกระทบมาจากภาวะสงครามตามที่เกิดขึ้น
ประธานาธิบดี “วลาดีมีร์ ปูติน” ยังคงยืนยันข้อเรียกร้องให้ยูเครนเข้าสู่กระบวนการปลดอาวุธ และให้ยอมรับอย่างเป็นทางการว่า “ไครเมีย” (พื้นที่ทางตอนใต้ของยูเครน) เป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย รวมไปถึงการประกาศให้ “โดเนตสก์”และ “ลูฮันสก์” (พื้นที่ทางตะวันออกของยูเครน) ที่รัสเซียเพิ่งได้รับรองอธิปไตยให้นั้น กลายเป็นรัฐอิสระอยู่นอกเหนือไปจากการปกครองของรัฐบาลยูเครน ที่สำคัญ ผู้นำสูงสุดของรัสเซีย ยังคงต้องการคำมั่นอันชัดเจนว่า ยูเครนจะไม่สมัครเข้าเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ หรือ NATO (นาโต) อีกต่อไปโดยปูตินต้องการให้ความยินยอมทั้งหมดตามที่ขอไป ได้รับการบรรจุเอาไว้ในรัฐธรรมนูญของยูเครน ซึ่งจะได้รับการบังคับใช้ทางกฎหมายอย่างถูกต้อง และชอบธรรม
แม้ว่าข้อเสนอในการหยุดสงครามและความเสียหายทั้งหมด จะเกิดขึ้นมาแล้ว แต่ประธานาธิบดี “วลาดิเมียร์เซเลนสกี” แห่งยูเครน ในฐานะผู้นำที่มีอำนาจในการตัดสินใจ ก็ยังไม่สามารถตอบรับในทุกความต้องการของรัสเซียได้ทันที โต๊ะเจรจาจึงเริ่มมีการพูดคุยเพื่อผ่อนปรนเงื่อนไขดังกล่าว ให้ก้าวเข้าสู่พื้นที่แห่งความพึงพอใจของทั้งสองฟากฝ่ายให้ได้มากที่สุด
ตามรายงานข่าวที่ออกมานั้นประเด็นของไครเมีย โดเนตสก์ และลูฮันสก์รัฐบาลยูเครนเหมือนกับว่าจะพยายามยอมรับให้ได้ เพราะพื้นที่พิพาทดังกล่าวตกอยู่ในความขัดแย้งมาเป็นเวลานาน โดยเฉพาะไครเมีย ที่โลกส่วนใหญ่เข้าใจไปแล้วว่า เป็นพื้นที่ของรัสเซีย ภายหลังปูตินส่งทหารเข้าไปยึดครอง และจัดทำประชามติจากเสียงของประชาชนในพื้นที่ตรงนั้น จนได้ 95.5% ของประชาชนทั้งหมด ที่แสดงออกว่า พวกเขายินดีอยากให้พื้นที่ตรงนั้นตกเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย ติดก็เพียงแต่การยอมรับอย่างเป็นทางการของโลก และคู่กรณี คือ ยูเครนเองที่ยังไม่เกิดขึ้น
ส่วนพื้นที่ทางด้านตะวันออกของยูเครน ก็มีการสู้รบต่อเนื่องกันมาเกือบจะ 10 ปีแล้ว จากกองกำลังไม่ทราบฝ่าย ที่โลกก็เข้าใจกันเองว่า มีรัสเซียเป็นผู้ให้การสนับสนุนด้านเงินทุน และอาวุธ ซึ่งแม้ว่าจะเคยมีการเจรจาสันติภาพสำหรับพื้นที่ดังกล่าวนี้มาแล้ว แต่การเข่นฆ่ายึดครองระหว่างกองกำลังไม่ทราบฝ่าย กับเจ้าหน้าที่ของกองทัพยูเครน ก็ยังคงเกิดขึ้นอย่างไม่มีสะดุด เพียงแต่ไม่ได้กลายเป็นข่าวอันครึกโครมเท่านั้น ที่สำคัญ การเข้ามาครอบครองพื้นที่โดเนตสก์ และลูฮันสก์ เป็นไปเพื่อการรักษาความปลอดภัยของชาวรัสเซีย จากการถูกทำร้ายหรือกลั่นแกล้งโดยเจ้าหน้าที่ของยูเครน นี่คือเหตุผลในการบุกเข้ามายูเครนของกองทัพรัสเซีย และปูตินใช้เป็นข้ออ้างต่อรัฐสภา ในการขอมติเคลื่อนกองกำลังทหารไปประจำการนอกประเทศ
ดังนั้น การเสียน้อยเพื่อรักษามาก จึงเป็นหนทางที่รัฐบาลยูเครน โดยการนำของเซเลนสกี ย่อมต้องเข้าใจ รวมไปถึงการคลี่คลายความขัดแย้งที่เป็นรูปธรรม จำเป็นต้องให้บางอย่างแก่รัสเซีย เพราะถ้ามองไปที่ยุทธศาสตร์ทางความมั่นคงของยูเครนแล้ว การยอมสละพื้นที่ที่ได้เสียไปแล้ว เพื่อจะรักษาพื้นที่ที่ยังคงอยู่ได้อย่างปลอดภัย และยังคงกลายเป็นพื้นที่อธิปไตยของยูเครนอยู่ ทั้งในทางกฎหมาย และลักษณะทางการครอบครอง ย่อมเป็นทางเลือกที่เหมาะสม และดีที่สุด สำหรับสถานการณ์ของยูเครนในตอนนี้
และในประเด็นของการสมัครเข้าเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือนั้น ก่อนหน้านี้ประธานาธิบดีเซเลนสกี ก็เคยออกมาให้สัมภาษณ์อยู่บ้างว่า ถ้าเป็นปัญหาต่อยูเครน ก็อาจต้องยอมล้มความตั้งใจตรงนี้ทิ้งไป รวมไปถึงการเข้าร่วมเป็นสมาชิกกับสหภาพยุโรป หรือ EU (อียู) ด้วย แต่ที่ยังติดขัดอยู่นั้น คือเรื่องของการปลดอาวุธ และกำลังทางทหารของยูเครน ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่ในสถานการณ์สู้รบต่อรัสเซียในตอนนี้เท่านั้น แต่ปูติน และรัฐบาลรัสเซียมีความพยายามให้ประเทศยูเครน ปลอดพ้นจากการมีกองทัพ ซึ่งประเด็นจึงไปคาบเกี่ยวกับความเป็นเอกราช และมีอธิปไตยของยูเครนเป็นอย่างมาก ยิ่งข้ออ้างของปูตินว่าเป็นไปเพื่อป้องกันไม่ให้ทหารของยูเครน มาทำอันตรายต่อคนที่พูดภาษารัสเซีย (ในประเทศยูเครน) และต้องการความมั่นใจว่า ยูเครนจะไม่เป็นภัยคุกคามต่อรัสเซียอีกในอนาคต ก็ทำให้ความสมเหตุสมผลของข้อเรียกร้องดังกล่าวนี้มีปัญหา จึงทำให้ข้อเรียกร้องดังกล่าวนี้ ยังไม่ได้รับการตอบรับ หรือตัดสินใจใดๆ จากทางฝั่งยูเครน ซึ่งหมายถึงว่า สงครามยังคงดำเนินต่อไป การล้มตายยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
“เราสามารถเจรจากันในเรื่อง Neutrality และประเด็นอื่นๆ อาทิ การกำจัดลัทธินาซีได้ แต่รัสเซียจะไม่ลดกำลังทางทหารในการบุกยูเครนลง ปฏิบัติการทุกอย่างจะดำเนินต่อไป” นี่เป็นข้อความล่าสุดของปูติน เมื่อกลางเดือนมีนาคม (2022) ที่ผ่านมา อันมีความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกับการเจรจาในหัวข้อที่ยังคงค้างคาอยู่บนโต๊ะ
Neutrality ที่ผู้นำสูงสุดของรัสเซียกล่าวถึงนั้น คือ สถานะความเป็นกลางทางกฎหมาย อันบ่งชี้ว่า ประเทศนั้นๆจะไม่เข้าไปมีส่วนร่วมกับสงครามใดๆของประเทศอื่นๆ ในอนาคต ส่วน “การกำจัดลัทธินาซี” เป็นการเปรียบเปรยถึงประเด็นการสังหารคนเชื้อชาติรัสเซียที่อยู่ในยูเครน อันอาจจะตีความได้ว่า ทางรัสเซียสามารถลดข้อตกลงของการไม่มีกองทัพ มาเป็นการยืนยันความเป็นกลางของยูเครน ที่จะไม่มีส่วนร่วมอันใดต่อข้อพิพาท หรือการสงครามใดๆ อันอาจเกิดขึ้นนับจากนี้ เพื่อรักษาความปลอดภัยให้แก่ชาวรัสเซียในยูเครน และแสดงความชัดเจนของยูเครนเอง ต่อความกังวลจากรัสเซียในกรณีการเป็นส่วนหนึ่งขององค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ เพื่อเปิดพื้นที่ให้กองกำลังทหารจากNATO มาประจำการในประเทศ ซึ่งจะเป็นการกดดันรัสเซียอย่างหนักเพราะเสมือนถูกล้อมด้วยกองทัพของกลุ่มประเทศขั้วตรงข้ามทางการเมืองระดับโลก
แล้วทั้งหมดก็มาจบลงที่ “การรักษาพื้นที่ความมั่นคง” อันเป็นสาเหตุตั้งต้นในการเริ่มสงครามของปูตินถึงตรงนี้ ทางยูเครนยังไม่มีทีท่าต่อข้อต่อรองที่ลดลงดังกล่าวนี้ และสถานการณ์ความมั่นคงทางพื้นที่ของรัสเซียก็อาจเข้าสู่ความกังวลกันอีกครั้ง เมื่อประเทศที่มีพรมแดนติดกับรัสเซีย และมีสถานะความเป็นกลางต่อความขัดแย้งของโลกหรือ Neutrality อย่าง “ประเทศสวีเดน”และ “ประเทศฟินแลนด์” กำลังตัดสินใจเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งขององค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ ภายหลังส่งทหารเข้าร่วมซ้อมรบกับทางกลุ่ม NATO เมื่อกลางเดือนมีนาคม (2022) ที่ผ่านมา
แม้ว่า ทางรัสเซียจะออกมาขู่ทางสวีเดน และฟินแลนด์ ว่าอาจเจอกับปฏิบัติการแบบเดียวกับที่ยูเครน ถ้าสร้างความไม่มั่นคงทางพื้นที่ให้เกิดแก่รัสเซีย แต่ประสบการณ์ที่ทั้งสองประเทศได้รับ จากการบุกยูเครนของรัสเซีย ก็เป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้ทั้งสองประเทศนั้น ต้องหันหน้าเข้าหาพันธมิตร NATOเพื่อหวังอาศัยความคุ้มครองตามมาตรา 5 ที่ทุกประเทศพันธมิตรกลุ่ม NATO ต้องเข้าปกป้องประเทศสมาชิก เมื่อถูกประเทศอื่นใดเข้ารุกราน เพราะนั่นจะเป็นการรับประกันความปลอดภัย ในกรณีที่ประธานาธิบดีปูติน และรัสเซียจะก้าวเดินมากไปกว่าการรักษาพื้นที่ทางความมั่นคงของตัวเอง
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี