วันอังคารที่ 7 มิถุนายน 2565 หลังจากไปเยี่ยม รพ.พระนครศรีอยุธยา แล้ว ผมได้ขอไปเยี่ยม รพ.สต.(โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลปากกราน จ.พระนครศรีอยุธยา อีกด้วย ทั้งนี้เพราะผมเป็นที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา และเคยเป็นที่ปรึกษาของคณะอนุกรรมาธิการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (UHC–Universal Health Coverage) และที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการสาธารณสุขปฐมภูมิ หรือ Primary Health Care ของวุฒิสภา ซึ่งทั้ง 2 คณะอนุกรรมาธิการได้ทำภารกิจครบวาระไปแล้ว (แต่ความจริง 2 อนุกรรมาธิการนี้ควรทำไปอย่างต่อเนื่อง เพราะงานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และระบบสาธารณสุขปฐมภูมิยังต้องทำต่อไปอย่างต่อเนื่อง ไม่มีวันสิ้นสุด)
สหประชาชาติ องค์การอนามัยโลก ต่างก็ตั้งเป้าหมายในปี ค.ศ.2015 ไว้ว่าจะมีการพัฒนาที่ยั่งยืนที่จะต้องบรรลุให้เสร็จสิ้นภายใน 2030 หรืออีก 8 ปีข้างหน้า นั่นก็คือ Sustainable Development Goals หรือเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่มีอยู่ 17 ข้อ UHC เป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมาย SDG คือเป็น SDG ที่ 3.8 คือ บรรลุการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ารวมถึงการป้องกันความเสี่ยงของการเงิน การเข้าถึงการบริการสาธารณสุขจำเป็นที่มีคุณภาพ การเข้าถึงยาและวัคซีนจำเป็นที่ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ และมีราคาที่สามารถซื้อได้ เรื่องเงินมีความสำคัญมาก เพราะทั่วโลกในแต่ละปีมีประชากร 100 ล้านคน ที่จนลงเพราะต้องควักกระเป๋าตนเองสำหรับการดูแลสุขภาพ
ทั้ง UN, WHO และกาชาดสากล ต่างก็เห็นพ้องต้องกันว่าระบบสาธารณสุขปฐมภูมิ ซึ่งประเทศไทยมี รพ.สต. เป็นส่วนสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เป็นหัวใจของการที่จะบรรลุไปถึงความสำเร็จของการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในปี พ.ศ.2573
คณะอนุกรรมาธิการศึกษาและติดตามระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิที่มีต่อประชาชน ภายใต้การนำของท่านประธาน พล.ท.อำพน ชูประทุม จึงได้หาข้อมูลทั้งหมดรวมทั้งออกไปเยี่ยม รพ.สต. มาทั่วประเทศมากที่สุดที่จะทำได้ เพื่อทราบความก้าวหน้าของการพัฒนาระบบสาธารณสุขปฐมภูมิ
ใน พ.ร.บ.ระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ.2562 ได้กำหนดไว้ว่าในปี พ.ศ.2573 หรืออีก 8 ปีข้างหน้าจะมี รพ.สต. 6,500 แห่ง (ปัจจุบันนี้มี 9,000 กว่าแห่ง แต่ใหญ่บ้างเล็กบ้าง คงจะเอารวมกันให้ใหญ่เพียงพอ) แต่ละ รพ.สต.จะดูแลประชากรประมาณ 10,000 คนโดย 6,500 รพ.สต. จะดูแลประชากรทั้งประเทศประมาณ 65 ล้านคนแต่ละ รพ.สต.จะมีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว พยาบาลนักวิชาการสาธารณสุข ดูแล ฯลฯ
ปัญหาที่ผมมอง(เอง) คือ การที่จะต้องมีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวอย่างน้อย รพ.สต.แห่งละ 1 คน นั่นก็หมายความว่า ประเทศไทยต้องมีแพทย์ทางนี้อย่างน้อย 6,500 คน ภายในปี 2573 แต่ รพ.สต.มีแพทย์ 1 คน จะพอไหม แพทย์จะได้หยุดพักเมื่อไหร่จะไปประชุมวิชาการได้ไหม รวมทั้งจะไปหาหมอใคร ที่ไหน ที่จะยินดีไปอยู่ที่ รพ.สต. ซึ่งก็คืออยู่ในตำบลนั่นเอง อย่าว่าแต่ตำบลเลย อำเภอยังหาหมอไปอยู่ได้น้อยมาก แต่อย่างไรก็ตามปัจจุบันนี้สถานการณ์ดีขึ้นมากผมสอนแพทย์ประจำบ้าน ภาควิชาอายุรศาสตร์ ปีที่ 2 มา 51 ปี เดิมพบว่า แพทย์ที่มาเรียนกับผม มีทั้งฟรี train หรือมีต้นสังกัดส่งมาเรียนๆ แล้วต้องกลับไปอยู่ที่นั่น ส่วนฟรี train จบแล้วไปไหนก็ได้ ในอดีตแพทย์ที่เอาทุนหรือต้นสังกัดมาเรียน มักเอาทุนจาก รพ.ใหญ่ๆ มาเรียน เช่น จาก รพ.ศูนย์ รพ.ทั่วไป (จังหวัด) แต่ปัจจุบันทุกรุ่น(แพทย์ประจำบ้านปี 2 ที่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ จะหมุนเวียนผ่านหน่วย GI 4 สัปดาห์) มักมีแพทย์ที่เอาทุนมาจาก รพ.อำเภอบ่อยๆ แล้ว เช่น ท่ามะขาม บางพลี กระทุ่มแบน ฯลฯ ซึ่งเป็นนิมิตหมายที่ดี แสดงว่าความเจริญกำลังไปสู่ชนบทมากยิ่งขึ้น
ที่ รพ.สต. ส่วนใหญ่ยังไม่มีแพทย์ประจำ แต่มีแพทย์จาก รพ.ทั่วไป หรือ รพ.ชุมชน มาออกตรวจผู้ป่วยนอก เป็นครั้งคราว เช่นที่ รพ.สต.ปากกราน มีแพทย์มาตรวจเดือนละครั้ง!?มีเจ้าหน้าที่ประจำเพียง 4 ท่าน โดยเป็นพยาบาลวิชาชีพชำนาญการ 2 ท่าน เป็นนักวิชาการสาธารณสุขปฏิบัติการ 1 ท่าน เป็นนักวิชาการสาธารณสุขอีก 1 ท่าน
ผมโชคดีที่ได้มีโอกาสไปเยี่ยม รพ.สต.ปากกราน และได้รับการต้อนรับอย่างดีเยี่ยม อบอุ่น จากท่านสาธารณสุขอำเภอ คุณมานพ วัฒนพันธ์ ท่าน ผอ.รพ.สต. คุณประเดิมพงศ์ ชูเชื้อ และยังมี อสม.อีกถึง 68 ท่านมาให้การต้อนรับผมเรียนท่าน ผอ.รพ.พระนครศรีอยุธยา ว่าขอมาเยี่ยมเป็นการภายใน ส่วนตัว ไม่มีใครนอกจากผม น้องๆ ยังกรุณามาต้อนรับผมอย่างอบอุ่น ต้องขอขอบคุณและขออภัยทุกๆ คนไว้ ณ ที่นี้ด้วย
นพ.พินิจ กุลละวณิชย์
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี