ข้อไหล่ติด คือภาวะที่ผู้ป่วยไม่สามารถเคลื่อนไหวข้อไหล่ได้เต็มพิสัยร่วมกับมีอาการปวดไหล่ ภาวะนี้สามารถพบได้ประมาณ 5% ของประชากรทั่วไป ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่เชื่อว่าเกิดจากกลไกการอักเสบและมีการสร้างพังผืดบริเวณเยื่อหุ้มข้อไหล่มากขึ้น โดยมักเกิดกับไหล่ข้างที่ไม่ถนัดแต่ก็สามารถเป็น2 ข้างพร้อมกันได้ ผู้หญิงมีโอกาสเป็นโรคนี้มากกว่าผู้ชายถึง 4 เท่า ช่วงอายุที่พบได้บ่อยคือ 40-60 ปี นอกจากนี้ผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคต่อมไทรอยด์ และผู้ป่วยที่มีการบาดเจ็บของข้อไหล่มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะไหล่ติดมากกว่าคนทั่วไปเมื่อเกิดภาวะนี้จะส่งผลกระทบต่อการทำกิจวัตรประจำวัน เช่น ใส่ถอดเสื้อผ้า ขับรถ และเอื้อมแขนลำบาก
ภาวะไหล่ติดแบ่งเป็น 3 ระยะ
ระยะที่ 1 ระยะปวด ผู้ป่วยจะมีอาการเด่นคือปวดไหล่ อาการจะเป็นค่อยๆ เป็นมากขึ้นเรื่อยๆ มักมีอาการปวดมากในช่วงกลางคืนตอนนอนทับแขนข้างนั้น หรือช่วงที่ขยับข้อไหล่
ระยะที่ 2 ระยะข้อติด ผู้ป่วยจะเริ่มมีข้อไหล่ติด ขยับได้ไม่สุด อาการไหล่ติดจะเกิดขึ้นในทุกทิศทางทั้งการกางแขนไปด้านหน้า-ด้านข้างและเอามือไขว้หลัง
ระยะที่ 3 ระยะฟื้นตัว อาการปวดไหล่จะเริ่มหายไป และสามารถเคลื่อนไหวข้อไหล่ได้มากขึ้นเรื่อยๆ
โดยปกติแล้วภาวะไหล่ติดมักหายเองได้ภายใน 1-3 ปี ดังนั้นเป้าหมายในการรักษา คือเพื่อประคับประคองอาการ ช่วยลดปวดและเพิ่มพิสัยข้อไหล่ให้มากขึ้น
ท่าบริหารแบบใช้น้ำหนักถ่วงที่ปลายแขน (ที่มา: https://w1.med.cmu.ac.th/rehab/images/Study_guide/08_1MSKExercise_JR.pdf)
การรักษาภาวะไหล่ติดมีหลายวิธี สามารถรักษาแบบผสมผสานกันได้
1.การบริหารข้อไหล่ เป็นการรักษาที่มีความสำคัญที่สุด เนื่องจากช่วยให้ผู้ป่วยมีพิสัยข้อไหล่เพิ่มขึ้น หากผู้ป่วยมีอาการปวดไหล่มาก ท่าบริหารที่เหมาะสมคือท่าบริหารแบบใช้น้ำหนักถ่วงที่ปลายแขน วิธีการออกกำลังกาย ก้มตัวไปข้างหน้า มือข้างที่ปวด จับลูกตุ้มหรือขวดน้ำมืออีกข้างจับโต๊ะไว้เพื่อช่วยถ่ายน้ำหนัก ให้ผู้ป่วยโยกตัวไปมา หน้า-หลัง ซ้าย-ขวา หมุนทวนเข็มนาฬิกาและตามเข็มนาฬิกา เพื่อเหวี่ยงให้ข้อไหล่มีการเคลื่อนไหว ท่านี้เป็นท่าออกกำลังกายที่เหมาะสมกับผู้ป่วยข้อไหล่ติดระยะแรกหรือมีอาการปวดไหล่มาก
เมื่ออาการปวดลดลง ผู้ป่วยสามารถบริหารข้อไหล่ได้มากขึ้นดังนี้
l ท่าไต่กำแพง ให้ผู้ป่วยหันหน้า หรือ หันข้างเข้าหากำแพง ค่อยๆ ไต่มือขึ้นไปตามกำแพงจนสุดพิสัยและตึงบริเวณข้อไหล่ ค้างไว้15-30 วินาที ทำวันละ2 รอบ รอบละ 10-20 ครั้งหากพิสัยข้อไหล่เพิ่มขึ้นให้ขยับตัวชิดกำแพงมากขึ้น
l ท่าไขว้หลังให้ผู้ป่วยใช้มือจับปลายผ้าไว้ด้านหลัง โดยมือข้างที่ไหล่ติดอยู่ด้านล่างใช้มือข้างปกติดึงผ้าขึ้นเรื่อยๆ จนรู้สึกตึงไหล่ข้างที่ติด ค้างไว้ 15-30 วินาที ทำวันละ 2 รอบรอบละ 10-20 ครั้ง
ท่าไต่กำแพง (ที่มา: https://w1.med.cmu.ac.th/rehab/images/Studyguide/08_1MSKExercise_JR.pdf)
l ท่าดึงรอก ท่านี้ต้องใช้รอกดึงในการฝึก ใช้มือทั้ง 2 ข้างจับรอกในท่าหงายฝ่ามือ ใช้มือข้างปกติดึงเชือกลงจนแขนอีกข้างถูกยกในระดับที่ข้อไหล่รู้สึกตึง ค้างไว้ 15-30 วินาที ทำวันละ 2 รอบ รอบละ 10-20 ครั้ง
l ท่าหมุนวงล้อ ท่านี้ต้องใช้วงล้อในการฝึกผู้ป่วยหันหน้าเข้าหรือหันข้างเข้าหาวงล้อ ใช้มือข้างที่ไหล่ติดจับวงล้อและค่อยๆ หมุนช้าๆ
2.ยาแก้ปวด สามารถช่วยลดอาการปวดไหล่ได้ มีทั้งยาแก้ปวดชนิดกินและฉีด เช่น ยาพาราเซตามอลยาลดปวดลดอักเสบแบบไม่ใช่สเตียรอยด์ อย่างไรก็ตามไม่แนะนำให้ซื้อยากินเอง เนื่องจากยาบางชนิดมีผลข้างเคียงที่อันตราย ควรใช้ยาภายใต้คำแนะนำของแพทย์
3.ยาสเตียรอยด์ ผลจากงานวิจัยที่ผ่านมาพบว่ายาสเตียรอยด์ชนิดกินและฉีดสามารถช่วยลดอาการปวด ลดการอักเสบ และทำให้หายได้เร็วขึ้น การใช้ยาสเตียรอยด์ต้องอยู่ภายใต้การพิจารณาของแพทย์เฉพาะทางเนื่องจากมีผลข้างเคียงมาก
ท่าไขว้หลัง (ที่มา: https://w1.med.cmu.ac.th/rehab/images/Study_guide/08_1MSKExercise_JR.pdf)
4.การรักษาด้วยเครื่องมือทางกายภาพบำบัด เช่น การทำอัลตราซาวด์ ประคบอุ่นกระตุ้นไฟฟ้า สามารถช่วยลดอาการปวดไหล่ได้
5.การรักษาด้วยการผ่าตัด จะพิจารณารักษาด้วยวิธีนี้ก็ต่อเมื่ออาการไหล่ติดไม่ดีขึ้น ถึงแม้จะรักษาด้วยการประคับประคองอาการมาแล้วระยะหนึ่ง การผ่าตัดมีหลายวิธี เช่น การผ่าตัดส่องกล้องการผ่าตัดแบบเปิด การดมยาสลบและดัดข้อไหล่
สำหรับผู้ที่กำลังมีภาวะปวดไหล่และสงสัยว่าตนเองเป็นโรคนี้ แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เพื่อได้รับการตรวจวินิจฉัยและการรักษาอย่างเหมาะสม หากผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยว่ามีภาวะไหล่ติดแล้ว การบริหารไหล่อย่างต่อเนื่องเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เนื่องจากช่วยเพิ่มพิสัยของข้อไหล่ และสามารถกลับมาใช้งานข้อไหล่ได้เร็วขึ้น
ท่าดึงรอก (ที่มา: https://w1.med.cmu.ac.th/rehab/images/Study_guide/08_1MSKExercise_JR.pdf)
ท่าหมุนวงล้อ (ที่มา: https://w1.med.cmu.ac.th/rehab/images/Study_guide/08_1MSKExercise_JR.pdf)
บทความโดย ผศ.พญ.ชนนิษฏ์ ลิ่มสกุล
สาขาวิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ราชวิทยาลัยแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูแห่งประเทศไทย
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี