> ทำความรู้จักกับรูม่านตา
รูม่านตา (pupil) เป็นรูที่อยู่ตรงกลางของม่านตา มีหน้าที่ควบคุมปริมาณแสงเข้าสู่ดวงตาของเรา เปรียบเทียบเสมือนรูรับแสงของกล้องถ่ายรูป เมื่อรูรับแสงกว้างก็รับแสงเข้ากล้องได้ดีขึ้น ขนาดรูม่านตาอยู่ที่ 3-5 มม. สองข้างมักมีขนาดเท่ากันหรือต่างกันไม่เกิน 1 มม.หากลองส่องไฟฉายไปที่ดวงตา มองผ่านกระจกตาเข้าไป จะพบรูกลมๆ ตรงกลางของม่านตาสีน้ำตาลนั่นเอง
> ม่านตาคืออะไร
ม่านตา (iris) อยู่ในลูกตา หลังต่อกระจกตา วางตัวหน้าต่อเลนส์แก้วตา มีสีแตกต่างกันในแต่ละเชื้อชาติ เช่น ชาวเอเชียสีเข้ม อย่างคนไทยมักมีน้ำตาล ส่วนคนในฝั่งยุโรปสีอ่อน โทนฟ้าหรือเขียวอ่อน โดยม่านตามีรูม่านตาอยู่ตรงกลาง
> การหด-ขยายของรูม่านตา
รูม่านตาหดและขยายโดยกล้ามเนื้อและถูกควบคุมอีกทีหนึ่งด้วยระบบประสาท เรื่องกล้ามเนื้อนั้น ที่ม่านตามีกล้ามเนื้อ 2 กลุ่ม กลุ่มแรกวางตัวแนวรัศมี ตั้งฉากกับรูม่านตา ถ้ากล้ามเนื้อกลุ่มนี้หดตัวแล้วรูม่านตาจะขยายขนาดขึ้น กล้ามเนื้อนี้ถูกควบคุมโดยระบบประสาทอัตโนมัติซิมพาเทติก (symphatetic) ซึ่งเป็นระบบประสาทที่ทำงานเชิงตื่นตัว เตรียมพร้อมต่อภาวะฉุกเฉินต่างๆ โดยจำง่ายๆ ว่า “ตื่นเต้น ตาโต” กล่าวคือ เมื่อรู้สึกตื่นเต้นหรืออยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉิน จะกระตุ้นระบบประสาทซิมพาเทติก ทำให้รูม่านตาขยาย
กล้ามเนื้ออีกกลุ่มหนึ่งวางตัวขนานกับเส้นรอบวงขอบรูม่านตา พอหดตัวจะทำให้รูม่านตาหดเล็กลง ถูกควบคุมโดยระบบประสาทอัตโนมัติพาราซิมพาเทติก (parasympathetic) ซึ่งทำงานตรงข้ามกับซิมพาเทติก เป็นเชิงผ่อนคลาย ควบคุมการสะสมพลังงาน ควบคุมการทำงานของอวัยวะภายในและหลอดเลือด
รูม่านตานั้นตอบสนองต่อแสง พอเราส่องไฟไปที่ดวงตา จะมีการตอบสนองโดยรูม่านตาหดเล็กลง ขณะเดียวกัน มีการส่งสัญญาณไปสมองฝั่งตรงข้ามด้วย ดังนั้น เมื่อส่องไฟไปข้างหนึ่ง รูม่านตาทั้งสองข้างจะหดเล็กลง
จะเห็นได้ว่ารูม่านตามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับระบบประสาทอัตโนมัติ 2 ระบบนี้ ถ้ามีรูม่านตาขนาดผิดปกติ อาจเป็นอาการแสดงนำของระบบประสาทผิดปกติได้
> รูม่านตามีขนาดผิดปกติ เกิดจากอะไรได้บ้าง
เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น กล้ามเนื้อม่านตาที่มีอยู่ 2 กลุ่มระบบประสาทอัตโนมัติซิมพาเทติกและพาราซิมพาเทติกที่ควบคุมกล้ามเนื้อม่านตา รวมถึงการได้รับยาหรือสารที่มีผลต่อระบบประสาท โดยแบ่งความผิดปกติเป็น 2 กลุ่มหลัก ดังนี้
1. รูม่านตาเล็กผิดปกติ
1.1 ลูกตาหรือม่านตาอักเสบ
การอักเสบทำให้กล้ามเนื้อม่านตาหดเกร็ง รูม่านตาจึงเล็กลง หากอักเสบเรื้อรังจะเกิดพังผืดยึดกับรูม่านตาและเลนส์ตาซึ่งเป็น อีกเหตุให้รูม่านตาเล็กลง มีอาการตาแดง ปวดตา ตามัว การตรวจ เช่น ใช้กล้องทางจักษุแพทย์ อาจตรวจเลือด ส่ง x-ray การรักษาขึ้นกับสาเหตุ เช่น ให้ยาฆ่าเชื้อ ยาแก้อักเสบ
1.2 การได้รับยาหรือสาร
เช่น ยาพิโลคาปีนที่ใช้รักษาต้อหิน สารเสพติดอย่างฝิ่น กัญชา เฮโรอีน ยาแก้ปวดเกินขนาด ยาฆ่าแมลงในกลุ่ม organophosphate เป็นต้น
1.3 Horner Syndrome
เกิดจากระบบประสาทซิมพาเทติกผิดปกติ ทำให้รูม่านตาข้างนั้นมีขนาดเล็กลง และเหงื่อในข้างนั้นออกน้อยลง ทำให้พบว่าผิวหนังข้างหนึ่งมีเหงื่อออกได้ แต่ผิวอีกข้างหนึ่งแห้งไม่มีเหงื่อ นอกจากนี้ ตาข้างที่ผิดปกติมีหนังตาบนตก หนังตาล่างยกขึ้น ทำให้ตาดูเล็กลงอีกด้วยมีวิธีจำอาการของโรคนี้ง่ายๆ คือ “เล็ก ตก แห้ง” เล็ก คือ รูม่านตาเล็กส่วนตก คือ หนังตาตก โดยตกเพียงเล็กน้อย ไม่มากจนตาปิด และแห้ง คือ หน้าฝั่งที่ผิดปกติแห้ง ไม่มีเหงื่อ
อาการอื่นขึ้นกับสาเหตุของแต่ละราย เช่น รอยโรคเกิดที่สมองจึงมีอาการของสมองขาดเลือดร่วม เช่น เดินเซ คลื่นไส้อาเจียน กลืนลำบาก ชาหรืออ่อนแรงครึ่งซีก สาเหตุอื่น เช่น มะเร็งบริเวณคอกดเบียดเส้นประสาท ทารกบาดเจ็บจากการคลอดยาก มีวิธีรักษาขึ้นกับแต่ละสาเหตุ
> หนึ่งในชนิดของ Horner syndrome เป็นภาวะเร่งด่วน
สาเหตุเกิดจากเส้นเลือดสมองอุดตัน ทำให้มีอาการเดินเซคลื่นไส้อาเจียน กลืนลำบาก อ่อนแรงชาครึ่งซีก ผู้ป่วยต้องไปโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด การรักษาจะให้ผลดีเมื่อแพทย์ให้ยาละลายลิ่มเลือดภายใน 4.5 ชม. หรือแพทย์ได้ผ่าตัดเอาลิ่มเลือดอุดตันออกภายใน 6 ชั่วโมง โดยนับเวลาจากเมื่อเริ่มเกิดอาการ
2. รูม่านตาใหญ่ผิดปกติ
2.1 กล้ามเนื้อม่านตาผิดปกติ เช่น เกิดอุบัติเหตุที่ดวงตา ถูกผ่าตัดมาก่อน กลุ่มนี้มักมีประวัติชัดเจน
2.2 การได้รับยาหรือสาร เช่น ยาหยอดขยายม่านตาสารกระตุ้น
2.3 ต้อหินมุมปิดเฉียบพลัน ทำให้ความดันตาสูงเฉียบพลันส่งผลให้กล้ามเนื้อม่านตาขาดเลือด รูม่านตาจึงมีขนาดใหญ่ค้างไม่ตอบสนองต่อแสง มีอาการปวดตา ปวดศีรษะซีกเดียวกัน ตาแดง ตามัวเป็นภาวะเร่งด่วน ให้รีบไปพบจักษุแพทย์
2.4 โรคเส้นประสาทสมองคู่ที่ 3 ผิดปกติ
เบื้องต้นต้องทราบพื้นฐานความรู้ก่อนว่า เส้นประสาทพาราซิมพาเทติกทอดอยู่ด้านนอกคู่กับเส้นประสาทสมองคู่ที่ 3 ดังนั้น หากมีความผิดปกติของเส้นประสาทสมองคู่ที่ 3 จึงอาจพบรูม่านตาผิดปกติร่วมด้วยได้ เกิดความผิดปกติได้จากหลายสาเหตุ ขึ้นกับอายุและโรคประจำตัว เช่น เนื้องอกในสมองกดทับ เส้นเลือดโป่งพองกดทับ ขาดเลือดติดเชื้อ
อาการที่พบได้ คือ ตาข้างที่ผิดปกติมีหนังตาตก ซึ่งมักเป็นมาก ดวงตาเหล่ออกด้านนอกไปทางด้านล่าง และไม่สามารถกลอกตาเข้า
ในบนล่างได้ อีกทั้งพบรูม่านตาข้างนั้นขยายใหญ่ได้
สาเหตุที่พบบ่อย คือเส้นประสาทสมองคู่ที่ 3 ขาดเลือด พบมากในผู้สูงอายุ มีโรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง นอนกรนและหยุดหายใจขณะหลับ รักษาโดยควบคุมโรคประจำตัวดังกล่าวให้ดี ทำให้อาการทางตาดีขึ้นได้ แต่หากมีอาการทางตานานเกิน 6 เดือนถึง 1 ปี จักษุแพทย์สามารถผ่าตัดแก้ไขยกหนังตาขึ้น และผ่าตัดกล้ามเนื้อตาแก้ไขตาเหล่ได้
อีกสาเหตุที่เป็นภาวะต้องรีบรักษาโดยเร็ว คือเส้นเลือดโป่งพองกดทับเส้นประสาท อาจมีภาวะแทรกซ้อนเส้นเลือดแตกและเสียชีวิตได้ ภายใน 48-72 ชั่วโมง ดังนั้นหากมีอาการของโรคเส้นประสาทสมองคู่ที่ 3 ผิดปกติ ร่วมกับรูม่านตาขยาย ไม่ตอบสนองต่อแสง แพทย์ควรตรวจวินิจฉัยทางรังสีเพิ่มเติม เช่น ตรวจ CTA MRA หากพบเส้นเลือดโป่งพองในสมองจะส่งต่อให้แพทย์ศัลยกรรมประสาท อุดเส้นเลือดให้ทันท่วงที ก่อนจะเกิดภาวะแทรกซ้อน
Q&A คำถามจากผู้ชม
Q เราตรวจตาด้วยตัวเองได้ไหม ทำอย่างไร
A ตรวจเองได้เบื้องต้น โดยใช้ไฟฉายส่องดวงตา แนะนำให้ทำท่าผีหลอก คือฉายไฟจากด้านล่างหรือข้าง ไม่ส่องตรงๆ รูม่านตาที่ปกติมีรูปร่างกลม ขอบตรง ขนาด 3-5 มม. ขึ้นกับแสงในสิ่งแวดล้อมนั้น หรืออาการตื่นเต้นทำให้รูม่านตาใหญ่ขึ้นได้ รูม่านตาสองข้างมักใกล้เคียงกัน ขนาดต่างกันไม่เกิน 1 มม.
Q ยาหยอดหดม่านตากับขยายม่านตาออกฤทธิ์อย่างไร
A ยาหดม่านตา ออกฤทธิ์เสริมระบบประสาทอัตโนมัติพาราซิมพาเทติก หรือต้านระบบซิมพาเทติก ทำให้รูม่านตาหด
ในทางตรงข้าม ยาขยายม่านตา ออกฤทธิ์ต้านระบบพาราซิมพาเทติก หรือเสริมระบบซิมพาเทติก ทำให้รูม่านตาขยาย
Q ทำไมบางคนหยอดตาแล้วขยายยาก
A มีหลายกรณี บางคนมีโรคบางอย่างทำให้กล้ามเนื้อม่านตาฝ่อ
เช่น โปรตีนสะสมในม่านตา หรือเคยมีการอักเสบในลูกตามาก่อน ทำให้มีพังผืดยึดระหว่างรูม่านตากับเลนส์ตา อีกกลุ่มที่พบบ่อยคือมีโรคเบาหวานและมีอายุมากขึ้น ทำให้ตอบสนองต่อยาลดลง
Q คนไข้ไปตรวจตาที่โรงพยาบาลถี่ ใช้ยาหยอดตาบ่อย จะอันตรายไหม
A เนื่องจากยาหยอดขยายม่านตา ทำให้รูม่านตาเปิดรับแสงมากขึ้น จึงมีผลข้างเคียงทำให้ตาสู้แสงไม่ได้ มองไม่ชัด อย่างไรก็ตาม ยาหยอดที่ใช้เพื่อตรวจวินิจฉัยตาคนไข้ในโรงพยาบาลนั้นออกฤทธิ์สั้น จะหมดฤทธิ์ภายใน 4-6 ชม. ภาวะแทรกซ้อนที่เฝ้าระวัง คือ ต้อหินมุมปิดเฉียบพลัน ซึ่งในคนทั่วไปไม่ได้น่ากังวลแต่อย่างใด ภาวะนี้เสี่ยงในคนที่มีภาวะมุมตาแคบ ซึ่งในคนกลุ่มเสี่ยงนี้เมื่อจักษุแพทย์ตรวจพบจะแนะนำให้ทำเลเซอร์ที่ม่านตาเพื่อป้องกัน
Q อายุมากขึ้นทำให้รูม่านตาเล็กลง รับแสงได้ไม่ดี เป็นเหตุให้สายตายาวหรือไม่
A ไม่ถูกต้อง คนที่อายุที่มากขึ้น จะมีสายตายาวและมีรูม่านตาเล็กลงได้ แต่สายตายาวไม่ได้เกิดจากรูม่านตาที่เล็กลง สายตายาวเป็นปัญหาของเลนส์ตาและเส้นใยยึดเลนส์ตา ทำให้เลนส์ป่องออกไม่ดีขณะมองใกล้ แก้ได้โดยใส่แว่นสายตายาว
Q แว่นกรอง UV ที่เปลี่ยนสีเข้มเมื่อออกแดด ทำให้รูม่านตาทำงานผิดปกติหรือไม่
A ไม่มีผล แว่นช่วยกรองแสง UV ลดความเข้มของแสงแดด แต่ดวงตาเรายังทำงานปกติ
Q แว่นกรองแสงสีฟ้าจากมือถือหรือจอคอมพิวเตอร์จำเป็นหรือไม่
A ไม่จำเป็น จอมือถือหรือคอมพิวเตอร์มีแสงสีฟ้าในปริมาณน้อยมาก ไม่ได้ทำให้เกิดอันตรายต่อดวงตา อย่างไรก็ตาม เพราะแสงสีฟ้า
มีความยาวคลื่นสั้น เกิดการกระเจิงของแสงได้มาก แว่นกรองแสงสีฟ้าจึงช่วยลดการกระเจิงของแสง ช่วยทำให้ภาพคมชัดดูสบายตาขึ้นได้
บรรยายโดย รศ.พญ.สุภรัตน์ จริยโกศล และ รศ.พญ.ลินดา หรรษาภิญโญ
จัดทำสื่อโดย นศพ.ณัฐพริศ โรจนวิไลกุล
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี