ฟังข่าวว่ามีคนฆ่าตัวตายมากขึ้น มีคนพยายามหาเหตุผลมาอธิบายหลากหลาย
เชื่อว่ามีคนคิดฆ่าตัวตายมากขึ้นทั้งคิดแว่บๆ แบบสั้นๆ หรือยาวๆ ทั้งๆ ที่รู้กันว่าธรรมชาติของมนุษย์ส่วนใหญ่รักตัวเอง อยากให้คนอื่นรัก อยากมีความสุข ไม่อยากมีทุกข์ ไม่รู้วิธีทำให้คนอื่นมารัก และไม่รู้วิธีทำให้ตัวเองมีความสุข เชื่อว่ามนุษย์ 80% เป็นอย่างที่ผมกล่าวถึง
แต่ทำไมคนถึงแว่บคิดถึงการฆ่าตัวตายหรือลงมือฆ่าตัวตาย
ผมเชื่อว่าสาเหตุคือ
1. ในทางพุทธศาสนาเชื่อว่าคนปกติมีนิวรณ์ 5 อยู่ในจิตใจ ได้แก่ 1.พอใจใฝ่กามคุณ 2.พยาบาท คิดร้าย 3.หดหู่ ซึมเศร้า 4.ฟุ้งซ่าน รำคาญใจ 5.ลังเลสงสัย
ซึ่งควรจะหาทางลด ละ ลงด้วยศีล สมาธิ ปัญญา
แต่คนไม่รู้กลับกระพือโหมให้นิวรณ์ติดเชื้อเหมือนไฟไหม้ป่าแห้งๆ ด้วยกลยุทธ์การโฆษณาให้ติดการบริโภคนิยม วัตถุนิยมแบบสุดโต่ง ทำให้คนหลงผิดคิดว่าคนเกิดมาเพื่อบริโภค เพื่อได้ในสิ่งที่อยากได้ และต้องไม่ได้ในสิ่งที่ไม่อยากได้ เกิดเทรนด์ Self Center เอาตัวเองเป็นใหญ่เป็นศูนย์กลาง มี ego มาก ไม่คำนึงถึง Reality Principle คิดแต่ Pleasure Principle ทำให้ขาดวุฒิภาวะ
เมื่อผิดหวังก็ขาดสติยึดเหนี่ยว ผิดหวังแรง ถ้าสมหวังก็ลิงโลดใจสุดโต่ง
2. อาการของนิวรณ์ 5 เหล่านี้มากขึ้นตามอิทธิพลของเทคนิคการสื่อสารรุ่นใหม่ ที่ส่งเสริมความสะดวกสบายในการสื่อสารและทำกิจกรรม ทำให้คนคิดว่าเขา “ยิ่งใหญ่” มากขึ้น สามารถมีเพื่อนได้มาก มีสังคมหลากหลาย มีการกระจายข่าวสารรวดเร็ว คนในสังคมมีความสัมพันธ์แบบตื้นๆ ขาดความลึกซึ้ง เวลามีปัญหาจะหาคนมาปรึกษาหรือเห็นใจจริงๆ ไม่ได้ นอกจากมีคนรุมดู รุมวิจารณ์ แล้วก็จางหายไปจากจอสมาร์ทโฟน อาการของนิวรณ์ 5 ก็รุนแรงขึ้น ทั้งที่แสดงออกชัดขึ้นหรือเก็บกดไว้ภายใน
3. พ่อแม่ก็เลี้ยงลูกให้ลูกเป็นใหญ่ ส่งเสริม Self center ในตัวเด็ก กลัวลูกไม่รัก ไม่มีการลงโทษที่เหมาะสม หรือต่างทำงานหาเงินจนไม่มีเวลาอบรม สั่งสอน ลูกขาดภูมิต้านทาน เวลาผิดหวังหรือทุกข์บ้างจะแลดูเป็นเรื่องใหญ่โตตามปริมาณของ Ego และ Self Center ที่มากมายของเขา
4. สังคมสิ่งแวดล้อมขาดการแสดงออกของความรักมิตรภาพต่อกัน มีแต่ความก้าวร้าว ความเกลียดชัง ทั้งการพูดและการแสดงออก ซึ่งจะเข้าไปบ่มเพาะในจิตสำนึกของเยาวชน ทำให้มองโลกทางด้านลบและคิดว่านั่นคือความปกติ เมื่อมีปัญหาก็จะแสดงความก้าวร้าว ชิงชังรุนแรง ทั้งกับตนเองและผู้อื่น
5. ชีวิตที่อยู่กับสิ่งดังกล่าวทำให้ขาดความนับถือและภูมิใจตัวเองตามความเป็นจริง เพราะมองตัวเองขาดความสามารถ ไม่สามารถมีในสิ่งที่อยากมี เพราะมีความต้องการและการคาดหวังสูงมาก จึงมักผิดหวังในชีวิต ขาดความหวัง แม้ภายนอกจะแลดูเป็นคนเก่ง + ทันสมัยก็ตาม
แต่เอาเข้าจริงๆ กลับทำอะไรไม่ได้ ไม่สำเร็จอย่างที่ควรจะเป็น ทั้งด้านการงานและการสร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ ขาดความอดทน ชินต่อการเป็นผู้รับและพอใจความสนุกสนาน (Pleasure) แบบในตอนเป็นเด็กหรือช่วงแรกๆ ของชีวิต เมื่อโตขึ้นกลับยอมรับความจริง (Reality)ไม่ได้ ว่า...ทุกคนต้องมีทุกข์ ต้องไม่ได้ในสิ่งที่อยากได้บ้าง และต้องดำเนินชีวิตต่อไปให้ได้...
6. มีตัวอย่างการฆ่าตัวตายแบบทางตรงและทางอ้อมในรูปแบบต่างๆ ที่สื่อมวลชนเสนอข่าวอย่างเมามัน เท่ากับช่วยกระตุ้นแรงขับของความรุนแรงและก้าวร้าวให้คนที่กำลังอยากตายลงมือทำตามได้ (Identity with aggressor)
7. มีคำว่า “โรคซึมเศร้า” ขึ้นมา พร้อมทั้งมีการอธิบายถึงสาเหตุจากสารเคมีในสมอง มีการรักษาด้วยยาต้านโรคซึมเศร้า ซึ่งกินแล้วอาการดีขึ้นก็มี ที่ไม่ดีก็มาก (ไม่มียาชนิดใดที่กินแล้วมีความสุขได้หรอก) แต่ที่จริงโรคซึมเศร้ามีอยู่แล้วทุกคน (ตามนิวรณ์ที่มากขึ้น) ถ้าเข้าใจชีวิตมากขึ้น มีคนมาสะกิดต่อมปัญญาให้เกิด “วิชชา”ลดนิวรณ์ลงสักนิด ออกกำลังกายสักหน่อย อาการก็จะดีขึ้น เกิดความศรัทธาตัวเองตามความเป็นจริง ยอมรับการไม่ได้ในสิ่งที่อยากได้ และอยู่กับภาวะทุกข์ที่เกิดขึ้นได้ ก็ไม่ต้องกินยา และไม่ต้องเป็นโรคซึมเศร้า
แต่ถ้าทิ้งไว้นานขึ้น ปัจจัยดังกล่าวจะช่วยทำให้ความทุกข์ใจของคนมากขึ้นตามนิวรณ์ที่มีมากขึ้น จนถึงขั้นคิดแว่บอยากตายหรือลงมือฆ่าตัวตาย ซึ่งจะมีปริมาณมากขึ้นแน่ๆ
เพราะคนยุคนี้มีวัฒนธรรมตามกระแส (Pop culture) แบบที่กล่าวมาแล้ว โดยสาเหตุต่างๆ ดังกล่าวทำให้เกิดอวิชชามากขึ้นและลงมือฆ่าตัวตายมากขึ้น
การแก้ไขจึงต้องแก้ที่ต้นเหตุด้วยซึ่งสำคัญมากกว่าปลายเหตุ หวังว่าการฆ่าตัวตายที่มากขึ้นในยุคนี้จะเป็นแค่วัฒนธรรมตามกระแส และถ้าแก้ที่ต้นเหตุได้คนจะรักชีวิตตัวเองอย่างมีสติ-ปัญญา แม้การฆ่าตัวตายยังคงมีอยู่แต่ก็ไม่มากมาย และไม่เป็นแบบ Pop culture
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี