#การแพ้ยาคืออะไร
ตอบ แพ้ยา เป็นอาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้นเนื่องจากยาไปการกระตุ้นการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกัน คาดการณ์ล่วงหน้าไม่ได้ว่าจะเกิดขึ้นกับผู้ใด
#ช่วยยกตัวอย่างการแพ้ยา
ตอบ การแพ้ยาอาจเกิดขึ้นอย่างรุนแรงและฉับพลัน เช่น ลมพิษขึ้น หน้าบวม ปากบวม ใจสั่น ความดันตก ช็อก และอาจเสียชีวิตได้ เช่น กรณีการแพ้ยาเพนนิซิลลิน แต่บางครั้งก็ใช้เวลานานกว่าจะแสดงอาการ เช่นหลายวันหลังใช้ยาในกลุ่มเอ็นเสดจึงเกิดปื้นดำบริเวณริมฝีปากและอวัยวะเพศ
#การแพ้ยาดูน่ากลัวมาก
ตอบ จริง การแพ้ยาเป็นอาการที่น่ากลัว เพราะไม่รู้ล่วงหน้าว่าจะเกิดกับผู้ใดหรือเกิดจากยาใด บ่อยครั้งที่มีอาการรุนแรงที่รักษาได้ยาก และอาจทำให้พิการหรือเสียชีวิตได้อย่างไรก็ตามการแพ้ยาที่มีอาการรุนแรงมีโอกาสเกิดต่ำมากๆ เช่น โอกาสเกิดการแพ้เพนนิซิลลินแบบรุนแรง (ลมพิษ หายใจลำบาก ความดันเลือดตก ช็อก) มีอยู่เพียง 0.02-0.04% หมายถึงใช้ยาไป 1 หมื่นครั้งจะพบการแพ้ยารุนแรงเพียง 2-4 ครั้ง
#จะป้องกันการแพ้ยาซ้ำได้อย่างไร
ตอบ ประชาชนต้องมีบัตรแพ้ยาประจำตัว ที่บันทึกว่าเคยแพ้ยาใดและมีอาการอย่างไร แจ้งผู้จ่ายยาเสมอว่าแพ้ยาใดผู้จ่ายยาถามผู้ป่วยเสมอว่าเคยแพ้ยาใดหรือไม่ สถานพยาบาลมีระบบบันทึกประวัติการแพ้ยาของผู้ป่วยในระบบให้เห็นได้ชัดเจน และจัดทำระบบแจ้งเตือนอัตโนมัติเมื่อมีการจ่ายยาที่ผู้ป่วยแพ้ เภสัชกรห้องยาตรวจคัดกรองไม่ให้มีการจ่ายยาที่ผู้ป่วยแพ้
#มีข้อควรปฏิบัติใดที่ช่วยลดความเสี่ยงจากการแพ้ยา
ตอบ ผู้ป่วยไม่ควรเรียกร้องขอฉีดยา เนื่องจากการฉีดยาเพิ่มความเสี่ยงต่อการแพ้ยา หลังการฉีดยาควรเฝ้าสังเกตอาการในสถานพยาบาลเป็นเวลาอย่างน้อย 30 นาที เพื่อให้แก้ไขได้ทันท่วงทีหากมีอาการแพ้ยาที่รุนแรงหลีกเลี่ยงการใช้ยาเกินจำเป็น เช่น การใช้ยาปฏิชีวนะอย่างพร่ำเพรื่อในโรคหวัด ไอ เจ็บคอ ท้องร่วง อาหารเป็นพิษ และบาดแผลทั่วไป ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษา ไม่ซื้อยาที่มี
ความเสี่ยงต่อการแพ้ยาได้ง่ายกว่ายาอื่นมาใช้อย่างพร่ำเพรื่อ เช่น ยาปฏิชีวนะ เอ็นเสด และยาคลายกล้ามเนื้อ ไม่ซื้อและไม่ใช้ “ยาชุด” เนื่องจากมักมียาปฏิชีวนะหรือเอ็นเสดเป็นส่วนประกอบ
#ถ้าเกิดการแพ้ยามีข้อควรปฏิบัติอย่างไร
ตอบ ถ้ามีอาการรุนแรงให้รีบกลับไปพบแพทย์โดยเร็ว ถ้าอาการค่อยเป็นค่อยไปและไม่รุนแรงให้โทรศัพท์ปรึกษาว่าควรหยุดยาหรือไม่ เมื่อได้รับยืนยันการแพ้ยาต้องไม่ใช้ยานั้น รวมทั้งยาอื่นในกลุ่มเดียวกันอีกต่อไป ขอให้สถานพยาบาลออกบัตรแพ้ยาเก็บติดตัวไว้ตลอดเวลาเพื่อแสดงแก่ผู้จ่ายยาทุกครั้งที่ต้องรับยา
#แพ้ยาไม่เหมือนกับผลข้างเคียงจากยาใช่ไหม
ตอบ ใช่ ผลข้างเคียงไม่ได้เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกัน แต่เป็นฤทธิ์ของยาในทางลบที่คาดการณ์ได้ล่วงหน้าว่าอาจจะเกิดขึ้นกับผู้ใช้ยาบางรายและอธิบายกลไกของการเกิดได้ในบางกรณีจะเกิดอาการไม่พึงประสงค์อื่นๆ ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกัน ไม่ได้เป็นฤทธิ์ของยา คาดการณ์ล่วงหน้าไม่ได้ และอธิบายกลไกการเกิดไม่ได้
#ขอทราบตัวอย่างของอาการไม่พึงประสงค์แบบอื่นๆ ที่ไม่จัดเป็นผลข้างเคียงหรือการแพ้ยา
ตอบ ตัวอย่างอาการไม่พึงประสงค์แบบอื่นๆ ที่ไม่ทราบกลไกการเกิดที่แน่ชัดและไม่ได้เกิดจากการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน เป็นอาการไม่พึงประสงค์ที่มีโอกาสพบได้น้อยมากๆ ตัวอย่างเช่น เอ็นร้อยหวายฉีกขาดจากการใช้ยาปฏิชีวนะในกลุ่มควิโนโลนส์ ความคิดอยากฆ่าตัวตายจากยาภูมิแพ้บางชนิด เช่น มอนเตลูคาสต์ ผมร่วงจากยากันชักบางชนิด เช่น วาลโพรเอท และประสาทตาอักเสบจากยาต้านแบคทีเรีย เช่น เมโทรไนดาโซล อาการเหล่านี้คาดการณ์ล่วงหน้าไม่ได้ เมื่อเกิดอาการต้องหยุดยาและให้การรักษาตามอาการ ป้องกันได้บางส่วนจากการใช้ยาเท่าที่จำเป็น
#โดยสรุป การใช้ยาทุกชนิดมีความเสี่ยงต่ออาการไม่พึงประสงค์ ซึ่งอาจเป็นผลข้างเคียง หรือการแพ้ยา ดังนั้นประชาชนจึงควรมีความรู้เกี่ยวกับยาที่ใช้ตามสมควรและต้องใช้ยาอย่างสมเหตุผลเสมอ กล่าวคือ ใช้เมื่อจำเป็น เปรียบเทียบประโยชน์กับอันตรายที่อาจเกิดขึ้น และใช้อย่างถูกต้องตามคำสั่งแพทย์ที่ระบุไว้ในฉลากยา หากมีอาการผิดปกติหลังใช้ยาควรปรึกษาแพทย์ผู้สั่งยา ไม่ควรหยุดยาด้วยตนเอง โปรดระลึกว่า “ยาคือมิตรเมื่อใช้อย่างสมเหตุผล แต่เป็นพิษเมื่อใช้ไม่ถูกต้อง”
ผศ.นพ.พิสนธิ์ จงตระกูลกรรมการแพทยสภา
ประธานคณะทำงานสร้างความเข้มแข็งประชาชนด้านการใช้ยาอย่างสมเหตุผล (สยส.)
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี