เมื่อสัปดาห์ก่อน เราได้คุยกันถึงวิธีตรวจคุณภาพน้ำและรู้จักสารเคมีที่ใช้ในสัตว์น้ำไปแล้ว วันนี้เรามาคุยกันถึงวิธีแยกลักษณะของปลาปกติและปลาป่วยว่ามีลักษณะแตกต่างที่สังเกตเห็นได้อย่างไร รวมถึงวิธีการปฐมพยาบาลกรณีมีปลาป่วย ซึ่งเป็นข้อมูลดีๆ จาก รศ.น.สพ.ดร.ชาญณรงค์ รอดคำ “ศูนย์ความเป็นเลิศด้านโรคติดเชื้อในปลา” (Center of Excellence in Fish infectious diseases, CEFID) คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกันครับ
วิธีการแยกลักษณะปลาแข็งแรงกับปลาที่เริ่มมีอาการป่วย ซึ่งมีสิ่งที่ต้องพิจารณาดังนี้
1.ลักษณะของลำตัวจากภายนอก
เราจะพบว่า ในปลาปกตินั้น จะมีลำตัวที่แข็งแรง มีกล้ามเนื้อขึ้นเต็ม ช่วงท้องต้องเต็ม ไม่แฟบบาง ครีบทุกครีบจะต้องกางตั้งได้รูป ใบครีบใส ไม่ขุ่นหรือมีการฉีก แหว่ง หรือขาดลุ่ย ในทางกลับกันเมื่อสังเกตปลาป่วย ก็จะเห็นว่ามีลำตัวที่ผอม (หรือบวมอย่างผิดปกติ) ท้องยุบ สันหลังแฟบแบน ครีบลู่หรือกางสลับลู่ ใบครีบอาจมีการฉีกแหว่งหรือกร่อน หรือมีลักษณะของการตกเลือด มีจ้ำเลือดที่ลำดัว ท้องบวมโตซึ่งอาจเป็นความผิดปกติที่บริเวณกระเพาะอาหารหรือถุงลมได้
2. ดวงตา
ปลาที่มีสุขภาพปกตินั้น จะต้องมีดวงตาที่ใส กลม ไม่ขุ่น กระจกตาต้องไม่โปน หรือล้นออกนอกเบ้า ในทางตรงกันข้าม ปลาที่มีอาการป่วยอาจจะพบว่ามีดวงตาที่ขุ่น กระจกตาโปน เลนส์ตาที่ควรมีสีดำจะกลายเป็นฝ้า ขุ่นขาว หรือมีจ้ำเลือด
3. ผิวหนังและเกล็ด
หากเป็นปลามีเกล็ดเช่น ปลาคาร์พ อะโรวาน่า ปลาเสือ ปลาหมอสี ปลานีออน ปลาคาร์ดินัล หรือปลานกแก้ว เป็นต้น ปลากลุ่มนี้ จะต้องมีเกล็ดที่มีความเงางาม ซ้อนกันเรียบสนิท เรียงกันเป็นแถวอย่างเป็นระเบียบสวยงาม ไม่ตะปุ่มตะป่ำ หากเป็นปลาชนิดที่ไม่มีเกล็ดหรือที่เรียกว่าปลาหนัง เช่น ปลาเรดเทล ปลาดุกด้าน ปลาก้างพระร่วง ปลากดเหลือง ปลาแขยงหิน หรือปลาสวาย เป็นต้น ปลากลุ่มนี้ที่มีสุขภาพดีนั้น ผิวหนังของปลาต้องแน่น เรียบตึง ไม่เป็นขุย ไม่มีรอยขรุขระ ไม่มีบาดแผลหรือจ้ำเลือดออกเกิดขึ้น
ส่วนลักษณะของผิวหนังและเกล็ดปลาที่ผิดปกตินั้น จะสังเกตุได้จากลักษณะผิวหนังที่ไม่เรียบ สังเกตเห็นเกล็ดที่ขาดความเงางาม เกล็ดด้าน มีจุดกระสีดำหรือสีขาวขึ้นกระจาย ผิวหนังก็ถูกปกคลุมด้วยเมือกขาวขุ่น (ดูคล้ายๆ เมือกที่พบในปลาส้ม ที่หลายคนชอบกิน) อาจพบว่าผิวหนังมีก้อน มีจุด หรือมีจ้ำสีแดง อันเกิดเนื้องอกหรือจากพยาธิและปรสิตภายนอกได้
4. สีของลำตัว
ปลาปกตินั้นจะต้องมีสีสันและลวดลายที่ชัดเจนและสวยงามตามสมควร ตามชนิดและสายพันธุ์ของปลา ซึ่งไม่จำเป็นต้องสีสดหรือสีเข้มทุกตัวไป แต่จะต้องไม่ซีดจางหรือเลอะเลือน ส่วนในปลาป่วยนั้น หากเป็นปลาที่มีสีจืดอยู่แล้ว อาจต้องใช้การสังเกตเปรียบเทียบกับที่ผ่านมาด้วย ว่ามีสีที่จางหรือซีดลงกว่าปกติหรือไม่ครับ
5. ลักษณะการว่ายน้ำ
ปลาปกติที่แข็งแรง จะต้องมีทิศทางการว่ายที่แน่นอนไม่ว่ายสะเปะสะปะ มีความกระตือรือร้น มีระบบประสาทสัมผัสว่องไว ตอบสนองต่อการกระตุ้นได้ดี
ต่างจากปลาป่วยที่มีทิศทางการว่ายที่มีลักษณะไร้ทิศทาง สะเปะสะปะ หรือพยายามว่ายไปหลบซุกตามมุมตู้ บางตัวอาจนอนนิ่งอยู่กับที่เป็นเวลานานๆ ระบบประสาทสัมผัสขาดความว่องไว เซื่องและเชื่องช้าลง แต่บางตัวก็อาจเกิดอาการตื่นตัวรุนแรงผิดปกติ โดยเฉพาะปลาที่มีพยาธิภายนอกจะว่ายกระสับกระส่าย คอยเอาตัวไถลตามพื้นตู้หรือสันก้อนหิน ขอนไม้อยู่ถี่ๆ เนื่องจากการคันและระคายเคืองผิวหนัง รวมถึงเพื่อพยายามกำจัดพยาธิหรือสิ่งระคายเคืองออกจากผิวหนัง ส่วนปลาที่มีปัญหาการติดเชื้อภายในระบบทางเดินอาหารจะว่ายหัวทิ่ม เอียง หรือว่ายหงายท้องได้
6. การหายใจ
ในการหายใจของปลาใจนั้น เราสามารถสังเกตได้จากการขยับเปิด-ปิดอย่างเป็นจังหวะของฝาปิดเหงือกทางด้านข้างของแก้ม โดยที่ปลาปกติจะมีการหายใจที่ปกติ ดูจากฝาปิดเหงือกที่กระพือสม่ำเสมอ ไม่ถี่จนเกินไป เพราะนั่นเป็นลักษณะของการหายใจหอบ ซึ่งจะพบในปลาป่วยที่มีปัญหาในการหายใจ ฝาปิดเหงือกจะทำงานหนัก กระพืออย่างรวดเร็ว ไม่สม่ำเสมอ บางครั้งจะมีการหยุดชะงักเป็นพักๆ เหมือนเกิดอาการช็อคได้ครับ
อาการเบื้องต้นทั้ง 6 ข้อที่กล่าวมานี้ เป็นอาการเบื้องต้นที่เราสามารถสังเกตเห็นความแตกต่างในปลาปกติและปลาป่วยหรือเริ่มป่วย ซึ่งเราควรหมั่นตรวจสอบเป็นประจำ เพื่อเช็คว่า ปลาของเรานั้นแข็งแรงเป็นปกติหรือไม่
แต่เมื่อพบอาการผิดปกติดังกล่าว ก็มั่นใจได้ว่า ปลาของเรานั้นเริ่มป่วยเสียแล้ว เพียงแต่จะเป็นโรคอะไรหรือรักษากันอย่างไรนั้น ก็คงต้องว่ากันต่อไปภายหลังได้รับการตรวจวินัจฉัยแล้ว สิ่งที่ท่านต้องจัดการก่อนอื่นเลย นั่นก็คือ การนำปลาป่วยออกมาปฐมพยาบาลเสียก่อน ส่วนการปฐมพยาบาลปลาป่าย มีขั้นตอนและวิธีการทำอย่างไร เรามาติดตามกันในสัปดาห์หน้านะครับ
ในการรักษาปลาป่วยนั้น เรามีหลักเบื้องต้นว่า "ยิ่งรู้เร็ว แยกเร็ว รักษาเร็ว ปลาก็จะมีเปอร์เซ็นต์การรอดสูง" แต่ถ้าหากเราชะล่าใจ ปล่อยเวลาให้เนิ่นไปอีก บางครั้งเพียงแค่ชั่วโมงสองชั่วโมง ปลาก็อยู่รอให้เรารักษาไม่ไหวเสียแล้วครับ
หมอโอห์ม
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.ทิลดิสร์ รุ่งเรืองกิจไกร
ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ ฝ่ายประชาสัมพันธ์และภาพลักษณ์องค์กร
คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี