เมื่อเร็วๆ นี้ มีข่าวที่เป็นกระแสในโลกโซเชียล พบผู้ป่วยมีผลเอกซเรย์พบโพรงฝีหนองและพยาธิในปอด ซึ่งพบว่ามีสาเหตุจากพฤติกรรมการกินที่ชอบบริโภคส้มตำปูเค็มโดยปูที่นำมาทำปูเค็มนั้นมีพยาธิที่อาศัยในปูน้ำจืด ปัญหาเรื่องพยาธิในปูนั้น เป็นเรื่องที่นอกจากจะก่อให้เกิดโรคในคนแล้ว จะสามารถก่อให้เกิดปัญหาในสัตว์เลี้ยงของเราได้หรือไม่วันนี้ผมมีข้อมูลจาก รศ.น.สพ.ดร.ปิยนันท์ทวีถาวรสวัสดิ์ หน่วยปรสิตวิทยาภาควิชาพยาธิวิทยา คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ มาฝากครับ
พยาธิที่พบนี้เป็น พยาธิใบไม้ในปอดและหลอดลม ซึ่งมีชื่อว่า พาราโกนิมุส พยาธิใบไม้ตัวนี้ รู้จักกันในนามของ “พยาธิใบไม้ในปอด” พบได้ในปอดของคน สุนัข แมว สุกร และสัตว์ป่าอื่นๆ เช่น เสือปลา เสือโคร่งแมวป่า เป็นต้น
สามารถพบได้ในประเทศไทยโดยเฉพาะทางภาคกลาง เช่น นครนายก และชานเมืองกรุงเทพฯ เป็นพยาธิที่มีขนาดเล็ก ลำตัวยาว 7.5-16 x 4-8มิลลิเมตร สำหรับพยาธิใบไม้ในปอดที่พบในประเทศไทยมีหลายชนิด เช่น พาราโกนิมุส เวสเทอร์มานิอาย พาราโกนิมุส หะรินนะสุทายพาราโกนิมุส แบงคอกเอนซีส เป็นต้น
วงจรชีวิต
วงชีวิตของพยาธิใบไม้
จำเป็นต้องอาศัยโฮสต์กึ่งกลาง 2 ชนิด ชนิดแรกคือ “หอย” ในสกุลเมลาเนีย หรือ หอยในสกุล แอมพูลาเนีย หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “หอยเจดีย์”
การเจริญเติบโตของตัวอ่อนจะเจริญจากตัวอ่อนระยะที่ 1, 2, 3 และ 4 เมื่อตัวอ่อนระยะที่ 4 ออกจากหอยแล้ว จะว่ายน้ำไปหาโฮสต์กึ่งกลางตัวที่ 2 ซึ่งได้แก่ “ปูน้ำจืด” เช่น ปูน้ำตก ปูนา และปูป่า ซึ่งจะพบได้ตามภาคต่างๆ ของประเทศไทย และเมื่อเข้าสู่โฮสต์กึ่งกลางตัวที่ 2แล้วนั้น ตัวอ่อนจะเจริญไปเป็นตัวอ่อนระยะที่ 5 ซึ่งเป็นระยะติดต่อ
ตำแหน่งที่มีการพบตัวอ่อนระยะดังกล่าวในปู ได้แก่ กล้ามเนื้อขากล้ามเนื้ออกและเหงือกของปู เมื่อสัตว์หรือคนได้กินปูที่มีตัวอ่อนระยะติดต่อเข้าไป จะมีการเคลื่อนที่ไปยังปอด ซึ่งตัวเยาว์วัยของพยาธิใบไม้จะเดินทางไปที่หลอดลมฝอย และเจริญเป็นตัวเต็มวัยในปอด โดยจะมีการสร้างถุงหุ้มขึ้น
อันตรายที่เกิดขึ้น
ตัวเต็มวัยที่อยู่ในปอด จะไม่ค่อยทำอันตรายต่อสัตว์เลี้ยงมากเท่าไหร่ แต่ถ้าพยาธิมีการเคลื่อนที่ไปอยู่ตามอวัยวะอื่นที่ไม่ใช่ปอด เช่น สมองหรืออวัยวะอื่นๆ อาจจะส่งผลกระทบต่อตัวสัตว์ได้อย่างมาก
ตัวเต็มวัยที่อาศัยในถุงลมในปอดจะถูกห่อหุ้มด้วยเนื้อเยื่อประสาน และอาจตรวจพบไข่ของพยาธิได้ในเนื้อเยื่อปอด ซึ่งบางครั้งการวินิจฉัยอาจจะดูคล้ายโรควัณโรคเทียม ตามปกติจะพบตัวเต็มวัย 2 ตัว ในถุงหนึ่งถุงในรายที่มีการติดเชื้อแบคทีเรียอื่นๆ สัตว์ป่วยอาจจะแสดงอาการไอไข่พยาธิจำนวนมากมักจะถูกขับออกมาปนกับเสมหะได้
การตรวจวินิจฉัย
กรณีที่ตัวเต็มวัยอาศัยอยู่ในปอด การตรวจสามารถทำได้โดยตรวจหาไข่พยาธิจากเสมหะ หรือในอุจจาระ ซึ่งไข่พยาธิจะมีลักษณะเฉพาะและแตกต่างไปจากไข่พยาธิใบไม้ชนิดอื่นๆ แต่ในรายที่มีการไปอยู่ที่อวัยวะอื่น ก็ขึ้นกับตำแหน่งที่ไปอยู่ อาจจะใช้การเอกซเรย์ หรือการทำ CT scan ช่วยในการตรวจวินิจฉัยได้
การป้องกันที่สำคัญ
ปูน้ำจืดชนิดต่างๆ ที่นำเอามาปรุงเป็นอาหาร เช่น ในส้มตำ ซึ่งเป็นอาหารยอดนิยมของคนไทย อาจจะต้องมีการทำให้สุกเสียก่อนนำมาบริโภค การหมักดอง อาจจะไม่สามารถทำให้ตัวอ่อนของพยาธิตายได้ซึ่งถ้าเรานำปูเหล่านั้นมาปรุงเป็นอาหารเพื่อบริโภค เราก็อาจจะติดพยาธิใบไม้ชนิดนี้ได้
การป้องกันการติดโรคพยาธิใบไม้ในปอดชนิดนี้ในสัตว์เลี้ยงควรหลีกเลี่ยงการนำอาหารคนมาให้สัตว์เลี้ยง เพราะถ้าเราเลี้ยงน้องหมาน้องแมวด้วยอาหารที่เฉพาะสำหรับสัตว์เลี้ยงของเขา โอกาสจะติดโรคพยาธิที่มาจากการบริโภคตัวอ่อนระยะติดต่อที่อยู่ในปูน้ำจืด แถบจะเป็นไปไม่ได้เลย แถมพวกเค้าจะยังมีสุขภาพที่สมบูรณ์แข็งแรงได้รับสารอาหารครบถ้วนมากกว่าการเลี้ยงด้วยอาหารคน หรืออาหารที่ไม่ใช่อาหารสำหรับสุนัขและแมวอีกด้วย
รูปวงชีวิตของพยาธิใบไม้ในปอด
เอกสารอ้างอิง
สุภรณ์ โพธิ์เงิน บทที่ 5 พยาธิใบไม้ในปอด และหลอดลม หนังสือ หนอนพยาธิวิทยา สาขาสัตวแพทยศาสตร์ สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หน้า 75-82
หมอโอห์ม
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.ทิลดิสร์ รุ่งเรืองกิจไกร
ฝ่ายประชาสัมพันธ์และส่งเสริมภาพลักษณ์องค์กร
คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี