สัตว์เลี้ยงของเราไม่สามารถพูดบอกเราได้ ดังนั้นเมื่อยามที่เค้าป่วยหนักจนถึงขั้นวิกฤตแล้ว เราจะทราบได้อย่างไร เจ้าของสัตว์ เป็นส่วนสำคัญมากในการที่จะสังเกตและระบุว่าสัตว์เลี้ยงเกิดความผิดปกติเพื่อประเมินให้ได้ว่าควรรีบนำส่งสัตวแพทย์ทันทีหรือไม่ โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่เกิดในช่วงกลางคืน วันนี้เรามาทำความเข้าใจเบื้องต้นกันว่าเหตุฉุกเฉินในสุนัขและแมวนั้น มีอะไรที่เจ้าของสัตว์ควรทราบบ้าง โดยข้อมูลจากคลินิกฉุกเฉิน คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ครับ
@หลักการประเมินว่าสัตว์ป่วยอยู่ในสภาวะวิกฤต มีอะไรบ้าง
การประเมินว่า สัตว์ป่วยอยู่ในสภาวะวิกฤตหรือไม่นั้น เราใช้ “หลัก ABCD” ซึ่งเป็นอักษรย่อ เพื่อให้ง่ายต่อการเข้าใจและสะดวกในการจดจำ โดยอักษรแต่ละตัวนั้น ย่อมาจากคำเหล่านี้
A (Airway) ท่อทางเดินหายใจ คือการประเมินว่า สัตว์สามารถหายใจผ่านทางเดินหายใจได้หรือไม่ ดังนั้นทางเดินหายใจควรจะปลอดจากสิ่งต่างๆ ที่ขัดขวางการหายใจ เช่น ของเหลว เยื่อเมือก เศษอาหาร วัตถุแปลกปลอมที่กีดขวางทางเดินหายใจ ที่จะทำให้ทางเดินหายใจตีบตัน
B (Breathing) การหายใจ คือการประเมินว่าสัตว์สามารถหายใจได้เองเป็นปกติหรือไม่ การหายใจที่ไม่ปกติที่สังเกตเห็นได้ เช่นสัตว์แสดงอาการหอบ หายใจตื้นและถี่ อ้าปากหายใจ ใช้ช่องท้องช่วยในการหายใจ หายใจไม่ออกเหมือนมีอะไรอุดคออยู่
C (Circulation) การไหลเวียนเลือด คือการประเมินว่าสัตว์มีอัตราการเต้นของหัวใจที่ปกติสม่ำเสมอหรือไม่ ลักษณะการเต้นของชีพจรเราสามารถคลำได้จากบริเวณขาหนีบด้านใน หรือลำคอบริเวณใต้ขากรรไกรล่าง (ซึ่งอาจต้องฝึกคลำในสภาพสัตว์เลี้ยงปกติให้เกิดความคุ้นชินกับการวัดชีพจรจนชำนาญเสียก่อน) หากคลำแล้วพบการเต้นของชีพจรเบามาก หรือไม่มีเลย ก็ถือว่าผิดปกติ มักพบร่วมกับอาการปลายขาทั้งสี่เย็นสีของเยื่อเมือกที่เป็นสีขาวซีด ม่วง หรือแดงเช้ม(สีเยื่อเมือกปกติจะเป็นสีชมพูสด)
D (Disability) ความพิการหรือการไร้สมรรถภาพของร่างกายคือการประเมินการทำงานของระบบประสาท เช่น มีประวัติการกระทบกระแทกที่บริเวณศีรษะแบบรุนแรง จนมีอาการชักกระตุก เหยียดเกร็งหรือมีการบาดเจ็บที่กระดูกสันหลังอย่างรุนแรงจนไม่สามารถเดินได้เป็นต้น
@ แล้วอาการเช่นไรบ้าง ที่เราจะเรียกว่า สัตว์อยู่ในภาวะฉุกเฉิน ที่ต้องพามารับการรักษาที่แผนกฉุกเฉินโดยเร่งด่วน
ตัวอย่างอาการเหล่านี้ เราถือว่าอยู่ในสภาวะฉุกเฉินถึงขั้นวิกฤต ได้แก่
1. หายใจลำบาก เช่น หายใจมีเสียงดัง มีเยื่อเมือกที่ลิ้นเป็นม่วงหรือใช้การอ้าปากเพื่อช่วยในการหายใจ เป็นต้น
2. มีบาดแผลขนาดใหญ่ และ/หรือ มีเลือดไหลไม่หยุด
3. ช่องท้องขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยอาจจะมี/หรือไม่มีอาการอาเจียนร่วมด้วยก็ตาม
4. ไม่สามารถขับถ่ายปัสสาวะได้ โดยเจ้าของสามารถสังเกตได้จากการที่สัตว์เลี้ยงแสดงอาการเบ่งปัสสาวะ แต่ไม่มีปัสสาวะไหลออกมาหรืออาจมีอาการร้องแสดงความเจ็บปวดเวลาเบ่งปัสสาวะ
5. อุจจาระเป็นเลือด หรือปัสสาวะเป็นเลือดสด รวมถึงการอาเจียนเป็นเลือดด้วย
6. ตัวร้อนจัด อุณหภูมิร่างกายเพิ่มขึ้นสูงอย่างรวดเร็วจนเกิน 105 องศาเซลเซียส
7. แม่สัตว์ที่ตั้งครรภ์จนครบกำหนดคลอดแล้ว แต่ไม่สามารถคลอดได้ภายใน 1 ชั่วโมง หลังจากมีอาการเบ่งหรือแสดงอาการพยายามคลอด รวมถึงการที่ไม่สามารถคลอดได้ภายใน 15 นาที หลังจากมีน้ำคร่ำสีเขียวไหลออกมา หรือมีส่วนใดส่วนหนึ่งของลูกสัตว์โผล่ออกมาจากช่องคลอดแล้ว
8. สูญเสียความสามารถในการทรงตัวแบบเฉียบพลัน เช่นไม่สามารถยืนทรงตัวได้หรือเมื่อจับให้ยืนแล้วล้ม
9. มีอาการชักและขาเหยียดเกร็ง
10.ได้รับบาดเจ็บ จากการถูกรถชน หรือตกจากที่สูง
11. การได้รับสารพิษ สารเคมีทำความสะอาดหรือสารกัดกร่อนโดยการกิน
12. สภาพสัตว์เลี้ยงที่หมดสติหรือไม่รู้สึกตัว
ในกรณีที่พบว่าสัตว์เลี้ยงมีอาการดังกล่าวข้อใดข้อหนึ่ง นั่นหมายความว่าสัตว์เลี้ยงควรได้รับการรักษาโดยสัตวแพทย์อย่าง “ทันท่วงที” ครับ
แต่หากสัตว์เลี้ยงมีอาการนอกเหนือจากอาการที่กล่าวมานี้ เราจะยังถือว่า “สัตว์ยังไม่อยู่ในสภาวะฉุกเฉิน” ซึ่งอาจยังไม่ถึงกับต้องรีบพาไปยังแผนกฉุกเฉินทันที (กรณีที่เกิดเหตุการณ์ในช่วงกลางคืน) แต่ยังสามารถปฐมพยาบาล และให้พาสุนัขและแมวมาพบคุณหมอที่แผนกอายุรกรรมในวันรุ่งขึ้นช่วงเวลาทำการตามปกติของโรงพยาบาลได้
ทั้งนี้ การรับมือกับภาวะฉุกเฉินจะสำเร็จและราบรื่นไปได้นั้นควรอยู่ภายใต้ “สติและความรวดเร็ว” นอกจากนี้ การตรวจสุขภาพสัตว์เลี้ยงเป็นประจำจะช่วยป้องกันปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ซึ่งถือเป็นเกราะป้องกันโรคร้ายได้เป็นอย่างดีครับ
หมอโอห์ม
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.ทิลดิสร์ รุ่งเรืองกิจไกร
ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ ฝ่ายประชาสัมพันธ์และภาพลักษณ์องค์กร
คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี