WHO รายงานว่า มะเร็ง เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตเป็นอันดับหนึ่งของโลก ทำให้มีผู้เสียชีวิตเกือบถึง 10 ล้านคน ในปี ค.ศ.2020 หรือเกือบ 1 ใน 6 ของการเสียชีวิตทั้งหมด
ในปี 2022 มีคนไข้มะเร็งรายใหม่ 20 ล้านคน ตาย 9.7 ล้านคนคนที่ยังมีชีวิตอยู่ 5 ปีหลังการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็ง มี 53.5 ล้านคนประมาณ 1/5 ของประชากรจะเป็นโรคมะเร็งในชีวิต โดย 1/9 เป็นชาย และ 1/12 เป็นหญิง คาดว่าในปี 2050 จะมีประชากรในโลกเป็นมะเร็งถึง 35 ล้านคน
รายงานจากองค์การอนามัยโลก เมื่อวันที่ 1/2/2024 อุบัติการณ์ของมะเร็งปี 2022 มีดังนี้ 1) เต้านม 2.3 ล้านคน หรือ 11.6% 2) ปอด 2.5 ล้านคน หรือ 12.4% ของผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่3) ลำไส้ใหญ่ 1.9 ล้านคน หรือ 9.6% 4) ต่อมลูกหมาก 1.5 ล้านคนหรือ 7.3% 5) ผิวหนัง (ที่ไม่ใช่ melanoma) 1.2 ล้านคน6) กระเพาะอาหาร 970,000 คน หรือ 4.9%
แต่มะเร็งที่ทำให้เสียชีวิตมากที่สุด ตามลำดับ มีดังนี้ 1) ปอด 1.8 ล้านคน หรือ 18.7% ของการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งทั้งหมด 2) ลำไส้ใหญ่ 900,000 คน หรือ 9.3%3) ตับ 760,000 คน หรือ 7.8% 4) เต้านม 670,000 คน หรือ 6.9% 5) กระเพาะอาหาร 660,000 คน หรือ 6.8%
และในแต่ละปีประมาณ 4 แสนเด็กจะเป็นมะเร็ง
ปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็ง คือ 1) สูบบุหรี่ รวมทั้งไปป์ (pipe) ซึ่งจะทำให้เป็นมะเร็งปอด ช่องปาก คอ หลอดอาหาร บุหรี่เป็นสาเหตุถึง 30% ของโรคมะเร็งทั้งหมด 2) อาหารและโรคอ้วนไม่ควรกินอาหารแปรรูป ไขมันอิ่มตัวที่อยู่ในเนื้อแดง เนื้อแปรรูป น้ำตาล ที่เป็นน้ำตาลล้วน หรืออยู่ในเครื่องดื่มต่างๆ จะทำให้อ้วน ซึ่งจะทำให้มีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็ง 13 ชนิด (WHO) ควรรักษาระดับน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติด้วยการกินพืช ผัก ผลไม้ ปลาทะเล เป็นหลัก3) ลดการถูกแดด (รังสี ultraviolet) ทั้งจากธรรมชาติและจากเครื่อง จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งของผิวหนัง 4) แอลกอฮอล์ ดื่มมากไปทำให้เป็นมะเร็งของตับ ช่องปาก คอ หลอดอาหาร และเต้านม5) พิษจากสภาพแวดล้อม เช่น แร่ asbestos, benzene, รังสี radonซึ่งเป็นสาเหตุที่สำคัญอันดับ 2 ในการทำให้เกิดมะเร็งปอดในอเมริกา6) การติดเชื้อทั้งไวรัสและแบคทีเรีย เช่น เชื้อตับอักเสบ B, C (HBV, HCV)ที่ทำให้เป็นโรคตับแข็ง มะเร็งตับ เชื้อไวรัส human papillomavirus (HPV) ที่ทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูก และมะเร็งที่ oropharyngeal ควรฉีดวัคซีนป้องกัน HBV, HPV ตามแพทย์แนะนำ และเชื้อ bacteria ในกระเพาะอาหาร Helicobacter pylori ที่ทำให้เกิดมะเร็งกระเพาะอาหารได้7) พันธุกรรม มีเพียง 5-10% เท่านั้นที่มะเร็งเกิดจากพันธุกรรม ถ้ามีประวัติมะเร็งในครอบครัว เช่น เต้านม รังไข่ ลำไส้ใหญ่ ควรปรึกษาแพทย์ 8) ฮอร์โมน การให้ยาฮอร์โมน สำหรับหญิงที่หมดประจำเดือน หรือการป้องกันการตั้งครรภ์ อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งบางชนิดได้ เช่น เต้านม รังไข่ ปากมดลูก 9) การไม่ออกกำลังกาย เสี่ยงต่อมะเร็งลำไส้ใหญ่ เต้านม มดลูก ตับ 10) การอักเสบเรื้อรัง ที่เกิดจากพฤติกรรมชีวิต เช่น อาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ สภาวะกดดัน 11) อย่าอยู่กลางแจ้งนานไป ถ้าสภาพอากาศไม่ดี (PM2.5 สูง)
ถ้าสามารถตรวจหามะเร็งได้ในระยะต้นๆ และรักษาด้วยวิธีการที่ทันสมัย ถูกต้อง ทันท่วงที จะสามารถลดอัตราการเสียชีวิต การเจ็บป่วยได้มาก แพทย์แนะนำให้ตรวจคัดกรองหารอยโรคทั้งๆ ที่ยังไม่มีอาการ เช่น มะเร็งเต้านม ปากมดลูก และลำไส้ใหญ่ เพราะโดยเฉพาะในมะเร็งปากมดลูกและลำไส้ใหญ่ก่อนที่จะเป็นมะเร็ง มักเป็น “ว่าที่” มะเร็งอยู่นานฉะนั้นถ้าไปตรวจคัดกรองตามเกณฑ์ที่แพทย์กำหนดไว้ อาจพบ “ว่าที่”มะเร็ง ซึ่งถ้าได้รับการรักษาที่ถูกต้องก็จะไม่กลายเป็นมะเร็ง
และถ้ามีอาการเมื่อไหร่ ควรรีบไปปรึกษาแพทย์ เพื่อได้รับการวินิจฉัยโรคที่ถูกต้องอย่างรวดเร็ว และถ้าเป็นมะเร็งจะได้รับการรักษาตั้งแต่ในระยะเริ่มแรก ซึ่งจะมีผลดี
การวินิจฉัยโรคมะเร็งที่ถูกต้องจะมีผลต่อการรักษา เพราะมะเร็งแต่ละชนิดมีการรักษาไม่เหมือนกัน เช่น ก้อนมะเร็งที่อยู่ในปอด อาจเป็นมะเร็งของเนื้อปอดเอง หรือมะเร็งจากอวัยวะอื่นที่ลามมาที่ปอด การรักษาจะไม่เหมือนกัน การรักษามีหลายวิธี เช่น ผ่าตัด ฉายแสง หรือรังสี การให้ยาทางคีโม หรือให้ฮอร์โมน หรือการรักษาแบบ biological (ชีวภาพ) การรักษาผู้ป่วยแต่ละคนต้องดู ทั้งชนิดของมะเร็งและความเป็นมากหรือน้อย ต้องดูผู้ป่วยแต่ละคนเป็นรายๆ และต้องได้รับการรักษาให้ครบชุด (course)
เป้าหมายของการรักษาก็สำคัญ เช่น ทำให้หายขาด หรือจะทำให้อายุยืน แต่คุณภาพชีวิตผู้ป่วยต้องดีด้วย ต้องดูแลผู้ป่วยทั้งทางด้านกาย ใจ รวมทั้งการรักษาแบบประคับประคอง และในระยะสุดท้ายของชีวิตด้วย
มะเร็งบางชนิด ถึงแม้จะมีบางส่วนลามไปที่อื่น ถ้าได้รับการรักษาที่ดีก็อาจรักษาให้หายขาดได้เช่นกันในหลายๆ โรค เช่น มะเร็งลูกอัณฑะ (testicular seminoma), leukemia (มะเร็งเม็ดเลือดขาว) ชนิดต่างๆ และ lymphoma ในเด็กๆ
แต่การรักษาในประเทศต่างๆ มีความแตกต่างกันมาก ในประเทศที่มีรายได้สูง การรักษาแบบครบวงจรมีถึง 90 กว่า% แต่ในประเทศที่มีรายได้ต่ำอาจมีไม่ถึง 15%
การรักษาแบบประคับประคอง (palliative) คือ การรักษาเพื่อลดอาการมากกว่าการรักษาเพื่อให้หายขาด และเพื่อทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและญาติดีขึ้น
โดยสรุปประมาณ 30-50% ของโรคมะเร็งสามารถป้องกันได้ด้วยการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ตามที่กล่าวไว้
ไม่อ้วนเสียอย่างนอกจากลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็ง 13 ชนิดแล้วยังลดความเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน ความดัน หลอดเลือดหัวใจ สมอง ตีบและอุดตัน โรคนอนกรนและหยุดหายใจ ซึ่งจะนำพาไปสู่โรคต่างๆ รวมทั้งโรคสมองเสื่อม โรคไขข้อ ฯลฯ
นพ.พินิจ กุลละวณิชย์
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี