โรคเบาหวาน เป็นโรคที่เกิดจากการที่ร่างกายขาดฮอร์โมนที่มีชื่อว่า “อินซูลิน” ซึ่งทำหน้าที่ในการช่วยลดระดับน้ำตาลในกระแสเลือด ด้วยการช่วยดึงน้ำตาลในเลือดเพื่อให้ร่างกายนำไปใช้ หรืออาจเกิดจากการที่ร่างกายสร้างฮอร์โมนอินซูลินได้ปกติ แต่ร่างกายไม่สามารถใช้งานได้ ซึ่งทั้ง 2 กรณีนี้ จะส่งผลให้เกิดภาวะที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในกระแสเลือดสูงอยู่ตลอดเวลาจนพบน้ำตาลปนมาในปัสสาวะ
โรคเบาหวานเกิดในสัตว์กลุ่มใด?
โรคเบาหวานนี้มักเกิดในสัตว์เลี้ยงที่มีอายุมาก โดยทั่วไปมักจะพบในสุนัขที่มีอายุประมาณ 7-9 ปี ส่วนในแมวจะพบที่อายุประมาณ 9-11 ปี แต่ก็สามารถพบได้ในสุนัขและแมวที่อายุน้อยได้เช่นกัน
ในสุนัขจะพบว่าเกิดในสุนัขเพศเมียมากกว่าเพศผู้ ส่วนพันธุ์ที่พบบ่อย ได้แก่ พุดเดิ้ลโกลเด้นรีทรีฟเวอร์ ดัชชุนด์
ส่วนในแมว มักจะพบในเพศผู้ที่ทำหมันแล้ว และในแมวที่มีลักษณะอ้วนมากกว่า ซึ่งจะพบได้ในแมวทุกสายพันธุ์
โรคนี้เกิดจากสาเหตุใด?
สาเหตุของโรคเบาหวานนั้น มีหลายสาเหตุด้วยกัน ได้แก่ จากพันธุกรรม จากความเครียด จากความผิดปกติของตับอ่อนเช่น โรคตับอ่อนอักเสบ จากความอ้วน และจากการได้รับยาบางชนิดต่อเนื่อง เช่น สเตียรอยด์ เป็นต้น
อาการที่พบเป็นอย่างไร
อาการที่เจ้าของสัตว์เลี้ยงสามารถสังเกตได้ง่าย คือสุนัขหรือแมวจะกินน้ำมากกว่าปกติ ปัสสาวะบ่อยและปริมาณมาก กินอาหารเก่งกว่าปกติแต่น้ำหนักตัวลดลง บางรายจะพบภาวะกระจกตาขุ่น หรือต้อกระจก (cataract) ร่วมด้วย
หากปล่อยทิ้งไว้จะเป็นอย่างไร?
ในกรณีที่สัตว์เลี้ยงเป็นโรคเบาหวานแล้วไม่ได้ทำการรักษา หรืออยู่ในช่วงการรักษาแต่ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ จะส่งผลให้เกิดภาวะคีโตนในกระแสเลือด (ketosis) ซึ่งคีโตน (ketone) เป็นสารที่เกิดจากการที่ร่างกายสลายไขมันเพื่อเป็นแหล่งพลังงานทดแทนการใช้น้ำตาล เนื่องจากในสัตว์ป่วยด้วยโรคเบาหวานร่างกายจะไม่สามารถใช้น้ำตาลเป็นแหล่งพลังงานได้นั่นเอง
การมีคีโตนในกระแสเลือดสูง จะทำให้สัตว์ป่วยซึมเบื่ออาหารอาเจียน ร่างกายอยู่ในภาวะขาดน้ำ ซึ่งจะทำให้สัตว์เสียชีวิตได้
การตรวจวินิจฉัยทำได้อย่างไรบ้าง?
การวินิจฉัยโรคเบาหวาน สามารถทำได้คล้ายกับในคน
คือ นอกจากการสังเกตจากอาการแล้ว เราจะใช้การตรวจเลือด โดยจะให้สัตว์อดอาหารอย่างน้อย 8 ชั่วโมง แล้วเจาะเลือดเพื่อตรวจวัดระดับน้ำตาลในกระแสเลือด โดยในช่วงอดอาหาร ค่าปกติของน้ำตาลในกระแสเลือดจะมีค่าไม่เกิน 120 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
การรักษาทำได้อย่างไร?
การรักษาโรคเบาหวานค่อนข้างซับซ้อน เนื่องจากเจ้าของต้องพาสัตว์ไปพบสัตวแพทย์เพื่อทำการตรวจระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดต่อเนื่องกัน แล้วทำเป็นกราฟ เพื่อดูการขึ้น-ลงของน้ำตาลในเลือดในระยะ 1 วัน (serial blood glucose curve) เพื่อคำนวณหาค่าที่เหมาะสมในการให้ฮอร์โมนอินซูลิน ให้สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ได้ตลอดทั้งวัน
นอกจากนี้ในการดูแลที่สำคัญสำหรับสัตว์ที่ป่วยด้วยโรคเบาหวาน นั่นคือ “การควบคุมอาหาร” ซึ่งอาหารที่เหมาะสมกับสัตว์ป่วยนั้นควรเป็นอาหารที่มีเส้นใยอาหาร (fiber) สูง ส่วนคาร์โบไฮเดรตที่สามารถให้ได้นั้น ควรเป็นชนิดที่ย่อยยาก เพื่อให้ระดับน้ำตาลในกระแสเลือดเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ ซึ่งในปัจจุบันจะมี “โภชนบำบัด” หรือ “อาหารที่ใช้ในการรักษา” ที่ทำเป็นเชิงธุรกิจสำหรับโรคเบาหวาน ซึ่งค่อนข้างสะดวกในการใช้ ซึ่งอาจเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับเจ้าของที่ไม่สะดวกปรุงอาหารเองให้สัตว์เลี้ยงป่วยเป็นโรคเบาหวานครับ
ขอเรียนย้ำว่า เมื่อท่านสังเกตเห็นสัตว์เลี้ยงมีอาการผิดปกติเหล่านี้ เช่น กินน้ำมากปัสสาวะบ่อยและมากกว่าปกติกินอาหารเก่งแต่น้ำหนักตัวลดลงแล้ว โรคเบาหวานเป็นโรคหนึ่งที่ลืมไม่ได้เลย ซึ่ง เมื่อพบอาการดังกล่าวแล้ว ต้องพาสัตว์เลี้ยงไปพบสัตวแพทย์ เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยและรักษาต่อไป เนื่องจากโรคนี้เป็นโรคที่อันตราย ซึ่งหากปล่อยทิ้งไว้หรือไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี สามารถทำให้สัตว์เลี้ยงเสียชีวิตได้ แต่เราสามารถควบคุมและดูแลให้สัตว์เลี้ยงที่เป็นเบาหวานมีสุขภาวะที่ดีได้ จนแทบจะไม่ต่างจากสุนัขและแมวปกติเลยครับ
ผศ.น.สพ.ดร.ทิลดิสร์ รุ่งเรืองกิจไกร
สำนักงานสภามหาวิทยาลัย
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี