สถานการณ์ใดบ้าง ที่เราต้องเริ่มทำหน้าที่แม่นมให้กับลูกสัตว์กำพร้าเหล่านั้น หลักการของการเป็นแม่นมคืออะไร ขั้นตอนและวิธีการเป็นแม่นมมีอะไรบ้าง วันนี้เรามาคุยเรื่องนี้กันจะได้เข้าใจ เผื่อว่ามีโอกาสพบลูกสัตว์กำพร้าโดยบังเอิญ จะได้เข้าใจวิธีการ และช่วยเพิ่มอัตราการรอดชีวิตของลูกสัตว์เหล่านั้นกันครับ
@เราจะต้องทำหน้าที่แม่นมให้สัตว์เมื่อไร
มีหลายกรณีที่เราต้องทำหน้าที่เป็นแม่นมเมื่อเจอลูกสัตว์กำพร้า ได้แก่
- แม่สุนัขหรือแมวมาคลอดลูกทิ้งไว้ แล้วไม่ยอมเลี้ยงลูก
- แม่สาวท้องแรกที่เพิ่งเคยคลอดลูก แต่เลี้ยงลูกไม่เป็น
- การที่แม่สัตว์ตายหลังคลอด
- การที่แม่สัตว์ป่วย หรือมีความจำเป็นที่จะต้องได้รับการรักษาด้วยยาอันตราย ที่สามารถถ่ายทอดทางน้ำนมได้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อลูก เป็นต้น
@หลักการเป็นแม่นมสัตว์มีอะไรบ้าง?
หลักการสำคัญในการเป็นแม่นม มีเพียง 3 ข้อ ที่จำง่ายๆสั้นๆ เพียงแค่ “อุ่น อิ่ม อึ” ซึ่งขอลงรายละเอียดให้เข้าใจง่ายๆ ดังนี้
1.“อุ่น” หรือ “ความอบอุ่น”
เป็นหลักการข้อแรกที่สำคัญ เนื่องจากลูกสัตว์ที่เกิดใหม่จะมีอุณหภูมิร่างกายที่ค่อนข้างต่ำ และอยู่ในช่วงการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิจากในท้องแม่ มาสู่อุณหภูมิของโลกภายนอก ความอบอุ่นจึงเป็นสิ่งจำเป็นมาก (เห็นได้ทั่วไปจากการที่แม่สุนัขหรือแมวที่มักจะนอนขดตัวเพื่อให้ความอบอุ่นแก่ลูก หรือแม่ไก่ที่นั่งกกไข่หรือลูกเจี๊ยบ)
ตามโรงพยาบาลสัตว์หรือคลินิกรักษาสัตว์ทั่วไป มักจะใช้ตู้ควบคุมอุณหภูมิเพื่อกกลูกสัตว์ แต่เราสามารถประยุกต์ขึ้นเองที่บ้านได้ ด้วยการใช้โคมไฟอ่านหนังสือที่มีแสงนวลๆ (ไม่ใช่หลอดไฟ LED) หลอดไฟประเภทนี้จะทำให้เกิดความร้อน ซึ่งสามารถนำมาใช้ให้เกิดความอบอุ่นได้
หลักการสำคัญที่สุดในการกกคือ การดูแลอุณหภูมิให้กับลูกสัตว์ในช่วงแรก เพื่อรักษาระดับการทำงานของหัวใจและระบบไหลเวียนเลือดของลูกสัตว์ให้ทำงานได้ปกติ
สิ่งที่ต้องระวังในการกกไฟคือ
- อุณหภูมิต้องไม่สูงเกินไป จนทำให้เกิดอันตรายกับผิวหนังลูกสัตว์ได้ เนื่องจากลูกสัตว์แรกเกิดมีผิวหนังที่บอบบาง เมื่อโดนความร้อนสูงอาจเกิดการเผาไหม้ เกิดแผล และติดเชื้อได้ซึ่งสามารถเป็นเหตุให้ตายได้ในที่สุด
- ในกรณีที่ใช้ตู้ควบคุมอุณหภูมิสำหรับอบลูกสัตว์ ควรตั้งอุณหภูมิที่ 37-38 องศาเซลเซียส
- เราสามารถตรวจสอบความร้อนแบบง่ายที่สุดเลยก็คือลองทดสอบความร้อนด้วยหลังมือของเราเอง ว่าร้อนจนเกินไปหรือไม่ และให้สังเกตอาการลูกสัตว์ว่าอยู่ได้อย่างสบายไม่กระวนกระวาย หรือพยายามคลานหนีจากตำแหน่งไฟกก หากร้อนเกินไปเราก็ปรับไฟกกให้ห่างจากตัวลูกสัตว์มากขึ้น
- ระมัดระวังเรื่องไฟฟ้าลัดวงจร ซึ่งทำให้เกิดอันตรายทั้งลูกสัตว์และคนในบ้านเลยทีเดียว
- ระวังอันตรายจากอุบัติเหตุ การกระแทก หรือการร่วงหล่นของโคมไฟใส่ลูกสัตว์ แล้วเกิดการบาดเจ็บ หรือเกิดการลุกไหม้ได้
2.“อิ่ม” หรือ “ความอิ่มท้อง”
เป็นหลักการข้อที่สอง นั่นคือเรื่องของความอิ่มในการกินลูกสัตว์แรกเกิดควรได้รับน้ำนมทดแทนน้ำนมแม่สัตว์อย่างเพียงพอ โดยนมที่เลือกใช้ในลูกสัตว์แรกเกิดควรเป็นนมที่ผลิตมาเพื่อทดแทนน้ำนมแม่โดยเฉพาะ ในกรณีหาไม่ได้ อาจใช้นมแพะแทนควรหลีกเลี่ยงนมวัว เพื่อลดโอกาสเสี่ยงการตายจากการท้องเสีย/ท้องอืด
โดยปกติในช่วง 24 ชั่วโมงแรกหลังเกิด ลูกสัตว์ควรได้รับนมน้ำเหลือง (colostrum) จากแม่ ซึ่งเป็นนมที่มีภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติจากแม่สัตว์ส่งต่อถึงลูก (ช่วงเวลาไม่เกิน 1-2 วันแรกหลังคลอดนั้น ลำไส้ของลูกจะสามารถดูดซึมภูมิคุ้มกันเหล่านี้เข้าไปได้แต่หลังจากนั้น ก็จะดูดซึมไปใช้ไม่ได้แล้ว) เราจึงพบว่าลูกสัตว์กำพร้าที่ไม่ได้รับนมน้ำเหลืองจากแม่ เมื่อเติบโตมามักจะมีภูมิคุ้มกันที่ต่ำกว่า ซึ่งสามารถติดโรคต่างๆ ได้ง่ายกว่าลูกสัตว์ทั่วไป
หมอโอห์ม
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.ทิลดิสร์ รุ่งเรืองกิจไกร
สำนักงานสภามหาวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี