ปัญหาเรื่องกลิ่นเหม็นจากช่องปากของสุนัขเป็นเรื่องที่เจ้าของสุนัขหลายท่านสัมผัสถึงปัญหานี้ได้ง่ายวันนี้เรามาทำความรู้จักถึงสาเหตุ และวิธีการป้องกันกันครับ
@ ปากเหม็นมีสาเหตุมาจากอะไรได้บ้าง
ปัญหาเรื่องช่องปากของสุนัขนั้น มีหลายสาเหตุด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นหินปูน โรคเหงือกอักเสบ ฟันผุ ซึ่งสามารถเกิดได้เหมือนในคนเราเลยครับ แต่ในสุนัขนั้น เมื่อตรวจเจอก็มักจะพบว่าเป็นระยะที่รุนแรงกว่าในคนมากๆ เพราะในสัตว์เลี้ยงนั้น เราไม่ค่อยได้พาไปตรวจสุขภาพช่องปากเป็นประจำเหมือนกับในคน ดังนั้น “การดูแลช่องปากของสุนัข”จึงมีความสำคัญครับ
ในปัจจุบันนี้ สุนัขจะมีอายุขัยที่ยาวขึ้น และอยู่กับเราได้นานกว่าสมัยก่อนเนื่องจากได้รับการทำวัคซีนครบถ้วน และพบสัตวแพทย์เพื่อดูแลป้องกันโรคต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ รวมถึงในปัจจุบันมียาและเครื่องมือที่ใช้ในการรักษายามที่สัตว์เลี้ยงป่วยที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ดังนั้นเมื่อสุนัขอายุยืนหรือเข้าสู่วัยชรา ก็มักพบปัญหาความเสื่อมตามวัยของร่างกาย รวมถึงโรคเกี่ยวกับช่องปากได้ง่าย เช่น โรคเหงือกอักเสบ ฟันผุฟันโยก โรคปริทนต์ กรามหักอันเกิดจากกระดูกติดเชื้อจากโรคปริทนต์ฝีที่รากฟัน ซึ่งปัญหาต่างๆ เหล่านี้สามารถ “ป้องกันได้” หากเราให้การดูแลสุขภาพช่องปากของสุนัขเป็นประจำครับ
@ การดูแลสุขภาพช่องปากในสุนัข ทำอย่างไร?
หลักง่ายๆ ในการดูแลสุขภาพช่องปากของสุนัขและแมวนั้น ก็คือ
1. การพาสุนัขไปพบสัตวแพทย์เพื่อตรวจร่างกายและช่องปากอย่างสม่ำเสมอ
2. ได้รับการขูดหินปูนตามช่วงเวลาและวิธีการที่เหมาะสม
3. มีการดูแลสุขภาพช่องปากสุนัขด้วยตนเองที่บ้านเป็นประจำเพื่อสังเกตความผิดปกติตั้งแต่เริ่มแรก
@ ควรพาสุนัขไปตรวจร่างกายรวมถึงตรวจสุขภาพช่องปากเมื่อไร?
โปรแกรมการตรวจร่างกายของลูกสุนัขโดยคร่าวๆ แบ่งเป็นช่วงได้ดังนี้
1. การตรวจร่างกายช่วงแรก ที่อายุ “2 เดือน”
เมื่อลูกสุนัขมีอายุประมาณ 2 เดือน หรือ 8 สัปดาห์นั้น สุนัขควรมีฟันน้ำนมขึ้นครบทั้งหมดแล้ว และควรอยู่ในแนวการสบฟันที่เหมาะสม ซึ่งหากฟันน้ำนมขึ้นผิดที่ จะสามารถทำให้การสบฟันผิดปกติไปซึ่งอาจทำให้เกิดการเจริญของขากรรไกรล่างหรือขากรรไกรบน หรือทั้งคู่ผิดปกติตามมาได้ ไปทางทฤษฎี เมื่อเห็นว่ามีฟันน้ำนมขึ้นผิดปกติสัตวแพทย์จะแนะนำให้ถอนฟันน้ำนมที่ขึ้นผิดตำแหน่งนั้นออกครับ
แต่ในการถอนฟันสุนัขและแมวนั้น จะดูยุ่งยากกว่าในคน คือต้องทำการ “วางยาสลบ” ด้วย เนื่องจากคุณหมอ (สัตวแพทย์) ไม่สามารถบอกให้คนไข้ (สุนัข) นอนอ้าปากเฉยๆ เหมือนบอกคนไข้ที่เป็นคนได้ครับ ดังนั้นจึงก่อนหน้าที่จะถอนฟัน (และวางยาสลบนั้น จึงจำเป็นต้องทำการตรวจเลือด และทำการนัดหมายล่วงหน้าก่อน เพื่อที่จะสามารถเตรียมตัวร่างกายของสุนัขและแมวให้พร้อมก่อนการวางยาสลบด้วยครับ
2. การตรวจร่างกายช่วงที่ 2 ที่อายุประมาณ “4-6 เดือน”
เมื่อลูกสุนัขมีอายุได้ 4 เดือน จะเป็นช่วงที่มีการ “ผลัดเปลี่ยนฟัน”จาก“ฟันน้ำนม” เป็น “ฟันแท้” บางตัวอาจพบว่า มีฟันแท้ขึ้นแล้วโดยที่ฟันน้ำนมที่ตำแหน่งเดียวกันยังไม่ยอมหลุด นั่นถือว่าเกิดความผิดปกติที่เรียกว่า “ฟันน้ำนมค้าง” สัตวแพทย์จะประเมินสภาพและแนะนำให้ถอนฟันน้ำนมที่ค้างเหล่านั้นออก เนื่องจากหากปล่อยไว้ ฟันน้ำนมที่ค้างอาจทำให้ฟันแท้ขึ้นผิดตำแหน่ง ก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมาได้เช่น การสบฟันที่ผิดปกติ การเจริญอย่างไม่สัมพันธ์กันของขากรรไกรบนและล่าง หรือฟันแท้ที่ขึ้นผิดตำแหน่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายของเหงือก เพดาปาก ลิ้น หรือริมฝีปากได้ แล้วแต่ตำแหน่งของฟัน โดยตำแหน่งของฟันที่พบฟันน้ำนมค้างได้บ่อยคือ ฟันตัด (ฟันหน้า) และฟันเขี้ยว ความผิดปกตินี้พบได้บ่อยในสุนัขพันธุ์เล็ก เช่น ชิวาวาปอมเมอเรเนียน พุดเดิ้ล และเป็นความผิดปกติที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมด้วยครับ
3. การตรวจร่างกายประจำปี (ปีละครั้ง)
โดยปกติ เราควรพาสุนัขไปพบสัตวแพทย์เพื่อตรวจร่างกายเป็นประจำทุก 1 ปี เพื่อรับการฉีดวัคซีนประจำปี รวมถึงตรวจสุขภาพโดยรวมทั้งช่องปากและตรวจร่างกายอื่นๆ ด้วย
@ การขูดหินปูนมีความจำเป็นต้องทำในสุนัขหรือไม่ ?
เมื่อเราสังเกตในช่องปากของสุนัขด้วยตัวเราเองที่บ้านแล้วพบว่ามีหินปูนเกาะตามคอฟัน เราควรพาไปพบสัตวแพทย์เพื่อให้สัตวแพทย์ช่วยประเมินว่าควรได้รับการขูดหินปูนแล้วหรือยัง
หากสุนัขมีหินปูนเกาะในปริมาณไม่มาก เราอาจใช้แค่การดูแลโดยเจ้าของเพื่อไม่ให้หินปูนก่อตัวเพิ่มขึ้น โดยยังไม่จำเป็นต้องขูดหินปูนก็ได้เนื่องจากการขูดหินปูนในสุนัขและแมวนั้นต้องใช้การ “วางยาสลบ”
แต่ถ้าหากพิจารณาแล้ว พบว่ามีหินปูนที่โคนฟันจำนวนมากก็ควรได้รับการวางยาสลบและทำการขูดหินปูนเสีย เนื่องจากหากปล่อยไว้นั้นจะทำให้หินปูนซึ่งจะเป็นแหล่งที่อยู่ของเชื้อโรคในช่องปาก ทำให้เกิดปัญหาเหงือกอักเสบ โรคปริทนต์ กระดูกขากรรไกรหักจากการติดเชื้อจากโรคปริทนต์ตามมาได้ ซึ่งการขูดหินปูนมีขั้นตอน และการเตรียมตัวอย่างไร สัปดาห์หน้าเรามาคุยกันครับ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.ทิลดิสร์ รุ่งเรืองกิจไกร
ผู้อำนวยการสำนักงานสภามหาวิทยาลัย
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี