โรคสมองเสื่อม หรือ dementia เป็นกลุ่มอาการที่เกิดได้จากหลายโรคที่มีการทำลายสมอง เช่น โรคAlzheimer (เป็นสาเหตุถึง 60-70%) โรคของหลอดเลือดสมอง(vascular dementia), dementia with Lewy bodies, การที่มีอุบัติเหตุต่อสมอง, dementia ที่เกิดหลังเป็นอัมพาต ฯลฯ จากมีการศึกษาน้อย, air pollution, การไม่ค่อยใช้สมอง ฯลฯ
ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก 15/3/2023 พบว่าทั่วโลกมีประชาชนมากกว่า 55 ล้านคน ที่มีโรคสมองเสื่อม มากกว่า 60% อยู่ในประเทศที่มีรายได้ต่ำ-ปานกลาง และทุกๆ ปีจะมีคนไข้รายใหม่ประมาณ 10 ล้านคนเพิ่มขึ้น
โรคสมองเสื่อมปัจจุบันนี้เป็นสาเหตุการเสียชีวิตของชาวโลกลำดับที่ 7 และเป็นสาเหตุหลักสาเหตุหนึ่งของ disability (ความพิการ หรือไร้สมรรถภาพ) และ dependency (การต้องพึ่งคนอื่น) ในผู้สูงอายุ ในปี ค.ศ.2019 โรคสมองเสื่อมนำความสูญเสียทางเศรษฐกิจทั่วโลกเป็นเงินถึง 1.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ประมาณ 50% เป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ดูแลและญาติ ซึ่งต้องดูแลผู้ป่วยโดยเฉลี่ยวันละ 5 ชั่วโมง โรคนี้มีผลต่อผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ทั้งทางตรงและทางอ้อม ประสบกับการสูญเสียปีสุขภาวะ (disability-adjusted life year : DALY) ที่สูงกว่า และมีการเสียชีวิตมากกว่าจากโรคนี้ แต่ผู้หญิงก็ยังเป็นผู้ดูแลถึง 70% ของผู้ที่เป็นโรคสมองเสื่อม
โรคสมองเสื่อมมีผลต่อความจำ ความคิด และความสามารถในการใช้ชีวิตประจำวัน เมื่อเวลาผ่านไปมักจะเป็นมากขึ้น เป็นโรคที่พบได้บ่อยในผู้มีอายุเกิน 65 ปี แต่ไม่ใช่ผู้สูงอายุทุกคนจะเป็น มีประมาณ 9% ที่เป็นในผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 65 ปี เรียกว่า young onset dementia
ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคสมองเสื่อมมีมากมาย เช่น สูงอายุ ความดันโลหิต น้ำตาลในเลือด ไขมันในเลือดสูง น้ำหนักเกินหรือ อ้วน สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์มากไป ไม่ค่อยมีการเคลื่อนไหวร่างกาย อยู่คนเดียว ไม่คบค้าสมาคมกับใคร มีโรคซึมเศร้า ฯลฯ
นอกจากปัญหาทางด้านความจำ (cognitive function) แล้ว อาจมีการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ (mood), การควบคุมอารมณ์ (emotional control), พฤติกรรม (behaviour) หรือแรงจูงใจ (motivation) โรคนี้มีผลต่อกาย จิตใจ สังคม เศรษฐกิจ สำหรับผู้ป่วย ญาติ ครอบครัว และสังคม
dementia ในระยะเริ่มแรกอาจมีอาการหลงลืม โดยเฉพาะเรื่องที่เกิดขึ้นใหม่ๆ เช่น ของหาย หรือหาไม่พบ จำไม่ได้ว่าวางไว้ที่ไหน หลงทางเมื่อไปเดินหรือขับรถออกนอกบ้าน confused (งง) แม้แต่ในที่ๆ คุ้นเคย,ไม่รู้กาลเวลา (losing track of time) แก้ปัญหาหรือตัดสินใจไม่ได้มีปัญหาในการคุยหรือเลือกคำพูด ทำหน้าที่ๆ เคยทำไม่ได้ กะระยะทางไม่ถูก ทำให้เกิดความกังวล (anxiety) ซึมเศร้า โมโห การเปลี่ยนแปลงบุคลิกภาพ (personality changes), การกระทำที่ไม่เหมาะสมหลีกเลี่ยงการทำงานและสังคม ไม่สนใจต่อความรู้สึกของผู้อื่น
โรคนี้จะเป็นมากขึ้นตามเวลา ทำให้ต้องพึ่งคนมากขึ้น อาจจำครอบครัว เพื่อน ไม่ได้ ทำให้มีปัญหาในการเคลื่อนไหวทั่วๆ ไป อาจควบคุมการขับถ่ายไม่ได้ มีปัญหาในการกิน ดื่ม อาจมีความก้าวร้าว ซึ่งเป็นปัญหาต่อตัวเองและผู้อยู่รอบข้าง
โรค dementia เมื่อเป็นแล้วปัจจุบันนี้ยังไม่มีวิธีการรักษาให้หายขาด แต่สามารถช่วยได้มากด้วยการให้การสนับสนุนผู้ป่วยและผู้ดูแล
วิธีการที่ดีที่สุด คือ ป้องกันการเกิดโรคนี้ ตั้งแต่ในยามที่ยังปกติ ด้วยการดูแลเรื่องปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่จะนำไปสู่โรคสมองเสื่อม ซึ่งปัจจัยเสี่ยงต่างๆ นี้เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อโรคต่างๆ มากมายที่เรียกรวมๆ กันว่าโรคไม่ติดต่อ หรือโรคที่เกิดจากการมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมตั้งแต่เกิด หรือที่เรียกว่า โรค Non Communicable Diseases, NCDs ฉะนั้นการดูแลป้องกันโรคสมองเสื่อมจะสามารถป้องกันโรค NCDs ได้ด้วย จึงถือได้ว่าเป็นการยิงนกนัดเดียวได้หมดทั้งฝูงเลย?!
วิธีป้องกันอีกวิธีหนึ่ง คือ ถ้าญาติพี่น้องสงสัยว่าญาติเป็นโรคนี้ ควรรีบพาไปพบแพทย์ทางด้านประสาทวิทยา เพราะถ้าเป็นจริงและได้รับการวินิจฉัยในระยะแรกๆ การรักษาจะช่วยป้องกันการเป็นมากขึ้นของโรค
สำหรับคนที่เป็นโรคนี้ ยังควรพยายามหลีกเลี่ยงรักษาปัจจัยเสี่ยงต่างๆ กินยาตามที่แพทย์แนะนำ นอกจากนั้นควรพยายามช่วยตนเองด้วยการจด เขียนงาน หรือสิ่งที่ต้องทำ จะได้ช่วยเป็นการช่วยจำ พยายามมีงานอดิเรกและทำสิ่งที่ชอบ โดยเฉพาะของใหม่ๆ ใช้สมอง ใช้เวลากับสังคม ชุมชน ญาติพี่น้อง วางแผนล่วงหน้า เลือกคนที่ไว้ใจไว้ช่วยในการตัดสินใจต่างๆ เวลาไปไหนพกบัตรประชาชนที่มีที่อยู่ และบุคคลที่ต้องติดต่อในยามฉุกเฉิน
สำหรับผู้ดูแลผู้ที่เป็นโรคนี้ ต้องรู้จักวิธีการดูแลจากแพทย์และต้องรู้จักดูแลตนเองด้วย เพราะเป็นภาระที่หนักมาก ต้องมีเวลาสำหรับตนเองได้พักบ้าง
เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2566 แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่าในปี 2565 มีผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อมจำนวน 770,000 คน หรือประมาณร้อยละ 6 ของจำนวนผู้สูงอายุรวมทั้งประเทศ และพบว่ามีจำนวนสูงขึ้นในทุกๆ ปี เฉลี่ยปีละ 100,000 คน
ป้องกันทุกๆ โรคไว้ดีกว่าครับ
นพ.พินิจ กุลละวณิชย์
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี