ในทศวรรษที่ผ่านมา มีการระบาดอย่างหนักของโรคติดเชื้อไวรัสที่นำโดยยุงและแมลงที่กัดคนในทวีปอเมริกาใต้ เช่น การระบาดของเชื้อไวรัสซิกาในปี พ.ศ. ๒๕๕๘-๒๕๕๙ ทำให้หญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อ คลอดทารกที่มีศีรษะเล็กเพราะเนื้อสมองไม่โตตามวัย และยังมีการระบาดของโรคชิคุนกุนยาและไข้เดงกี ซึ่งในปี พ.ศ. ๒๕๖๗ นี้ ประเทศบราซิลประสบปัญหากับจำนวนผู้ป่วยที่ติดเชื้อเหล่านี้เพิ่มมากขึ้นเป็นพิเศษ นอกจากนี้ภูมิภาคนี้ยังเผชิญกับการกลับมาของเชื้อไวรัสชนิดอื่นที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก คือ ไวรัสโอโรพูช (Oropouche virus) และพบผู้ป่วยที่ติดเชื้อนี้ในระดับสูงอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนเช่นกัน จนถึงวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๖๗ มีการรายงานผู้ป่วยไข้โอโรพูชที่ยืนยันแล้วจำนวน ๘,๐๗๘ ราย ในภูมิภาคนี้ จากประเทศโบลิเวีย บราซิล โคลอมเบีย และเปรู ผู้ป่วยไข้โอโรพูช รายแรกพบในคิวบาซึ่งต่อมาได้กลายเป็นโรคประจำถิ่น ต่อมามีรายงานผู้ป่วยไม่กี่รายในประเทศอิตาลีและสเปน แต่เป็นนักท่องเที่ยวที่เดินทางกลับมาจากคิวบา
เชื้อไวรัสโอโรพูชเป็นไวรัสที่อยู่ในวงศ์ Peribunyaviridae และสกุล Orthobunyavirus เป็นไวรัสที่มีเปลือกหุ้ม รูปร่างกลม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางอยู่ระหว่าง ๘๐-๑๒๐ นาโนเมตร เชื้อถูกค้นพบครั้งแรกในหมู่บ้านโอโรพูช ในตรินิแดดและโตเบโกในปี พ.ศ. ๒๔๙๘ ตั้งแต่นั้นมา เชื้อไวรัสชนิดนี้แพร่ระบาดอย่างจำกัดในพื้นที่บางส่วนของอเมริกาใต้ โดยมีรายงานผู้ติดเชื้อในพื้นที่ใกล้ป่า เช่น อเมซอน เชื้อไวรัสอยู่ในสลอธที่มีคอสีซีดลิงและนก และถูกแพร่กระจายโดยตัวริ้น (Culicoidesparaensis) และยุงลาย (Aedes spp. และ Culex spp.) อย่างไรก็ตาม การระบาดที่กำลังเกิดขึ้นพบในผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ห่างไกลจากป่า ซึ่งบ่งชี้ว่ามีวงจรการติดเชื้อในเขตเมืองด้วย ทั้งนี้มีสาเหตุจากโลกร้อนและการเดินทางของนักท่องเที่ยวเข้าป่าและกลับสู่เมือง ยังไม่พบหลักฐานการแพร่ระบาดจากคนสู่คน
แม้ว่าจนถึงปัจจุบัน จะมีผู้ป่วยไข้โอโรพูชรวมถึง ๕๐๐,๐๐๐ ราย ตั้งแต่การค้นพบไวรัส แต่ความรู้เกี่ยวกับโรคนี้ยังมีน้อย ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการเล็กน้อยคล้ายกับไข้เดงกี เช่น ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ คลื่นไส้ และผื่น ในบางรายเกิดเยื่อหุ้มสมองและไขสันหลังอักเสบและเนื้อสมองอักเสบได้ เมื่อวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๖๗ มีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้เป็นหญิงชาวบราซิลอายุน้อย ๒ ราย ที่ไม่มีโรคอื่นร่วม เป็นครั้งแรก ขณะนี้ความกังวลของการติดเชื้อไวรัสโอโรพูชยังอยู่ที่การแพร่เชื้อจากแม่สู่ลูก การติดเชื้อในหญิงระหว่างตั้งครรภ์ ความพิการของทารกแต่กำเนิด และการแท้ง บราซิลรายงานการตายของทารกในครรภ์หนึ่งรายและการแท้งอีกหนึ่งรายในรัฐเปร์นัมบูโก รวมถึงมีรายงานทารกแรกเกิดที่มีภาวะศีรษะเล็ก ๔ ราย และยังมีการสอบสวนการตายของทารกในครรภ์อีกอย่างน้อย ๓ ราย ในขณะนี้
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์อมร ลีลารัศมี
ทำไมจึงมีการติดเชื้อไวรัสโอโรพูชเกิดมากขึ้นอย่างกะทันหันในพื้นที่ที่ไม่เคยมีการรายงานมาก่อน คำตอบจะเหมือนกับสาเหตุที่มีการกระจายของโรคที่มียุงหรือแมลงที่กัดคนเป็นพาหะ เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเคลื่อนย้ายและพฤติกรรมของมนุษย์และสัตว์ การตัดไม้ทำลายป่า และการใช้ที่ดินในป่า ปัจจัยหนึ่งที่เป็นไปได้ คือ การกลายพันธุ์ของยีนของเชื้อไวรัสโอโรพูชซึ่งมี RNA สามส่วน ในขณะที่เชื้อไวรัสชนิดอื่นส่วนใหญ่ที่แพร่กระจายโดยแมลงและยุงประกอบด้วย RNA เพียงหนึ่งส่วน RNA สามส่วนนี้ถูกกำหนดว่าเป็น Large (L), Medium (M) และ Small (S) และทำหน้าที่ต่างๆกันตั้งแต่การมุดเข้าไปในเซลล์มนุษย์ การเพิ่มสำเนายีน การต่อต้านภูมิคุ้มกันและการปล่อยหลุดออกจากเซลล์หลังทำสำเนายีนและห่อหุ้มยีนเสร็จแล้ว การกลายพันธุ์อาจเกิดจากการแลกเปลี่ยนยีนส่วนต่างๆ และการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมเหล่านี้อาจส่งผลต่อความสามารถของไวรัสในการติดเชื้อ การก่อโรค การแพร่กระจาย และเชื้อสามารถหลบเลี่ยงระบบภูมิคุ้มกันและพัฒนาความต้านทานต่อยา มีหลักฐานเบื้องต้นว่าการแลกเปลี่ยนอาจเป็นสาเหตุของการระบาดในปัจจุบัน ผู้เชี่ยวชาญกังวลว่า หากการระบาดของไข้โอโรพูชยังขยายตัวต่อไป อาจทำให้ระบบสาธารณสุขของอเมริกาใต้ที่มีทรัพยากรจำกัดอยู่แล้ว ต้องเผชิญกับความท้าทายมากขึ้น นอกจากนี้ การมีรายงานผู้ป่วยที่นำเข้าไปที่ยุโรปโดยนักเดินทางท่องเที่ยว จะทำให้โรคระบาดในวงกว้างได้มากขึ้นในภูมิภาคอื่นๆ ที่ไม่เคยมีโรคนี้มาก่อน
การควบคุมการระบาดของไข้โอโรพูชจะทำอย่างไร เนื่องจากยังไม่มีวัคซีนหรือยาซึ่งอยู่ในระหว่างการศึกษาวิจัย การควบคุมทั่วไปสำหรับโรคที่มีแมลงหรือยุงเป็นพาหะ ได้แก่ การป้องกันยุงกัด เช่น สเปรย์พ่นกันยุง และการกำจัดแมลงหรือยุงโดยใช้ยาเคมีฆ่าแมลง เช่น เดลตามีทรินและ N, N-Diethyl-meta-toluamide ซึ่งมีประสิทธิภาพในการกำจัด Culicoides และ Culex คำแนะนำสำหรับคนไทยที่เดินทางไปในทวีปอเมริกาใต้และแคริบเบียน ให้สวมเสื้อและกางเกงขายาวเพื่อป้องกันยุงและตัวริ้นกัด ทาโลชั่นกันยุง และหลีกเลี่ยงการในสถานที่ที่มียุงหรือแมลงเยอะ หากเดินทางกลับประเทศไทยแล้วมีอาการไข้เฉียบพลัน หนาวสั่น ปวดหัวปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ ปวดกระบอกตา และผื่น ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ และรีบไปพบแพทย์ แจ้งประวัติการเดินทาง เพื่อดำเนินการสอบสวนและควบคุมโรคต่อไป
การเพิ่มจำนวนผู้ป่วยไข้โอโรพูชอย่างรวดเร็วในอเมริกาใต้ในขณะนี้ ทำให้เห็นถึงความสำคัญของการเพิ่มความตระหนักรู้และการเฝ้าระวังที่ดีขึ้นสำหรับประชากรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีโรคประจำถิ่นและสำหรับนักเดินทางเข้า-ออกในทวีปอเมริกาใต้ ต้องมีการให้บริการการทดสอบวินิจฉัยการติดเชื้อไวรัสโอโรพูชในสถานพยาบาลสาธารณะเพื่อตรวจหาการติดเชื้อไวรัสเหล่านี้ ต้องมีการลงทุนในระบบเฝ้าระวังการตรวจสอบพันธุกรรมและการวิจัยที่เพิ่มความรู้ความเข้าใจไข้โอโรพูชและพัฒนายาและวัคซีน สิ่งเหล่านี้มีความจำเป็นเพื่อพัฒนามาตรการควบคุมและการบำบัดที่สามารถช่วยเราเผชิญหน้ากับภัยคุกคามใหม่ต่อสุขภาพทั่วโลกในขณะนี้
เอกสารอ้างอิง
● Editorial. Oropouche fever, the mysteriousthreat. The Lancet Infectious Diseases. August 08, 2024 DOI:https://doi.org/10.1016/S1473-3099(24)00516-4.
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี