ศาสตราจารย์นายแพทย์ อมร ลีลารัศมี
รองอธิการบดี ม. สยาม
อดีตนายกแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ
วันที่ 23 สิงหาคม 2567
เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2567 องค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้การระบาดของโรคฝีดาษวานร (Mpox) เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศเป็นครั้งที่สองในรอบ 2 ปี หลังจากพบการระบาดอย่างรุนแรงครั้งใหม่ในต้นปีที่ผ่านมาในหลายประเทศในภูมิภาคแอฟริกากลางและตะวันออกและเริ่มพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ 1b นอกทวีปแอฟริกาด้วย พร้อมทั้งขอความร่วมมือจากทุกประเทศ ทุกองค์กร พร้อมกับสมาคมแพทย์นานาชาติ (World Medical Association) ให้ทุ่มเททรัพยากรที่มีอยู่เพื่อช่วยวินิจฉัยโรคให้เร็ว ช่วยให้ผู้ติดเชื้อเข้าถึงการดูแลรักษาได้ง่าย และควบคุมการระบาดของโรคฝีดาษวานรให้มีประสิทธิภาพทั้งภายในประเทศของตนและช่วยเหลือประเทศที่เป็นดงระบาดของโรคในทวีปแอฟริกาด้วย
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคฝีดาษวานรพบว่า ในช่วงหกเดือนแรกของปี 2567 มีผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันแล้วจำนวน 1,854 ราย จากรัฐสมาชิกในภูมิภาคแอฟริกาซึ่งคิดเป็นร้อยละ 36 ของจำนวนผู้ป่วย 5,199 ราย ที่พบทั่วโลกและผู้ป่วยจำนวน 1,754 ราย จาก 1,854 ราย หรือร้อยละ 95 พบในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก(DRC) ซึ่งกำลังเผชิญกับการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยค่อนข้างเร็ว โดยมีผู้ป่วยที่มีลักษณะทางคลินิกเข้าข่ายโรคนี้มากกว่า 15,000 ราย และมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 500 ราย ซึ่งเป็นจำนวนที่มากกว่าจำนวนผู้ป่วยที่พบใน DRC ในปี 2566 เชื้อที่ระบาดใน DRC เกิดจากสายพันธุ์ (Clade) กลุ่ม 1 และกลุ่ม 1b โดยการศึกษาในอดีตในปี ค.ศ. 1980 พบอัตราการเสียชีวิตประมาณร้อยละ 10 และมักก่อโรคในเด็กและในผู้หญิง อัตราตายในขณะนี้อยู่ที่ร้อยละ 3.2 ในเด็ก สายพันธุ์นี้แตกต่างจากการระบาดนอกทวีปแอฟริกาเมื่อ 2 ปีก่อนที่พบว่าเชื้อก่อโรคเป็นสายพันธุ์ 2bซึ่งมีอัตราตายต่ำเพียงร้อยละ 0.2
หลังการประกาศภาวะฉุกเฉินฯ ครั้งที่สองขององค์การอนามัยโลกไม่ถึง 1 สัปดาห์ สวีเดนกลายเป็นประเทศแรกนอกทวีปแอฟริกาที่รายงานผู้ติดเชื้อฝีดาษวานร สายพันธุ์ 1b ในบ่ายวันพฤหัสบดีที่ 15 สิงหาคม 2567 ทั้งๆ ที่ยังคงพบผู้ติดเชื้อฝีดาษวานรสายพันธุ์ 2b ในยุโรปประมาณ 100 รายทุกเดือน ส่วนปากีสถานพบผู้ป่วยฝีดาษวานร(คาดว่าเกิดจากสายพันธุ์ 1b)ที่เดินทางกลับมาจากทวีปแอฟริกา กระทรวงสาธารณสุข ฟิลิปปินส์ก็ได้รายงานผู้ป่วยโรคฝีดาษวานรรายแรกในปีนี้เมื่อวันอาทิตย์ 18 สิงหาคม โดยระบุว่าผู้ป่วยรายนี้เป็นชายสัญชาติฟิลิปปินส์ อายุ 33 ปี ไม่มีประวัติการเดินทางออกนอกประเทศ แต่มีประวัติการสัมผัสใกล้ชิด 3 สัปดาห์ก่อนเริ่มมีผื่น เข้าใจว่า อาจจะเกิดจากสายพันธุ์ 1b รายนี้จะตอกย้ำว่า การระบาดนอกทวีปแอฟริกาของสายพันธุ์ 1b ที่ดุร้ายกว่า ได้เริ่มขึ้นอีกแล้วและอาจจะไม่มีวันเลิกราไปอีกนาน
สำหรับประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นมาพบผู้ป่วยยืนยัน 827 ราย เป็นเพศชายถึงร้อยละ 98 ส่วนใหญ่ติดเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์ซึ่งถือว่า เป็นการสัมผัสอย่างใกล้ชิดโดยเฉพาะในกลุ่มชายรักชาย ในปี 2567 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-3 สิงหาคม พบผู้ป่วยยืนยัน 140 ราย ทุกรายเป็นสายพันธุ์ 2b และแล้วเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม ประเทศไทยก็พบผู้ติดเชื้อเป็นชาวยุโรปอายุ 66 ปี เพิ่งกลับมาจาก DRCในทวีปแอฟริกา และเดินทางมาถึงประเทศไทยวันที่ 14 สิงหาคม 2567 เวลา 18.00 น. ผู้ป่วยรายนี้มีผื่น มีไข้ ในวันรุ่งขึ้นและมีลักษณะคลินิกเข้าได้กับโรคฝีดาษวานร จึงเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง การตรวจตัวอย่างจากตุ่มหาเชื้อสายพันธุ์ 2b ให้ผลลบ จึงทำให้สงสัยว่ารายนี้จะเป็นรายแรกในประเทศไทยที่ติดเชื้อสายพันธุ์ 1b ขณะนี้เริ่มมีการรายงานการแพร่กระจายของเชื้อสายพันธุ์ 1b นอกทวีปแอฟริกามากขึ้นเรื่อยๆ และเชื่อว่ายังมีผู้ติดเชื้อในระยะฟักตัวของโรคจากสายพันธุ์ 1b อีกจำนวนมากซึ่งยังไม่แสดงอาการออกมา
เชื้อไวรัสฝีดาษวานร (Mpox)
เชื้อไวรัสฝีดาษวานรมี 2 สายพันธุ์หลัก ได้แก่
1.สายพันธุ์คลาสสิก (West African clade หรือ clade 2) : สายพันธุ์นี้มักพบในพื้นที่แถบแอฟริกาตะวันตกและมีความรุนแรงน้อยกว่า อัตราตายต่ำอยู่ที่ประมาณร้อยละ 0.2 เมื่อปี 2565 สายพันธุ์นี้ระบาดหนักไปนอกทวีปแอฟริกาถึง 116 ประเทศ และมีผู้ติดเชื้อทั้งหมดจำนวนหนึ่งแสนราย เชื้อที่ก่อโรคกลายพันธุ์มาเป็นสายพันธุ์ 2b
2.สายพันธุ์คองโก (Congo Basin clade หรือ clade 1) : สายพันธุ์นี้พบในแอฟริกากลางและแอฟริกาตะวันออกมีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่าและมีความรุนแรงมากกว่า ในอดีตเคยพบว่า อัตราตายอยู่ที่ร้อยละ 10 ในเดือนกรกฎาคมปีนี้เริ่มพบว่ามีการระบาดออกนอกทวีปแอฟริกา จนองค์การอนามัยโลก ต้องประกาศเป็นภาวะฉุกเฉินทางสาธารณะระหว่างประเทศเป็นครั้งที่สองเมื่อวันที่ 14 สิงหาคมนี้เอง
วิธีการติดต่อของเชื้อฝีดาษวานร
มีข้อมูลที่ชัดเจนว่า การมีเพศสัมพันธ์เป็นวิธีหลักที่ทำให้เกิดการสัมผัสอย่างใกล้ชิดและยาวนานเพียงพอที่จะแพร่เชื้อจากผู้ป่วยไปสู่รายใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการสัมผัสหรือการมีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอด/ทางทวารหนัก) ปากต่อปาก (การจูบ) ปากต่อผิว (การมีเพศสัมพันธ์ทางปากหรือการจูบที่ผิวหนัง) วิธีการอื่นๆ เช่น การสัมผัสโดยตรงจากมือไปถูกผื่น ตุ่มหนอง น้ำหนองของผู้ป่วย หรือสิ่งของปนเปื้อนของผู้ป่วย เป็นวิธีรองลงมา ส่วนการติดเชื้อจากการสูดดมละอองฝอยที่มีเชื้อปนเปื้อนเข้าไปในทางเดินหายใจ เช่น การไอ จาม หรือการพูดคุยกับผู้ป่วยในระยะ 1 เมตรเป็นไปได้ยากมากและไม่เหมือนเชื้อ SARS-CoV-2 เพราะเชื้อไวรัส Mpox มีขนาดใหญ่เป็นสองเท่าของ SARS-CoV-2 ซึ่งทำให้เชื้อ Mpox แทบจะลอยอยู่ในอากาศได้ไม่นานเท่า นอกจากนี้การสัมผัสใกล้ชิดกับสัตว์ที่ติดเชื้อ เช่น ลิง หนู และกระรอกในดงระบาด อาจจะเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ผู้ป่วยไปรับเชื้อได้
ลักษณะคลินิก
ระยะเวลาฟักตัวของโรค Mpox อยู่ประมาณ 5-21 วันโรคฝีดาษวานรมีอาการดังนี้ :
● ไข้ : มักเป็นอาการเริ่มต้น มีไข้ ไข้สูงและอาจจะหนาวสั่น
● อาการปวด : ปวดตามกล้ามเนื้อและปวดศีรษะ
● อ่อนเพลีย : รู้สึกอ่อนเพลียและไม่ค่อยมีแรง
● ต่อมน้ำเหลืองโต : ต่อมน้ำเหลืองอาจบวมและเจ็บ โดยเฉพาะบริเวณใกล้กับจุดที่ติดเชื้อ เช่น ที่ขาหนีบ รักแร้ คอ
● ผื่นหรือตุ่ม : จะเริ่มมีผื่นหรือตุ่มน้ำที่ผิวหนังขึ้นตามใบหน้า ร่างกาย ฝ่ามือ ฝ่าเท้าหลังจากมีไข้ 1-3 วัน แต่ในบางรายอาจจะมีก่อนมีไข้ได้ ผื่นจะกลายเป็นตุ่มที่มีน้ำใสในระยะแรกหรือแผล(อาจมีลักษณะคล้ายฝีดาษ) ตุ่มน้ำจะมีขนาดใกล้เคียงกัน (ไม่เหมือนไข้สุกใสที่มีตุ่มน้ำขนาดแตกต่างกันในช่วงเวลาเดียวกันและไม่มีต่อมน้ำเหลืองโต)
● อาการอื่นๆ : อาจมีอาการคล้ายไข้หวัด เช่น คออักเสบ หรือตาแดง
ผู้ติดเชื้อที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น ผู้ที่มีโรคประจำตัว กินยากดภูมิคุ้มกัน หรือผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ อาจมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้
ยาต้านไวรัสฝีดาษวานร
ยาที่ใช้รักษาโรคฝีดาษวานร (Mpox) มีดังนี้:
1.Tecovirimat (TPOXX) : เป็นยาที่ได้รับการอนุมัติสำหรับการรักษาโรคฝีดาษ รวมถึงฝีดาษวานร
2.Cidofovir : อาจใช้ในกรณีที่รุนแรง ร่วมกับ tecovirimat ในการรักษารายที่ป่วยรุนแรง
3.Brincidofovir : เป็นยาที่คล้ายกับ cidofovir และกำลังมีการศึกษาเพื่อใช้ในการรักษา
หากไม่ได้รับยาต้านไวรัส โรคอาจจะหายได้เองใน 2-4 สัปดาห์ อัตราตายของโรคฝีดาษวานรสายพันธุ์ 1b อาจจะอยู่ที่ร้อยละ 3.2 ซึ่งต้องรอการยืนยันจากการศึกษาที่ครบถ้วนอีกครั้ง
(อ่านต่อสัปดาห์หน้า)
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี