เครื่องช่วยฟัง เป็นอุปกรณ์เทคโนโลยีชนิดหนึ่งที่มีคุณสมบัติขยายสัญญาณเสียงเพื่อช่วยให้ได้ยินชัดขึ้นในผู้ป่วยที่มีปัญหาการได้ยิน การซื้อเครื่องช่วยฟังที่ถูกต้องควรได้รับการตรวจประเมินระดับการได้ยินเพื่อคำนวณหากำลังขยายของเสียงในแต่ละความถี่ที่ควรจะได้รับ และมีการตรวจระดับการได้ยินขณะใส่เครื่องช่วยฟังเพื่อประเมินประโยชน์ที่ได้รับจากเครื่องช่วยฟัง การซื้อเครื่องช่วยฟังเองตามอินเตอร์เนตโดยไม่มีการประเมินระดับการได้ยินและตรวจวัดอย่างละเอียดจากนักแก้ไขการได้ยินหรือโสต ศอ นาสิกแพทย์ อาจทำให้ได้รับเครื่องช่วยฟังที่มีกำลังขยายมากเกินความจำเป็น ส่งผลให้ประสาทหูเสื่อมเพิ่มได้
เครื่องช่วยฟังประกอบด้วยอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ คือ ไมโครโฟน ทำหน้าที่รับสัญญาณเสียงจากภายนอกส่งต่อไปยังตัวขยายเสียง หลังจากนั้นเสียงจะถูกปล่อยผ่านทางลำโพงเข้าสู่ช่องหูของผู้ใช้งานเพื่อกระตุ้นเซลล์ประสาทหูชั้นใน
ผู้ที่สูญเสียการได้ยินชนิดประสาทหูเสื่อมระดับรุนแรงอาจไม่ได้รับประโยชน์จากการใช้งานเครื่องช่วยฟังมากนัก ส่วนใหญ่มักได้ยินเพียงสัญญาณเสียงแต่ฟังคำพูดไม่เข้าใจ เนื่องจากเซลล์ประสาทในหูชั้นในได้ถูกทำลายลงไปเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตามผู้ที่สูญเสียการได้ยินระดับรุนแรงก็ควรใช้งานเครื่องช่วยฟัง เพื่อประโยชน์ในการรับสัญญาณเสียงจากสิ่งแวดล้อมและเสียงเตือนเพื่อป้องกันอันตรายจากการที่ไม่รับรู้เสียง
ปัจจุบันเครื่องช่วยฟังมีหลากหลายรูปแบบ มีข้อดีและข้อจำกัดแตกต่างกันไป ซึ่ง 2 รูปแบบหลักที่นิยมใช้กัน ได้แก่
1.เครื่องช่วยฟังแบบทัดหลังใบหู นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย เนื่องจากตัวเครื่องมีลักษณะใหญ่หยิบจับได้สะดวกตัวเครื่องจะถูกทัดบริเวณหลังใบหู มีท่อเชื่อมต่อระหว่างตัวเครื่องและพิมพ์หู (ear mold) ที่มีลักษณะ เฉพาะสำหรับช่องหูแต่ละคนซึ่งบางคนอาจมองถึงรูปลักษณ์ที่อาจมองเห็นได้ง่ายและไม่สะดวกในการใช้งานร่วมกับการใส่แว่นตาหรือหน้ากากอนามัย
2.เครื่องช่วยฟังแบบจำเพาะ เป็นเครื่องช่วยฟังอีกรูปแบบหนึ่งที่ตัวโครงสร้างของเครื่องจะถูกผลิตให้มีความจำเพาะกับลักษณะของช่องหูในแต่ละบุคคล ตัวเครื่องและส่วนประกอบทั้งหมดอยู่ในช่องหู ไม่มีส่วนประกอบยื่นออกมาภายนอกทำให้สังเกตเห็นได้ยาก ตัวเครื่องมีขนาดเล็ก ซึ่งอาจไม่เหมาะกับกลุ่มผู้สูงอายุที่มีความยากลำบากในการหยิบจับ รวมทั้งตัวเครื่องอยู่ในช่องหูอาจมีโอกาสสัมผัสความชื้นมากกว่าเครื่องช่วยฟังแบบทัดหลังใบหู ทำให้เครื่องช่วยฟังแบบจำเพาะมีโอกาสเสียได้ง่ายมากกว่า จึงต้องระมัดระวังในการใช้งานและเพิ่มการดูแลรักษาทำความสะอาด
การใส่เครื่องช่วยฟังอาจพบปัญหา เช่น มีเสียงหวีดหรือเสียงก้องรบกวน ฟังคำพูดไม่ชัด หรือรู้สึกอึดอัดแน่นหู ผู้ใช้งานควรเข้ารับบริการใส่เครื่องช่วยฟังกับนักแก้ไขการได้ยิน หรือโสต ศอ นาสิกแพทย์ เพื่อแก้ปัญหาที่พบและรับคำแนะนำในการดูแลรักษาเครื่องช่วยฟังได้อย่างเหมาะสม สำหรับผู้ที่สนใจจะเบิกเครื่องช่วยฟัง สามารถติดต่อเข้ารับบริการได้ ณ โรงพยาบาลที่มีโสต ศอ นาสิกแพทย์ประจำการ ตามสิทธิที่พึงมี ได้แก่ สิทธิข้าราชการ สิทธิหลักประกันสุขภาพ (โดยขึ้นทะเบียนคนพิการและเปลี่ยนสิทธิการรักษาเป็นสิทธิคนพิการ ท.74) และสิทธิประกันสังคม
ที่มา : https://www.healthyhearing.com/help/hearing-aids/types
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี