มีแพทย์และเภสัชกรบางคนเผยแพร่ข้อมูลที่ผิดบนโซเชียลมีเดีย โดยกล่าวว่ายาลดไขมันกลุ่มสแตติน (statin) อาจทำให้ไตเสื่อมหรือไตวาย เช่น มีการกล่าวว่า “สาเหตุอันดับ 1 ของไตวายคือยา โดยเฉพาะยาลดไขมันสแตติน”และ “สแตตินทำให้ไตอักเสบและไตเสื่อมเรื้อรัง หากทานยานี้เป็นเวลาหลายปี อาจต้องล้างไต” ข้อมูลเหล่านี้ไม่ถูกต้องและทำให้เกิดความเข้าใจผิด
สาเหตุหลักของไตวายคือยาใช่หรือไม่?
ตามเอกสารของสมาคมโรคไต โรคไตเรื้อรังส่วนใหญ่เกิดจากโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง ส่วนสาเหตุอื่นๆ ได้แก่ นิ่วในไต, โรคเกาต์, การใช้ยาแก้ปวดเป็นเวลานาน, และโรคถุงน้ำในไต ไม่มีข้อมูลว่าสแตตินเป็นสาเหตุของไตอักเสบหรือโรคไตเรื้อรัง
ยากลุ่มสแตตินคืออะไร?
สแตตินเป็นยาลดไขมันที่ช่วยลดคอเลสเตอรอลชนิดแอลดีแอล (ไขมันไม่ดี) และไขมันไตรกลีเซอร์ไรด์ โดยเพิ่มคอเลสเตอรอลชนิดเอชดีแอล (ไขมันดี) ในเลือด ประกอบด้วยหลายชนิด เช่น ซิมวาสแตติน, เอทอวาร์สแตติน, โรซูวาสแตติน, และพราวาสแตติน เป็นต้น
ทำไมแพทย์จึงจ่ายยาสแตติน?
แพทย์จะจ่ายยาสแตตินให้กับผู้ป่วยที่มีโรคหลอดเลือดหัวใจหรือสมองเพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำ และยังแนะนำให้ใช้ในผู้ที่มีความเสี่ยงสูงในการเกิดโรคเหล่านี้เพื่อป้องกัน
ยาสแตตินเป็นอันตรายต่อไตหรือไม่?
ข้อมูลจากฐานข้อมูลทางการแพทย์และเอกสารกำกับยาของสแตตินทุกชนิดระบุชัดเจนว่ายานี้ไม่มีผลต่อการทำงานของไต และไม่ได้เป็นสาเหตุของไตอักเสบหรือโรคไตเรื้อรัง
กรณีที่สแตตินอาจทำให้เกิดไตวาย
การใช้สแตตินอย่างไม่ถูกวิธี เช่น ใช้ร่วมกับยากลุ่มไฟเบรต ใช้ยาในขนาดสูงมาก หรือไม่ปรับขนาดยาให้เหมาะสมสำหรับผู้ที่มีการทำงานของไตบกพร่อง เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะกล้ามเนื้อลายสลาย ซึ่งนำไปสู่ภาวะไตวายเฉียบพลันได้
ความเสี่ยงของภาวะกล้ามเนื้อลายสลาย
ภาวะนี้พบได้ประมาณ 1 ใน 22,727 รายที่ใช้ยา ซึ่งนับว่าพบได้น้อยมาก นอกจากนี้ภาวะไตวายเฉียบพลันยังไม่ได้เกิดขึ้นกับผู้ที่มีกล้ามเนื้อลายสลายทุกราย โดยมีโอกาสเกิดประมาณ 1 ใน 5 ราย ดังนั้น โอกาสเกิดไตวายจากสแตตินจึงมีเพียง 1 ใน 100,000 รายที่ใช้ยา
เมื่อไหร่ไม่ควรใช้สแตติน?
ห้ามใช้สแตตินในผู้ที่แพ้ยานี้, เป็นโรคตับ, ตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร และห้ามใช้ร่วมกับยาบางชนิด เช่น เจมไฟโบรซิล(เป็นยาลดไขมันไตรกลีเซอร์ไรด์) และอิริโทรมัยซิน (เป็นยาปฏิชีวนะ) ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงของภาวะกล้ามเนื้อลายสลาย
ผลข้างเคียงที่สำคัญของสแตตินมีอะไรบ้าง
ผู้ใช้สแตตินน้อยรายอาจได้รับผลข้างเคียงต่อไปนี้ : ปวดศีรษะ ปวดท้อง ท้องผูก คลื่นไส้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้ออ่อนแรง ตะคริว อ่อนเปลี้ยเพลียแรง มองเห็นภาพไม่ชัด หรือเอนซัยม์ตับเพิ่มสูงขึ้น หากเกิดอาการผิดปกติหลังใช้ยาควรแจ้งแพทย์ผู้รักษา
ผลเสียของการเชื่อข้อมูลผิดๆ จากคลิป
หากผู้ป่วยที่มีโรคหัวใจหรือสมองขาดเลือดหยุดใช้สแตตินโดยไม่ปรึกษาแพทย์ผู้รักษา โรคอาจกลับเป็นซ้ำทำให้พิการหรือเสียชีวิตก่อนวัยอันควร นอกจากนี้ในผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรค การปฏิเสธยาที่ควรใช้จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคซึ่งอาจทำให้พิการหรือติดเตียง ส่งผลเสียต่อคุณภาพชีวิตและระบบเศรษฐกิจของประเทศ
พฤติกรรมการใช้ยาอย่างสมเหตุผลเกี่ยวกับสแตติน
1. ตระหนักว่าสแตตินช่วยป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือดสมองในผู้ที่มีความเสี่ยงสูง
2. เมื่อมีข้อบ่งชี้ในการใช้ ควรใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ไม่หยุดยาเอง
3. ตระหนักว่าเมื่อใช้ยาตามข้อบ่งชี้ ประโยชน์ที่ได้จากสแตตินสูงกว่าความเสี่ยงของอันตราย
4. หากไม่มีข้อบ่งชี้ ไม่แสวงหายามาใช้เอง เพื่อหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงหรืออันตรายที่อาจเกิดขึ้น
5. ใช้สแตตินด้วยขนาดยาที่เหมาะสม ไม่น้อยไปไม่มากไป
6. ประชาชนควรมีความรู้ที่ถูกต้องและไม่กลัวการใช้สแตตินจนปฏิเสธการรักษาหรือหยุดใช้ยาที่แพทย์สั่ง
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี