โลหิตในร่างกายมีประมาณ 5-6 ลิตร ซึ่งหมุนเวียนไปทั่วร่างกาย โดยมีหัวใจเป็นเครื่องปั๊มโลหิต ซึ่งประกอบไปด้วย น้ำออกซิเจน อาหาร ไปสู่อวัยวะต่างๆ ของร่างกาย จากหลอดเลือดแดงใหญ่สุด (aorta) ไปจนถึงหลอดเลือดฝอย (capillaries) ไปยังเซลล์ต่างๆ จากเซลล์เลือดจะนำของเสียรวมทั้งก๊าซ CO2ไปกำจัดที่ปอดและไต (วงจร คือ จากหลอดเลือดดำไปหัวใจ ไปปอด ไปหัวใจ แล้วไปทั่วร่างกาย)
ในเลือดจะมีเม็ดเลือดแดง (มี hemoglobin ซึ่งเป็นโปรตีนที่คอยจับ O2) เม็ดเลือดขาวที่เป็นทหารคอยต่อสู้กับเชื้อโรคต่างๆ เป็นภูมิคุ้มกัน เกล็ดเลือดที่จะช่วยให้โลหิตแข็งตัวเวลามีเลือดออกและพลาสมา นอกจากนั้นเลือดยังมีความสำคัญในการรักษาความสมดุลของของเหลวและสารต่างๆ ในร่างกาย น้ำ อิเล็กโทรไลต์ ฮอร์โมน และค่า pH (ความเป็นกรด ด่าง)ให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ รวมทั้งควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย เลือดมีบทบาทในการระบายความร้อนจากอวัยวะภายในไปยังผิวหนังเพื่อช่วยลดอุณหภูมิของร่างกาย
ปริมาณเลือดในร่างกายจะขึ้นอยู่กับขนาดและน้ำหนักตัว ในชายอาจมี 5-6 ลิตร หญิง 4-5 ลิตร ตับและม้ามมีเลือดสำรองไว้มาก และมีบทบาทในการกำจัดเซลล์เม็ดเลือดที่เสียหายหรือหมดอายุ
คนที่มีปริมาณโลหิตน้อย หรือเป็นโรคโลหิตจาง (anaemia) คือ ร่างกายมีปริมาณเม็ดเลือดแดง หรือฮีโมโกลบิน (heamoglobin)ต่ำกว่าปกติ ซึ่งจะทำให้ร่างกายได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอทำให้เกิดอาการต่างๆ ได้ สาเหตุต่างๆ ของโรคโลหิตจาง มีมากมาย เช่น
1) ไม่มีการสร้างเม็ดเลือดแดง เช่น โรคไต โรคไขกระดูก เช่น โรคมะเร็ง โรคไขกระดูกฝ่อ โรคเรื้อรังต่างๆ ฯลฯ หรือการขาดสารต่างๆ ที่สำคัญสำหรับการสร้างเลือด เช่น ขาดธาตุเหล็ก folate,วิตามิน B12 ฯลฯ
2) การเสียเลือด เช่น อุบัติเหตุ แผลมะเร็งในกระเพาะอาหาร ลำไส้ใหญ่ ฯลฯ
3) มีการทำลายเม็ดเลือดแดงก่อนกำหนด จากโรคต่างๆ ทั้งนี้เม็ดเลือดแดงปกติมีอายุ 120 วัน
องค์การอนามัยโลกแนะนำว่าแต่ละประเทศควรมีผู้บริจาคโลหิตประมาณ 1-3% ของประชากร ฉะนั้นถ้าประเทศไทยมีประชากร 66 ล้านคน ควรมีผู้บริจาคโลหิตประจำ หรือหมุนเวียนกันตลอดเวลา 1.98 ล้านคนจากประชากรทั้งประเทศ (3%)ผู้ที่มีสิทธิ์ที่จะบริจาคโลหิต คือ ผู้ที่มีสุขภาพดี อายุ 17 ปีจนถึง 70 ปี บริจาคครั้งแรกอายุไม่เกิน 60 ปี มีน้ำหนักตัวตามเกณฑ์คือ 45 กก.หรือมากกว่า มีระดับ Hb ในเลือดในผู้บริจาคหญิง 12.5 กรัม/เดซิลิตร ไม่เกิน 16 กรัม/เดซิลิตร ในผู้บริจาคชาย 13 กรัม/เดซิลิตร ไม่เกิน 18 กรัม/เดซิลิตร
อาจบริจาคโลหิตแบบทั้งหมด (whole blood) คือ ดูดออกมาอย่างไรก็อย่างนั้น ใช้เวลา 8-10 นาทีบริจาคได้ทุก 3 เดือน หรือเฉพาะเม็ดเลือดแดงเท่านั้น (ใช้เวลา 45 นาที บริจาคได้ทุก 4 เดือน)เกล็ดเลือดเท่านั้น (บริจาคได้ทุกเดือน ใช้เวลา 90 นาที)หรือพลาสมา (ใช้เวลา 45 นาที บริจาคได้ทุก 14 วัน) การบริจาคโลหิตแต่ละครั้งจะเป็นประมาณ 10-12% ของปริมาณโลหิตทั้งหมด ครั้งละ 350-450 ซีซี ขึ้นอยู่กับน้ำหนักตัว ร่างกายมีเลือดประมาณ 70-80 ซีซีต่อน้ำหนักตัว 1 กก. ถ้าผู้บริจาคอายุ 17 ปี ต้องได้รับคำยินยอมจากผู้ปกครอง เมื่อได้โลหิตแล้วเจ้าหน้าที่จะนำไปตรวจกรุ๊ปของเลือด หา antibody ต่อกลุ่มเลือด ตรวจหาโรคซิฟิลิส HIV, เชื้อไวรัสตับอักเสบบี และซี
ข้อมูลของการบริจาคโลหิต ในปี พ.ศ.2566 มีผู้บริจาคโลหิต 1.6 ล้านคน หรือ 4.3% ของผู้ที่มีสิทธิ์บริจาค คือ กลุ่มอายุ 17-70 ปี ซึ่งมีอยู่ 38 ล้านคน ในภูมิภาคมีผู้บริจาคเพียง 3.2% แต่ใน กทม.สูงถึง 15.7% โดยมีผู้บริจาค 1 ครั้ง มีจำนวน 1,132,737 คน (68.1%),บริจาค 2 ครั้ง มีจำนวน 306,217 คน (18.4%), บริจาค 3 ครั้ง มีจำนวน 148,579 คน (8.9%), บริจาค 4 ครั้งมีจำนวน 70,975 คน (4.3%) และบริจาคมากกว่า 4 ครั้ง มีจำนวน 70,975 คน (0.4%)
การบริจาคโลหิตตามช่วงอายุ คือ อายุ 17-20 ปี จำนวน 170,598 คน (10%), อายุ 21-30 ปี จำนวน 462,286 คน(28%), อายุ 31-40 ปี จำนวน 432,078 คน (26%), อายุ 41-50 ปี จำนวน 383,769 คน (23%), อายุ 50-60 ปีจำนวน 197,867 คน (12%) และอายุมากกว่า 60 ปีจำนวน 17,793 คน (1%)-ถ้าเรามีผู้บริจาค ปี 2566 จำนวน 1.6 ล้านคน คิดจากประชากรทั้งหมด 66 ล้านคน : 2.42%)
จากข้อมูลที่มีผู้บริจาคเพียง 1 ครั้ง ถึง 1,132,737 คน หรือ 68.1% ของผู้บริจาคทั้งหมด ถ้าท่านเหล่านี้จะกรุณาบริจาคเพิ่มขึ้นอีก 1 ครั้งปัญหาการขาดแคลนโลหิตแทบจะหมดไป และยิ่งถ้าบริจาคได้ถึง 4 ครั้ง จะยิ่งดี
การบริจาคโลหิตเป็นการช่วยชีวิตเพื่อนมนุษย์ถึงอย่างน้อย 3 คน อย่างง่ายที่สุด และยังทำให้ผู้บริจาคทราบด้วยว่าตนเอง เป็น ไม่เป็นโรคถึงอย่างน้อย 4 โรค ซึ่งปัจจุบันนี้มียารักษาได้หมด
ขอขอบคุณท่านผู้บริจาคโลหิตทั้งในอดีต ปัจจุบัน และในอนาคตเป็นอย่างสูง ครับ ในนามของผู้ป่วยที่ได้รับบริจาค
นพ.พินิจ กุลละวณิชย์
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี