#ทำไมถึงไม่ควรเชื่อ?
มีแพทย์และเภสัชกรบางคนได้ทำคลิปบนสื่อโซเชียล เช่น YouTube และ TikTok ซึ่งให้ข้อมูลผิดๆ โดยอ้างว่ายาเบาหวานในกลุ่มซัลโฟนิลยูเรีย (Sulfonylurea) เป็นอันตรายต่อไต เช่น “ใครที่กินยาตัวนี้อยู่ ระวังไตวาย หากเพื่อนกินยาตัวนี้อยู่ ผมแนะนำให้เปลี่ยนยาทันที” แต่ข้อมูลนี้ไม่เป็นความจริง จึงไม่ควรหลงเชื่อคำกล่าวอ้างที่ไม่ถูกต้องนี้
#ซัลโฟนิลยูเรียคือยาเบาหวานชนิดใด?
ซัลโฟนิลยูเรียหรือที่ย่อว่า SU เป็นกลุ่มยาที่แพทย์ใช้กับผู้ป่วยเบาหวานเพื่อลดระดับน้ำตาลในเลือด ประกอบด้วยยาหลายชนิด เช่น กลิพิไซด์ (ชื่อการค้า : ดิพพาไซด์, กลัยซีเดียบ), กลัยเบนคลาไมด์ (ชื่อการค้า : ดาโอนิล, ซูกริล), กลัยเมพิไรด์ (ชื่อการค้า : อะมาริล, ไดอะกลิป)
#รู้ได้อย่างไรว่ายากลุ่มซัลโฟนิลยูเรียไม่เป็นอันตรายต่อไต?
ข้อมูลจากฐานข้อมูลทางการแพทย์ ฉลากยา และเอกสารข้อมูลผลิตภัณฑ์ของยากลุ่มซัลโฟนิลยูเรีย เช่น กลิพิไซด์,กลัยเบนคลาไมด์ และกลัยเมพิไรด์ ยืนยันได้ชัดเจนว่ายาเหล่านี้ไม่ได้ทำให้เกิดภาวะไตวาย หรือเป็นพิษต่อไตตามที่มีการกล่าวอ้าง
#ยาเบาหวานชนิดอื่นๆเป็นอันตรายต่อไตหรือไม่?
ยาเบาหวานชนิดรับประทานอื่นๆ ที่ใช้กันมาอย่างยาวนาน เช่น เมตฟอร์มิน, ไพโอกลิทาโซน, รีพากลิไนด์ และอะคาร์โบส ไม่ทำให้ไตวายหรือเป็นพิษต่อไต แต่ยากลุ่มใหม่ๆเช่น กลิปติน และกลิโฟลซิน อาจทำให้เกิดภาวะไตวายเฉียบพลันได้ในบางกรณี
#ยาเบาหวานชนิดรับประทานช่วยชะลอการเกิดไตวายได้หรือไม่?
ภาวะไตวายในผู้ป่วยเบาหวานเกิดจากการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดที่ไม่ดีต่อเนื่องเป็นเวลานาน ยาเบาหวานช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดตามแผนการรักษาของแพทย์ จึงช่วยปกป้องไตไม่ให้เสื่อมหรือวาย ซึ่งตรงข้ามกับที่กล่าวอ้างในคลิป
#ผลเสียที่อาจเกิดขึ้นหากหลงเชื่อข้อมูลผิดๆ
หากผู้ป่วยเชื่อข้อมูลผิดๆ และหยุดยาเองโดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์ จะทำให้น้ำตาลในเลือดสูงและเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนจากเบาหวาน เช่น ไตวาย หลอดเลือดสมองตีบ กล้ามเนื้อหัวใจตาย แผลที่เท้ารักษาไม่หาย หรือตาบอด นอกจากนี้ ยากลุ่มซัลโฟนิลยูเรียยังมีราคาถูกและมีประสิทธิภาพดี ผู้ป่วยที่เปลี่ยนยาอาจต้องรับภาระค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นมากโดยไม่จำเป็น
#ผลเสียต่อระบบบริการสาธารณสุขและการเบิกจ่าย
หากผู้ป่วยเบาหวานจำนวนมากปฏิเสธการใช้ยาซัลโฟนิลยูเรีย จะเกิดภาระค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นต่อระบบบริการสาธารณสุข เช่น ระบบบัตรทอง ประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการ ค่าใช้จ่ายอาจเพิ่มขึ้นอย่างมาก เช่น จากปีละ 365 บาท เมื่อใช้ซัลโฟนิลยูเรีย เป็น 14,235 บาทต่อปี เมื่อใช้กลิปติน ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้นถึง 39 เท่า
#แพทย์จะสั่งยากลุ่มซัลโฟนิลยูเรียในกรณีใด
ตามแนวทางเวชปฏิบัติของไทยและต่างประเทศแพทย์จะสั่งเมตฟอร์มินเป็นยาขนานแรกและอาจใช้ยาซัลโฟนิลยูเรียเป็นลำดับถัดไปหากยังควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ได้ เนื่องจากยานี้มีประสิทธิภาพดี ราคาถูก และเป็นยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ แต่ต้องติดตามภาวะน้ำตาลต่ำในเลือด
#กรณีที่ห้ามใช้ซัลโฟนิลยูเรีย
ห้ามใช้ยาซัลโฟนิลยูเรียในกรณีต่อไปนี้ แพ้ยานี้หรือ ยาซัลฟา, เป็นเบาหวานชนิดที่, มีภาวะเลือดเป็นกรดจากคีโตน, มีภาวะโคมาจากน้ำตาลสูง, กำลังติดเชื้อรุนแรง และอยู่ในภาวะเครียดหรือบาดเจ็บรุนแรง
#เหตุใดจึงห้ามใช้ยาซัลโฟนิลยูเรียในผู้เป็นเบาหวานชนิดที่ 1?
โรคเบาหวานชนิดที่ 1 เกิดจากตับอ่อนไม่สามารถสร้างอินซูลินได้ ส่วนยาซัลโฟนิลยูเรียออกฤทธิ์กระตุ้นการหลั่งอินซูลินจากตับอ่อน จึงไม่มีประโยชน์ในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 แต่จะมีประโยชน์เฉพาะในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่งเป็นกลุ่มที่พบได้บ่อย
#การดูแลตนเองไม่ให้ไตเสื่อมจากเบาหวาน
1.ใช้ยาเบาหวานตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด
2.ออกกำลังกาย และควบคุมน้ำหนัก ควบคุมอาหารชนิดแป้งและน้ำตาล
3.หลีกเลี่ยงยาที่ส่งผลเสียต่อไต เช่น ยาแก้ปวดกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs)
4.ควบคุมความดันเลือดให้อยู่ในระดับปกติ
5.ตรวจการทำงานของไตเป็นระยะ
6.เลิกบุหรี่และไม่ดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก
7.ดื่มน้ำเพียงพอ
8.ไม่หลงเชื่อข้อมูลผิดๆ บนโซเชียลมีเดีย
9.ไม่ซื้ออาหารเสริมหรือสมุนไพร ซึ่งมักโฆษณาว่ารักษาเบาหวานได้โดยไม่ต้องกินยา
ทั้งนี้ การปฏิบัติตามแนวทางเหล่านี้จะช่วยปกป้องไตจากการเสื่อมและป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน
บทความโดย
ผศ.นพ.พิสนธิ์ จงตระกูล
ประธานคณะทำงานสร้างความเข้มแข็งประชาชน
ด้านการใช้ยาอย่างสมเหตุผล (สยส.) และ กรรมการแพทยสภา
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี