โรคชนิดหนึ่งที่เกิดกับสุนัขคือโรคกระดูกสะบ้าข้อเข่าเคลื่อนหลุด โรคนี้เป็นโรคที่ผู้เลี้ยงสุนัขมักพบเจออยู่บ่อยๆ รวมถึงแมวด้วย สัตว์ที่ป่วยด้วยโรคนี้จะพบว่าเดินผิดปกติ ซึ่งอาจจะเกิดมาจากโรคกระดูกสะบ้าเข่าเคลื่อนหลุด มักจะพบในขาหลัง โดยเฉพาะบริเวณข้อเข่า
โดยสังเกตเห็นได้ว่าสุนัขที่ป่วยด้วยโรคนี้จะเดินหรือวิ่งผิดปกติ เช่น เดินหรือวิ่งโดยสังเกตเห็นได้ว่ายกขาบ้างเป็นบางครั้ง แต่ก็สามารถหายเองได้ แต่หากมีอาการรุนแรงก็จะมีอาการเหยียดข้อเข่าไม่ได้ ซึ่งความรุนแรงของโรคขึ้นอยู่กับระดับของความรุนแรงของอาการโรคกระดูกสะบ้าเข่าเคลื่อนหลุด
โรคนี้สามารถแบ่งออกเป็น 4 ระดับ ได้แก่
ระดับที่ 1 กระดูกสะบ้าสามารถเคลื่อนหลุดได้เมื่อทำการผลักให้หลุดออกจากร่องเข่า แต่สามารถกลับเข้าได้เองโดยไม่ต้องทำอะไร
ระดับที่ 2 กระดูกสะบ้าสามารถเคลื่อนหลุดออกจากร่องเข่าได้โดยง่ายเมื่อมีการบิดปลายเท้าไป-มา
ระดับที่ 3 กระดูกสะบ้าเคลื่อนหลุดอยู่นอกร่องเข่า แต่สามารถดันกระดูกสะบ้าให้เข้าร่องเข่าได้ เมื่อปล่อยมือออกก็หลุดออกนอกร่องเข่าอีก
ระดับที่ 4 กระดูกสะบ้าเคลื่อนหลุดและไม่สามารถดันให้กระดูกสะบ้าเข้าไปในร่องเข่าได้
โรคกระดูกสะบ้าเข่าเคลื่อนหลุดสามารถพบได้ในสุนัขทั้งสายพันธุ์เล็กและใหญ่ ในรายที่เป็นโรคอย่างรุนแรงจะส่งผลต่อการเดินอย่างมาก เนื่องจากกระดูกมีการผิดรูปร่างไปจากปกติ
การรักษาโรคกระดูกสะบ้าเข่าเคลื่อนหลุด ทำได้ด้วยการผ่าตัดแก้ไขโดยศัลยสัตวแพทย์ที่มีความชำนาญด้านการผ่าตัดกระดูกและข้อต่อในสัตว์ เจ้าของสัตว์จะต้องพาสุนัขที่สงสัยว่าเป็นโรคกระดูกสะบ้าเข่าเคลื่อนหลุดเข้าตรวจเพื่อยืนยันการตรวจรักษา โดยสามารถตรวจทั้งสุนัขอายุน้อย หรืออายุมาก เนื่องจากโรคกระดูกสะบ้าเข่าเคลื่อนหลุดเกิดได้ตั้งแต่สัตว์ยังอายุน้อย หรืออาจจะเกิดเนื่องจากอุบัติเหตุรูปแบบต่างๆ โดยอาการจะเน้นไปในทางเจ็บขาข้างที่ได้รับผลกระทบจากภาวะโรค
นอกจากการผ่าตัดแก้ไขแล้ว อาจจะบรรเทาอาการเจ็บขาได้ด้วยการให้ยาแก้ปวด ลดอักเสบ ในรูปแบบต่างๆ ซึ่งเป็นเพียงการบรรเทาอาการชั่วคราว ในสุนัขอายุน้อยการผ่าตัดแก้ไขโรคกระดูกสะบ้าเข่าเคลื่อนหลุดควรทำก่อนที่กระดูกจะเกิดการผิดรูป และมีความรุนแรงในระดับที่สูงขึ้น ภายหลังการผ่าตัดแก้ไขควรระมัดระวังไม่ให้สัตว์กระโดดหรือวิ่งรุนแรง ซึ่งอาจจะส่งผลให้กระดูกสะบ้าเคลื่อนหลุดซ้ำ และผู้เลี้ยงสัตว์ต้องดูแลสัตว์เลี้ยงให้ดีต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของสัตวแพทย์ ผู้รักษาอย่างเคร่งครัดเพื่อให้ผลการรักษาที่ดี
หากพบอาการเดินของสุนัขที่เราเลี้ยงไว้มีความผิดปกติ ก็อาจสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นโรคกระดูกสะบ้าเข่าเคลื่อนหลุด ควรพาสุนัขไปพบสัตวแพทย์โดยทันทีเพื่อปรึกษาแนวทางแก้ไขอย่างถูกต้องให้ทันการ
ผศ. น.สพ. ดร. ชัยกร ฐิติญาณพร
อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์คลินิกสัตว์เลี้ยง
คณะสัตวแพทยศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี