บทบาทของวิตามิน ดี (Vitamin D) ในร่างกาย
วิตามิน ดี (ซึ่งเรียกว่า แคลซิเฟอรอล) เป็นวิตามินที่ละลายในไขมันและมีอยู่ในอาหารตามธรรมชาติและในอาหารเสริมบางชนิดซึ่งมีจำหน่ายในท้องตลาด นอกจากนี้เมื่อรังสีอัลตราไวโอเลต บี (UVB) จากแสงแดดกระทบผิวหนัง จะกระตุ้นการสังเคราะห์วิตามิน ดี ในร่างกาย
วิตามิน ดี ที่ได้รับจากการสัมผัสกับแสงแดด อาหาร และอาหารเสริม ยังไม่ออกฤทธิ์โดยตรงและต้องผ่านการไฮดรอกซิเลชันสองครั้งในร่างกายเพื่อให้กลายเป็นสารที่ออกฤทธิ์ การเกิดไฮดรอกซิเลชันครั้งแรกเกิดขึ้นในตับ ซึ่งจะเปลี่ยนวิตามิน ดีเป็น 25-ไฮดรอกซี-วิตามิน ดี [25(OH)D] หรือที่เรียกว่าแคลซิดิโอล การเกิดไฮดรอกซิเลชัน
ครั้งที่สองส่วนใหญ่เกิดขึ้นในไต และผลิตเป็น 1,25-ไดไฮดรอกซี-วิตามิน ดี [1,25(OH)2D] ซึ่งเรียกว่าแคลซิทริออล
วิตามิน ดี ช่วยในการดูดซึมแคลเซียมในลำไส้และรักษาความเข้มข้นของแคลเซียมและฟอสเฟตในเลือด ให้เพียงพอ เพื่อนำไปสร้างกระดูกและป้องกันอาการเกร็งกล้ามเนื้อจากการขาดแคลเซียม (hypocalcemic tetany) นอกจากนี้ ยังจำเป็นต่อการเจริญเติบโตของกระดูกและการปรับเปลี่ยนกระดูกโดยใช้เซลล์สร้างกระดูก (osteoblasts) และเซลล์สลายกระดูก (osteoclasts) หากไม่มีวิตามิน ดี เพียงพอ กระดูกอาจบาง เปราะ หรือผิดรูปวิตามิน ดี ที่เพียงพอช่วยป้องกันโรคกระดูกอ่อนในเด็กและโรคกระดูกพรุนในผู้ใหญ่ นอกจากนี้ วิตามิน ดี ยังช่วยปกป้องผู้สูงอายุจากโรคกระดูกพรุน
วิตามิน ดี ยังมีบทบาทอื่นในร่างกาย เช่น ลดการอักเสบและควบคุมกระบวนการต่างๆ เช่น การเจริญเติบโตของเซลล์ การทำงานของระบบประสาทและภูมิคุ้มกัน และการเผาผลาญน้ำตาล ช่วยควบคุมการแบ่งเซลล์และการตายของเซลล์ (apoptosis) และยังอาจจะลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งบางชนิด เนื้อเยื่อหลายแห่งมีตัวรับวิตามิน ดี และบางแห่งสามารถเปลี่ยน 25(OH)D เป็น 1,25(OH)2D ได้
จึงเป็นที่มาว่า ประชาชนให้ความสนใจวิตามิน ดี มาก และไม่อยากให้ตนเองขาดวิตามีน ดี
แนวทางการตรวจเลือดหาระดับวิตามิน ดี ในเลือดและการกินวิตามิน ดี เสริม
แนวทางที่เสนอนี้จะไม่เกี่ยวกับหญิงตั้งครรภ์และผู้ป่วยที่ตรวจพบว่าเป็นโรคกระดูกพรุน แนวทางที่แนะนำนี้จะใช้ในประชาชนทั่วไปและผ่านการกลั่นกรองจากสมาคมต่อมไร้ท่อในสหรัฐอเมริกาและราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย โดยใช้ข้อมูลเชิงประจักษ์จากผลงานวิจัยเป็นหลัก แนวทางนี้จะตอบคำถามของประชาชนหลายข้อเกี่ยวกับวิตามิน ดี ที่มักจะถามว่า ใครและเมื่อไหร่ควรตรวจหาระดับวิตามิน ดี และเมื่อไหร่ประชาชนทั่วไปควรกินวิตามิน ดี เสริม สมาคมฯในสหรัฐอเมริกาได้ทำการประเมินคำตอบอย่างครอบคลุม และการทบทวนหลักฐาน เชิงประจักษ์ที่มีมาจนถึงปัจจุบันและได้ตีพิมพ์ข้อแนะนำไว้ในวารสาร ดังที่แสดงในเอกสารอ้างอิง
Marie B. Demay (Chair), Anastassios G. Pittas (Co-Chair), Daniel D. Bikle, Dima L. Diab, Mairead E. Kiely, Marise Lazaretti-Castro, Paul Lips, Deborah M. Mitchell, M. Hassan Murad, Shelley Powers, Sudhaker D. Rao, Robert Scragg, John A. Tayek, Amy M. Valent, Judith M. E. Walsh, Christopher R. McCartney. Vitamin D for the Prevention of Disease: An Endocrine Society Clinical Practice Guideline. JCEM | August 2024 (online June 2024)
ปัจจุบัน มีการศึกษาหลายฉบับที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างระดับความเข้มข้นของ 25-hydroxy vitamin D(25[OH]D) ในเลือดกับความผิดปกติทั่วไป รวมถึงโรคกล้ามเนื้อและกระดูก โรคเมตาบอลิซึม โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็งโรคภูมิต้านตนเอง และโรคติดเชื้อ ซึ่งนำไปสู่การใช้วิตามิน ดีเสริมอย่างแพร่หลาย และมีการชักชวนให้ตรวจหาระดับ 25(OH)D ในเลือดในประชากรทั่วไป
อย่างไรก็ตาม เมื่อตรวจสอบหลักฐานอย่างเป็นระบบจากการศึกษาวิจัยแล้วพบว่า
• ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับความเสี่ยงของการกินวิตามิน ดี เสริมนี้ยังไม่ชัดเจน และปริมาณวิตามิน ดีที่เหมาะสมและความเข้มข้นของ 25(OH)D ในเลือดยังไม่มีค่าแน่นอนสำหรับการป้องกันโรค
แนวทางนี้จึงเสนอแนวทางทางคลินิกสำหรับการใช้วิตามิน ดีเพื่อลดความเสี่ยงของโรคในประชาชนทั่วไปที่ไม่มีข้อบ่งชี้ที่ชัดเจนสำหรับการรักษาด้วยวิตามิน ดี หรือการตรวจสอบระดับ 25(OH)D
สมมุติฐานสำหรับคำแนะนำทั้งหมดอยู่บนฐานข้อมูลสำหรับบุคคลปกติทั่วไป (ไม่ใช้กับสำหรับผู้ป่วยโรคกระดูกพรุน, Rickets, osteomalacia, hypocalcemia) ที่ควรได้รับวิตามิน ดี ตามปริมาณที่แนะนำโดยสถาบันการแพทย์ ซึ่งคือ 600 IU ต่อวันสำหรับผู้ที่มีอายุ 50-70 ปี และ 800 IU ต่อวันสำหรับผู้ที่มีอายุเกิน 70 ปี
สำหรับผู้ที่มีอายุ 18-74 ปี ซึ่งไม่มีภาวะก่อนเป็นเบาหวาน (prediabetes) ไม่แนะนำว่าให้ตรวจหาการขาดวิตามิน ดี อย่างเป็นประจำ และไม่แนะนำให้กินวิตามิน ดี เสริมเป็นประจำด้วย สำหรับผู้ที่มีอายุ 50 - 74 ปี มีหลักฐานเชิงประจักษ์มากมายว่าที่แสดงว่า การกินวิตามิน ดี เสริมไม่มีความแตกต่างที่สำคัญในเรื่องการลดการเกิดกระดูกแตกหัก การเกิดมะเร็ง โรคหัวใจและหลอดเลือด นิ่วในไต หรืออัตราการตาย ดังนั้นถึงแม้ว่าการกินวิตามิน ดี เสริมจะปลอดภัย แต่ก็ไม่มีประโยชน์ชัดเจนจากการกินวิตามิน ดี หรือการตรวจหาระดับวิตามิน ดี เป็นประจำ ประชากรกลุ่มนี้ คือคนปกติทั่วไปที่ได้รับวิตามิน ดี ได้เองในแต่ละวันตามการดำเนินชีวิตแบบเวชศาสตร์วิถีชีวิตและไม่มีระดับวิตามิน ดี ต่ำเมื่อเริ่มเข้าร่วมในการศึกษาวิจัย
สำหรับผู้ใหญ่ที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดภาวะก่อนเป็นเบาหวาน (high risk prediabetes) อาจจะแนะนำให้กินวิตามิน ดี เสริมเพื่อลดความเสี่ยงในการพัฒนาไปสู่โรคเบาหวาน การศึกษาหลายครั้งในเรื่องการกินวิตามิน ดี เสริมสำหรับผู้ใหญ่กลุ่มนี้ร่วมกับการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต (กินอาหารที่เหมาะสมและมีการออกกำลังกายสม่ำเสมอ) พบว่า การกินวิตามิน ดี อาจจะลดความเสี่ยงในการพัฒนาจากภาวะก่อนเป็นเบาหวานไปสู่โรคเบาหวานได้ประมาณร้อยละ 10-15 ผลดีนี้อาจจะมีมากขึ้นในผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี และมีระดับวิตามิน ดี ต่ำตั้งแต่เริ่มการศึกษาวิจัย
ผู้ที่มีอายุ 75 ปี ขึ้นไป มีคำแนะนำว่ากลุ่มอายุช่วงนี้มีระดับวิตามิน ดี ต่ำ เป็นเรื่องปกติ โดยมีผู้สูงอายุถึงร้อยละ 20 ที่มีระดับวิตามิน ดี ต่ำ แต่ไม่แนะนำให้ตรวจหาระดับวิตามิน ดีมีข้อแนะนำว่า อาจจะให้กินวิตามิน ดี เสริมได้เลย แม้ว่าจะมีการศึกษาแบบสังเกต ได้แสดงความสัมพันธ์ระหว่างระดับวิตามิน ดีต่ำในกลุ่มอายุนี้กับผลลัพธ์ที่ไม่พึงประสงค์ เช่น การหกล้ม กระดูกแตกหัก และการติดเชื้อทางเดินหายใจ แต่หลักฐานจากการทดลองแบบสุ่มที่ใช้ยาหลอกเปรียบเทียบกับการกินวิตามิน ดี เสริม กลับได้ผลไม่สอดคล้องกับผลการศึกษาแบบสังเกตข้างต้น อย่างไรก็ตาม มีการวิเคราะห์ที่แสดงว่า การกินวิตามิน ดี เสริม อาจจะลดอัตราการตายได้บ้างเมื่อเปรียบเทียบกับยาหลอก โดยมีความเสี่ยงสัมพัทธ์ที่ 0.96 (ช่วงความเชื่อมั่น 0.93-1.00) โดยไม่มีความแตกต่างในด้านสภาพแวดล้อม (ชุมชนกับบ้านพักคนชรา) ขนาดของวิตามิน ดี หรือระดับวิตามิน ดี ตั้งแต่เริ่มต้นเข้าร่วมงานศึกษาวิจัย นอกจากนี้ ดูเหมือนว่าจะมีประโยชน์จากการกินวิตามิน ดี เสริมในขนาดต่ำในการลดความเสี่ยงในการล้มแต่มีความเสี่ยงสูงขึ้นในการล้มเมื่อกินเสริมในขนาดสูงขึ้น การศึกษาไม่พบผลลัพธ์ที่สำคัญต่อการเกิดกระดูกแตกหักจากการกินวิตามิน ดี เสริมเพียงอย่างเดียว แม้ว่าจะมีการลดลงของการเกิดกระดูกแตกหักเมื่อกินวิตามิน ดี ร่วมกับแคลเซียม โดยสรุปจึงแนะนำว่าจากความน่าจะเป็นของ “การลดลงเล็กน้อยในอัตราการตายจากทุกสาเหตุ” และความปลอดภัย รวมถึงประโยชน์ที่อาจจะลดการหกล้ม คำแนะนำคือ ให้กินวิตามิน ดี เสริมสำหรับผู้ใหญ่ทุกคนที่มีอายุ 75 ปีขึ้นไป และเนื่องจากไม่มีความแตกต่างที่สอดคล้องกันจากการวัดระดับวิตามิน ดี ในเลือด จึงแนะนำว่าไม่ต้องตรวจวัดระดับวิตามิน ดีในเลือด
หมายเหตุ : บทความต่างๆ ภายใต้หัวข้อนี้ ได้แนะนำแนวทางในการใช้วิธีการตรวจ รักษา ในกลยุทธ์ต่างๆ บนพื้นฐานที่ว่า ประชาชนมีการดำเนินชีวิตประจำวันตามแบบเวชศาสตร์วิถีชีวิต และเป็นคนที่มีสุขภาพกายและใจเป็นปกติ คำแนะนำหรือแนวทางเหล่านี้ ได้รับการทบทวนกลั่นกรองมาจากผู้ทรงคุณวุฒิ จากราชวิทยาลัย หรือสมาคมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นผู้ที่ไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียกับการบริการเหล่านี้ และพยายามทำให้ข้อมูลต่างๆ ที่แนะนำให้มีความทันสมัย เป็นปัจจุบันมากที่สุด โดยคำนึงถึงประโยชน์และความปลอดภัยของประชาชนเป็นที่ตั้ง และเพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ ให้ประชาชนผู้มีสุขภาพปกติ ในการบริการต่างๆ ซึ่งมีความหลากหลายมากในสถานบริการเวลเนส
หากประชาชนท่านใดมีข้อสงสัย สามารถสอบถามได้ที่แพทยสภาผ่านช่องทาง ดังนี้ โทร. : 02-590188 และ E-mail : edu@tmc.or.th
(อ่านต่อสัปดาห์หน้า)
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี