(ต่อจากสัปดาห์ที่แล้ว)
ผู้ที่มีภาวะขาดหรือพร่องวิตามิน ดี ในเลือดควรปฏิบัติตัวอย่างไร?
คำแนะนำที่ดีที่สุดในการรักษาภาวะขาดหรือพร่องวิตามิน ดี มิใช่การกินวิตามิน ดี เสริมเป็นประจำเพียงอย่างเดียวแต่ให้ทำการออกกำลังกายที่สัมผัสแสงแดด โดยทำกิจกรรมกลางแจ้งที่ได้รับแสงแดดอย่างน้อย 15 นาทีต่อวัน ซึ่งแสงแดดจะช่วยเปลี่ยนคอเลสเตอรอลใต้ผิวหนังในร่างกายไปเป็นวิตามิน ดี แนะนำการรับประทานอาหารที่เหมาะสมที่มีวิตามิน ดี สูง ร่วมด้วย ได้แก่ ตับ ไข่แดง น้ำมันตับปลา เห็ด ปลาที่มีไขมันสูง เช่น ปลาทูน่า แมคเคอเรล แซลมอน ซึ่งจะเกิดผลดีในด้านอื่นๆ ต่อร่างกายด้วยร่วมกับการออกกำลังกายสม่ำเสมอที่พอเหมาะ จะทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรง เดินได้ดีไม่หกล้มด้วย การกินวิตามิน ดี เสริมจึงจะเกิดประโยชน์ในกรณีต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น
ผู้ที่ควรสงสัยว่าตนเองมีความเสี่ยงที่จะขาดวิตามิน ดีได้แก่ ผู้สูงวัยอายุเกิน 60 ปี ที่ไม่ออกกำลังกายกลางแจ้ง หลบแดดตลอดเวลา ใช้ชีวิตประจำวันในที่ร่มหรือไม่ยอมรับแสงแดด มีโรคประจำตัว เช่น โรคตับ โรคไต หรือโรคลำไส้ที่มีการดูดซึมไขมันลดลง รับประทานอาหารไม่หลากหลาย หญิงวัยหมดประจำเดือนที่หลบแดดและ ไม่ออกกำลังกาย กลุ่มเหล่านี้อาจจะมีการตรวจวัดระดับวิตามิน ดี ในเลือดได้
โดยทั่วไป ผลการตรวจวัดระดับวิตามิน ดี ในเลือดจะแปลว่าเป็นภาวะขาด พร่อง หรือ พอเพียง ดังนี้
ระดับวิตามิน ดี ในเลือด 25(OH)D น้อยกว่า20 นาโนกรัมต่อ มล. ถือว่ามีภาวะขาดวิตามิน ดี
ระดับวิตามิน ดี ในเลือด 25(OH)D อยู่ในช่วง20-30 นาโนกรัมต่อ มล. ถือว่ามีภาวะพร่องวิตามิน ดี
ระดับวิตามิน ดี ในเลือด 25(OH)D มากกว่า30 นาโนกรัมต่อ มล. ถือว่ามีระดับวิตามิน ดี พอเพียง
คำแนะนำในการตรวจเลือดวัดระดับวิตามิน ดี และการกินวิตามิน ดี เสริมในประชากรกลุ่มต่างๆ
ในเด็กและวัยรุ่นอายุ 1-18 ปี แนะนำให้มีการกินวิตามิน ดี เสริมเพื่อป้องกันโรคขาดสารอาหาร (rickets) และอาจช่วยลดความเสี่ยงของการติดเชื้อทางเดินหายใจ
● การกินวิตามิน ดี เสริมอาจทำโดยการบริโภคอาหารที่เสริมวิตามินดี การกินผลิตภัณฑ์ที่มีวิตามินดี และ/หรือ วิตามิน ดี เสริม (แบบเม็ดหรือหยดให้) ขนาดวิตามิน ดี มีตั้งแต่ 300 ถึง 2,000 IU (7.5 ถึง 50 ไมโครกรัม) ต่อวัน โดยมีค่าเฉลี่ยที่ประมาณ 1,200 IU (30 ไมโครกรัม) ต่อวัน
ในผู้ใหญ่ทั่วไปที่มีอายุต่ำกว่า 50 ปี ไม่แนะนำให้กินวิตามิน ดี เสริม
● โดยทั่วไป ผู้ที่ในกลุ่มอายุนี้ควรได้วิตามีน ดี ขนาด 600 IU (15 ไมโครกรัม) ต่อวัน ซึ่งได้รับจากการกินอาหารปกติอยู่แล้วหรือดำรงชีวิตตามเวชศาสตร์วิถีชีวิตครบถ้วน
ในผู้ใหญ่ทั่วไปที่มีอายุต่ำกว่า 50 ปี ไม่แนะนำให้ทำการตรวจหาระดับ 25(OH)D ในเลือดเป็นประจำ
● ในประชากรกลุ่มนี้ ระดับ 25(OH)D ที่ทำให้เกิดประโยชน์ ยังไม่สามารถกำหนดได้ในงานวิจัยทางคลินิก
● จึงไม่แนะนำให้
+ ตรวจคัดกรองวัดระดับ 25(OH)D เป็นประจำเพื่อใช้ในการตัดสินใจว่า จะให้กินวิตามิน ดี หรือไม่?
+ ตรวจติดตามระดับ 25(OH)D เป็นประจำเพื่อช่วยในการกำหนดขนาดวิตามิน ดี ที่จะกิน
คำแนะนำในข้อนี้ ใช้ในผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพทั่วไปดี ไม่มีข้อบ่งชี้ที่ชัดเจนในการตรวจระดับ 25(OH)D ในเลือด (เช่น ภาวะแคลเซียมต่ำในเลือด)
ในประชากรทั่วไปที่มีอายุ 50 ถึง 74 ปี ไม่แนะนำให้กินวิตามิน ดี เสริมเป็นประจำเกินกว่าค่าที่แนะนำ ค่าที่แนะนำ ผู้ใหญ่ในกลุ่มอายุนี้ควรกินวิตามิน ดี 600 IU(15 ไมโครกรัม) ต่อวันสำหรับผู้ที่มีอายุ 50-70 ปี และ 800 IU (20 ไมโครกรัม) ต่อวันสำหรับผู้ที่มีอายุมากกว่า 70 ปี
ในประชากรทั่วไปที่มีอายุ 50 ถึง 74 ปี ไม่แนะนำให้ตรวจหาระดับ 25(OH)D ในเลือดเป็นประจำ
● ในกลุ่มประชากรนี้ ระดับ 25(OH)D ที่ทำให้เกิดประโยชน์ ยังไม่สามารถกำหนดได้จากงานวิจัย
+ จึงแนะนำไม่ให้ตรวจคัดกรองระดับ 25(OH)D ในเลือดเป็นประจำ เพื่อประกอบการตัดสินใจให้กินวิตามิน ดี
+ ไม่แนะนำให้ตรวจติดตามระดับ 25(OH)D ในเลือดเป็นประจำเพื่อช่วยในการกำหนดขนาดวิตามิน ดี ที่จะกิน
คำแนะนำในข้อนี้เกี่ยวข้องกับผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพทั่วไปดีไม่มีข้อบ่งชี้ที่ชัดเจนในการตรวจระดับ 25(OH)D ในเลือด (เช่น ภาวะแคลเซียมต่ำในเลือด)
ในประชากรทั่วไปที่มีอายุ 75 ปี ขึ้นไป แนะนำการกินวิตามิน ดี เสริมได้ เนื่องจากช่วยลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต
● การกินวิตามิน ดี เสริมอาจรวมถึงการบริโภคอาหารที่เสริมวิตามิน ดี การกินผลิตภัณฑ์ที่มีวิตามิน ดี เสริมและ/หรือการบริโภควิตามิน ดี เสริมในแต่ละวัน
● ควรเลือกกินวิตามิน ดี ในขนาดต่ำต่อวัน มากกว่าการกินในขนาดสูง ที่ไม่ได้กินเป็นประจำ
● ในการศึกษาทางคลินิก ขนาดวิตามิน ดี ที่อยู่ในช่วง 400 ถึง 3,333 IU [10 ถึง 83 ไมโครกรัม] ต่อวัน
โดยเฉลี่ยประมาณ 900 IU (23 ไมโครกรัม) ต่อวัน ที่มีรายงานเกี่ยวกับการลดอัตราการเสียชีวิต
ในประชากรทั่วไปที่มีอายุ 75 ปีขึ้นไป ไม่แนะนำให้ตรวจหาระดับ 25(OH)D ในเลือดเป็นประจำ
● ในกลุ่มประชากรนี้ ระดับ 25(OH)D ในเลือดที่มีประโยชน์ ยังไม่มีการกำหนดค่าจากงานวิจัย
+ จึงไม่แนะนำให้ตรวจคัดกรองระดับ 25(OH)D ในเลือดเป็นประจำเพื่อประกอบการตัดสินใจในการให้กินวิตามิน ดี
+ ไม่แนะนำตรวจติดตามระดับ 25(OH)D เป็นประจำในเลือด เพื่อใช้ในการกำหนดขนาดวิตามิน ดี ที่จะกิน
คำแนะนำในข้อนี้ใช้ในผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพทั่วไปดี ไม่มีข้อบ่งชี้ที่ชัดเจนในการตรวจระดับ 25(OH)D ในเลือด (เช่น ภาวะแคลเซียมต่ำในเลือด)
หญิงตั้งครรภ์ อาจกินวิตามิน ดี เสริมได้ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ การเสียชีวิตของทารก
ในครรภ์ การคลอดก่อนกำหนด การคลอดทารกที่มีน้ำหนักตัวน้อยกว่าที่ควรตามอายุครรภ์ และการเสียชีวิตในทารกแรกเกิด
● คำแนะนำนี้อิงจากหลักฐานจากการศึกษาในหญิงที่มีสุขภาพดีในระหว่างการตั้งครรภ์ การกินวิตามิน ดี เสริมอาจจะได้จากการบริโภคอาหารที่เสริมวิตามิน ดี, ผลิตภัณฑ์ที่มีวิตามิน ดี และ/หรือวิตามิน ดี เสริม (ชนิดเม็ดหรือหยด)
● ขนาดวิตามิน ดี อยู่ในช่วง 600 ถึง 5,000 IU (15 – 125 ไมโครกรัม) ต่อวัน โดยทั่วไปจะให้แบบรายวันหรือรายสัปดาห์ โดยเฉลี่ยประมาณ 2,500 IU (63 ไมโครกรัม) ต่อวัน
ในระหว่างการตั้งครรภ์ ไม่แนะนำให้ตรวจหาระดับ 25(OH)D เป็นประจำในเลือด
● ในกลุ่มประชากรนี้ ระดับ 25(OH)D ที่ให้ประโยชน์ในระหว่างการตั้งครรภ์ ยังไม่สามารถกำหนดค่าได้ในงานวิจัย
+ จึงไม่แนะนำให้ตรวจคัดกรองระดับ 25(OH)D เป็นประจำในเลือดเพื่อประกอบการตัดสินใจในการให้กินวิตามิน ดี
+ ไม่แนะนำตรวจติดตามระดับ 25(OH)D เป็นประจำในเลือด เพื่อประกอบการกำหนดขนาดวิตามิน ดี ที่จะกิน
คำแนะนำข้อนี้ ใช้ในหญิงตั้งครรภ์ที่มีสุขภาพทั่วไปดี ไม่มีข้อบ่งชี้ที่ชัดเจนในการตรวจระดับ 25(OH)D ในเลือด (เช่น ภาวะแคลเซียมต่ำในเลือด)
ผู้ใหญ่ที่มีภาวะก่อนเป็นเบาหวาน (prediabetes) และมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคเบาหวาน ให้ใช้การปรับเปลี่ยนการดำเนินชีวิตตามแบบเวชศาสตร์วิถีชีวิต และกินวิตามิน ดี เสริม เพื่อลดความเสี่ยงในการพัฒนาต่อไปเป็นโรคเบาหวาน
● การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตต้องเป็นส่วนประกอบสำคัญในการดำเนินชีวิตเป็นประจำสำหรับผู้ใหญ่ที่มีภาวะก่อนเป็นเบาหวาน
● การศึกษาวิจัยที่สนับสนุนคำแนะนำนี้ เกี่ยวข้องกับผู้ใหญ่ที่มีภาวะก่อนเป็นเบาหวานที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งถูกระบุว่าตรงตามเกณฑ์ระดับน้ำตาลในเลือดของสมาคมเบาหวานอเมริกัน (American Diabetes Association) สองหรือสามข้อ(น้ำตาลในเลือดขณะอดอาหาร, HbA1c, ระดับน้ำตาลในเลือด2 ชั่วโมงหลังจากกินน้ำตาลกลูโคส 75 กรัม) สำหรับภาวะก่อนเป็นเบาหวานและผู้ที่มีระดับกลูโคสสูงกว่าปกติเมื่อทำการทดสอบดังกล่าว
● ขนาดวิตามิน ดี อยู่ในช่วง 842 ถึง 7,543 IU (21 ถึง 189 ไมโครกรัม) ต่อวัน โดยเฉลี่ยประมาณ 3,500 IU(88 ไมโครกรัม) ต่อวัน
ในผู้ใหญ่ที่มีอายุ 50 ปี ขึ้นไป และมีข้อบ่งชี้ในการกินวิตามิน ดี เสริม หรือใช้การรักษา
● แนะนำให้กินวิตามิน ดี ในขนาดต่ำทุกวัน แทนการกินวิตามิน ดี ในขนาดสูงที่ไม่ได้กินทุกวัน
● ยังไม่มีหลักฐานที่เกี่ยวข้องการให้วิตามิน ดี เสริม กับ บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 50 ปี
ในผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพดี ไม่แนะนำให้ทำการตรวจคัดกรองหาระดับ 25(OH)D เป็นประจำ ในเลือด
● ในผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพดี ระดับ 25(OH)D ที่ให้ประโยชน์ยังไม่มีการกำหนดค่าจากงานวิจัย
คำแนะนำนี้ใช้ในผู้ใหญ่ที่ไม่มีข้อบ่งชี้ที่ชัดเจนในการตรวจระดับ 25(OH)D ในเลือด(เช่น ภาวะแคลเซียมต่ำในเลือด)
ในผู้ใหญ่ที่มีภาวะอ้วน ไม่แนะนำให้ทำการตรวจคัดกรองหาระดับ 25(OH)D เป็นประจำในเลือด
● ในผู้ใหญ่ที่มีภาวะอ้วน ระดับ 25(OH)D ที่ให้ประโยชน์ยังไม่ได้มีการกำหนดค่าจากงานวิจัย
คำแนะนำข้อนี้ใช้ในผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพทั่วไปดี มีภาวะอ้วนและไม่มีข้อบ่งชี้ที่ชัดเจนในการตรวจระดับ 25(OH)D ในเลือด (เช่น ภาวะแคลเซียมต่ำในเลือด)
หมายเหตุ : บทความต่างๆ ภายใต้หัวข้อนี้ ได้แนะนำแนวทางในการใช้วิธีการตรวจ รักษา ในกลยุทธ์ต่างๆ บนพื้นฐานที่ว่า ประชาชนมีการดำเนินชีวิตประจำวันตามแบบเวชศาสตร์วิถีชีวิต และเป็นคนที่มีสุขภาพกายและใจเป็นปกติ คำแนะนำหรือแนวทางเหล่านี้ ได้รับการทบทวนกลั่นกรองมาจาก
ผู้ทรงคุณวุฒิ จากราชวิทยาลัย หรือสมาคมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นผู้ที่ไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียกับการบริการเหล่านี้ และพยายามทำให้ข้อมูลต่างๆ ที่แนะนำให้มีความทันสมัย เป็นปัจจุบันมากที่สุด โดยคำนึงถึงประโยชน์และความปลอดภัยของประชาชนเป็นที่ตั้ง และเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ ให้ประชาชนผู้มีสุขภาพปกติ ในการบริการต่างๆ ซึ่งมีความหลากหลายมากในสถานบริการเวลเนส
หากประชาชนท่านใดมีข้อสงสัย สามารถสอบถามได้ที่แพทยสภาผ่านช่องทาง ดังนี้ โทร : 02-5901883 หรือE-mail : edu@tmc.or.th
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี