บรรดาสัตว์เลี้ยงที่น่ารักของคนเรานั้น ต้องยอมรับว่าสุนัขและแมวยังคงได้รับความนิยมสูงมากกว่าสัตว์เลี้ยงแปลกๆ ชนิดอื่นเพราะความที่สภาพสังคมในปัจจุบันคนเรามักจะอยู่เป็นโสดมากขึ้นและอยู่ในที่พักที่ไม่กว้างขวางมากนัก จึงทำให้นิยมเลี้ยงสุนัขพันธุ์เล็กและแมว มากกว่าเลี้ยงสุนัขพันธุ์ใหญ่
เมื่อเราเลี้ยงสัตว์เลี้ยงแล้ว เราก็ต้องดูแลสุขภาพของเขาให้ดี เพราะเมื่อเขาเจ็บป่วยขึ้นมา เราก็จะเหนื่อยและต้องเสียค่าใช้จ่ายตามมา วันนี้หมอจะขอเล่าถึงเรื่องปัญหาภาวะข้อสะโพกเสื่อมที่เกิดในสนัขและแมวให้ทุกท่านทราบครับ
โรคข้อสะโพกเสื่อม จัดเป็นโรคของข้อต่อที่พบได้บ่อยในสัตว์ ทั้งสุนัขและแมว โดยเมื่อก่อน เราอาจจะคิดว่าพบได้แต่เพียงในสุนัขพันธุ์ใหญ่ อาทิ โกลเด้นรีทรีฟเวอร์ ลาบราดอร์รีทรีฟเวอร์ ไซบิเรียน เท่านั้น แต่ในความเป็นจริง ภาวะข้อสะโพกเสื่อมยังพบได้ในสุนัขพันธุ์เล็ก อาทิ ชิสุ ชิวาว่า ปอมเมอเรเนี่ยน เฟร้นบูลด็อกเป็นต้น นอกจากนี้ยังพบได้ในแมวด้วย
เราจะทราบได้อย่างไรว่าสุนัขที่เราเลี้ยง หรือกำลังจะนำมาเลี้ยงมีปัญหาข้อสะโพกเสื่อมหรือไม่ หมอขอแนะนำว่าการเลือกสุนัขมาเลี้ยง ควรเลือกที่มีอายุตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป เราจะเห็นการเดินที่ค่อนข้างมั่นคงได้ง่ายกว่าสุนัขหรือแมวที่มีอายุน้อยกว่านั้น รวมถึงจะสังเกตเห็นความแข็งแรงของร่างกายในส่วนอื่นๆ ด้วย
สัตว์ที่มีภาวะข้อสะโพกเสื่อม สามารถสังเกตได้ง่ายๆ เบื้องต้นคือ สัตว์จะเดินก้นส่ายไปมา และเดินขึ้นบันได หรือทางลาดชันได้ยากกว่าปกติ เนื่องจากสัตว์เหล่านี้พิสัยข้อสะโพกจะมีน้อย จึงทำให้ต้องเดินในลักษณะก้นส่ายไปมา
หากเจ้าของสงสัยว่าสัตว์เป็นข้อสะโพกเสื่อมหรือไม่ ขอแนะนำให้พาสุนัขหรือแมวไปพบสัตวแพทย์ด้านกระดูกและข้อ เพื่อหมอจะได้ตรวจ และให้คำแนะนำที่ถูกต้อง เนื่องจากภาวะข้อสะโพกเสื่อมเกิดจากความหลวมผิดปกติของข้อสะโพก ทำให้เกิดความไม่มั่นคงขณะใช้งาน และอาจนำไปสู่ภาวะการหลุดออกของข้อสะโพกได้
สำหรับการดูแลแก้ไขปัญหานี้อย่างถูกต้อง ควรปฏิบัติดังนี้ ในกรณีที่สัตว์อายุน้อย คือยังไม่เกิน 3 เดือน แนะนำให้ปรับพื้นที่การเลี้ยง พื้นที่ใช้ต้องไม่ลื่น และปรับปริมาณอาหารเพื่อไม่ให้สุนัขหรือแมวอ้วน หรือให้นำไปพบสัตวแพทย์เพื่อผ่าตัด ปรับการเจริญของเชิงกราน
หากสัตว์อายุ 6-10 เดือน อาจใช้ยาแก้ปวดร่วมกับการจัดการพื้นที่เลี้ยงดู และคุมน้ำหนักตัวให้เหมาะสม และอาจจะต้องผ่าตัดเปลี่ยนมุมข้อสะโพก เพื่อลดปัญหาการเกิดข้อสะโพกเสื่อมในอนาคต
แต่หากสัตว์อายุมากกว่า 10 เดือน และมีปัญหาข้อสะโพกเคลื่อนหลุด หรือมีความเสื่อมจนกระทั่งไม่สามารถใช้ขาได้ การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมเป็นวิธีเดียวที่จะทำให้สัตว์กลับมาเดินได้เป็นปกติ
ปัจจุบันการเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมทำได้ทั้งในสุนัขพันธุ์ใหญ่พันธุ์เล็ก และแมว การรักษาข้อสะโพกเสื่อมในยุคนี้ทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นอกจากการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมแล้ว การรักษาด้วยวิธีที่ไม่ต้องผ่าตัดก็สามารถทำได้หลายวิธี โดยต้องใช้ร่วมกับวิธีอื่นๆ ได้แก่ ให้ยาแก้ปวด ให้ยาบำรุงข้อ และกายภาพบำบัด และฉีดยาที่มีความจำเพาะเจาะจงกับการรักษาภาวะข้อกระดูกเสื่อม
อย่างไรก็ตาม การใช้วิธีรักษาเหล่านั้นเป็นเพียงการบรรเทาอาการเจ็บปวดข้อสะโพกเท่านั้น ไม่สามารถรักษาภาวะข้อสะโพกเสื่อมได้ถาวร เหมือนกับการเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม ส่วนการทำกายภาพบำบัดเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ได้รับความนิยมมากในปัจจุบัน เพราะสามารถทำได้ทั้งก่อนและหลังการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม
การทำกายภาพด้วยวิธีที่เหมาะสมจะช่วยสร้างความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อส่วนสะโพก ช่วยพยุงร่างกาย ลดภาระของข้อสะโพก ส่งผลให้สัตว์เดินได้ดีมากขึ้น การทำกายภาพนั้นเจ้าของสัตว์สามารถทำให้สัตว์ได้เองที่บ้าน เช่น พาสัตว์เลี้ยงเดินออกกำลังกายช้าๆ บนพื้นที่ไม่ลื่น ตัดขนที่ผ่าเท้าอย่างสม่ำเสมอ และอาจให้สุนัขเดินในน้ำที่มีระดับน้ำสูงประมาณหัวไหล่ของสุนัข จะทำให้สุนัขบริหารกล้ามเนื้อได้ดียิ่งขึ้น
นอกจากนี้ยังมีวิธีการทำกายภาพอื่นๆ อีกมาก แต่จะต้องได้รับคำแนะนำจากสัตวแพทย์ ขอย้ำว่า หากเจ้าของสัตว์สังเกตพฤติกรรมการเดินที่ผิดปกติของสัตว์เลี้ยง ขอให้นำสัตว์เลี้ยงไปพบสัตวแพทย์ครับ เพื่อจะได้รักษาได้ทันการณ์
ผศ.น.สพ.ดร.ชัยกร ฐิติญาณพร
ภาควิชาเวชศาสตร์คลินิกสัตว์เลี้ยง
คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี