Stem cell หรือเซลล์ต้นกำเนิด เป็นเซลล์พิเศษในร่างกายที่มีความสามารถในการแบ่งตัวสร้างเซลล์ที่เหมือนตัวเองได้อย่างยาวนานและเปลี่ยนแปลงไปเป็นเซลล์ชนิดต่างๆ ได้
เซลล์ต้นกำเนิดแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ กลุ่มที่สร้างเซลล์ชนิดใดๆ ก็ได้ในร่างกาย (pluripotent stem cells ) และเซลล์ต้นกำเนิดร่างกาย (somatic stem cells) หรือที่มักถูกเรียกว่าเซลล์ต้นกำเนิดผู้ใหญ่ (adult stem cell)
เซลล์ต้นกำเนิดกลุ่มที่สร้างเซลล์ชนิดใดๆ ก็ได้ในร่างกาย (pluripotent stem cells) ที่รู้จักกันดีได้แก่ embryonic stem cell ที่สร้างจากตัวอ่อนมนุษย์ และ induced pluripotentstem cell : ซึ่งเกิดจากการเหนี่ยวนำเซลล์ร่างกายให้กลายเป็นเซลล์ต้นกำเนิด แม้สร้างเซลล์ชนิดใดๆก็ได้ในร่างกายขึ้นได้ในหลอดทดลอง แต่การนำเซลล์ที่สร้างได้จาก pluripotent stem cell ไปใช้ในผู้ป่วยยังอยู่ระหว่างการทดสอบประสิทธิภาพและความปลอดภัยทางคลินิกระยะต้น
เซลล์ต้นกำเนิดร่างกาย (somatic stem cells) มีหลายชนิด คุณสมบัติแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับว่ามาจากอวัยวะใด ก็จะสร้างเซลล์ชนิดจำเพาะให้กับอวัยวะนั้นๆ เช่น สเต็มเซลล์สมองสร้างเซลล์สมอง สเต็มเซลล์เลือดจากไขกระดูกสร้างเซลล์เม็ดเลือด หลายอวัยวะทำงานได้เพราะ stem cell สร้างเซลล์ขึ้นทดแทนเซลล์ที่ตายไปในชีวิตประจำวัน
เซลล์ต้นกำเนิดร่างกายจะต้องเป็นชนิดที่เหมาะสมและอยู่ในที่ที่จำเพาะจึงทำงานสร้างเซลล์ใหม่ในร่างกาย
เซลล์ต้นกำเนิดร่างกายบางชนิดสามารถนำไปปลูกถ่ายเพื่อรักษาโรค โดยทำให้เกิดการสร้างเซลล์ใหม่ในร่างกาย แต่โรคที่สามารถรักษาได้ยังมีจำกัด
ปัจจุบัน (2567) แพทยสภารับรองเพียงการใช้เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดในการรักษาโรคระบบโลหิตวิทยา และการใช้เซลล์ต้นกำเนิดกระจกตาในการรักษาโรคกระจกตาเท่านั้นเป็นการรักษามาตรฐานในประเทศ การใช้เซลล์ต้นกำเนิดชนิดอื่นๆอาจมีการรับรองเพิ่มเติมในอนาคตเมื่อมีหลักฐานถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัยเพียงพอ
เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดเป็นมาตรฐานของการรักษาโรคเลือดบางชนิด เช่น มะเร็งเม็ดเล็ดขาว โลหิตจางธาลัสซีเมียและ ภูมิคุ้มกันบกพร่องแต่กำเนิด เป็นต้น
-เซลล์ต้นกำเนิดชนิดอื่นๆยังอยู่ระหว่างการวิจัย ซึ่งอาจจะได้ผลหรือไม่ก็ได้ ยังไม่มีข้อมูลเพียงพอว่าเกิดประโยชน์ หรือเกิดผลไม่พึงประสงค์มากน้อยเพียงใด
การนำไปใช้อย่างไม่เหมาะสมทำให้เสียค่าใช้จ่ายจำนวนมากโดยไม่เกิดประโยชน์ในขณะที่อาจเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงได้
- ข้อควรระวัง : ทั้งในประเทศและต่างประเทศมีคลินิกที่หวังผลธุรกิจเสนอการให้บริการด้วย stem cell อย่างไม่เหมาะสมไม่สอดคล้องกับหลักวิทยาศาสตร์การแพทย์อยู่จำนวนมาก
- ข้อควรระวัง : หลีกเลี่ยงคลินิกที่ให้บริการการรักษาด้วย stem cell ในโรคที่แพทยสภาไม่รับรอง เช่น ข้อเข่าหรือการใช้ในด้านความงาม
แม้ว่า stem cell อาจจะมีศักยภาพในการรักษาโรคและฟื้นฟูร่างกาย แต่การวิจัยและพัฒนายังคงดำเนินอยู่ ผู้บริโภคควรมีความระมัดระวังและรับข้อมูลอย่างรอบด้านก่อนตัดสินใจรับการรักษาใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับ stem cell การตัดสินใจควรอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลทางการแพทย์ที่น่าเชื่อถือและได้รับการยอมรับในวงการวิทยาศาสตร์เท่านั้น
คำเตือนและข้อควรระวังจาก US FDA
1.การรักษาด้วย stem cell ส่วนใหญ่ยังอยู่ในขั้นทดลองผู้ป่วยควรระมัดระวังการรักษาที่อ้างว่าใช้ stem cell โดยไม่มีหลักฐานรับรอง
2.ควรตรวจสอบการรับรองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่นอย. ก่อนตัดสินใจรับการรักษาใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับ stem cell
3.การโฆษณาหรือให้ข้อมูลเกี่ยวกับ stem cell ควรมีความถูกต้องและไม่เกินจริง โดยเฉพาะในเรื่องของประสิทธิภาพและความปลอดภัย
4.ผู้ที่สนใจการรักษาด้วย stem cell ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและพิจารณาเข้าร่วมการทดลองทางคลินิกที่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการเท่านั้น
5.ควรตระหนักว่าเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับ stem cell ยังอยู่ในช่วงของการพัฒนา และอาจมีความเสี่ยงที่ยังไม่ทราบในระยะยาว
แหล่งอ้างอิง : ประกาศ แพทยสภา และ กระทรวง สาธารณสุข เพื่อนำประกาศ เพื่อนำไปปฏิบัติ ทั้งกับ คลินิก โรงพยาบาล
รศ.ดร.นพ.นิพัญจน์ อิศรเสนา ณ อยุธยา
หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านสเต็มเซลล์และเซลล์บำบัด คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อ.นพ.กรมิษฐ์ ศุภพิพัฒน์
หัวหน้าหน่วยวิจัยเซลล์ภูมิคุ้มกันบำบัด คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี