โรคไตที่เกิดกับสุนัขนับเป็นปัญหาใหญ่ที่พบบ่อย หากปล่อยไว้จนปลายมือ สุนัขจะตายเพราะโรคนี้ แต่เจ้าของสัตว์ป้องกันโรคได้ โดยพาสัตว์เลี้ยงไปตรวจร่างกายประจำปี หรือตามรอบที่สัตวแพทย์นัดปัจจุบันการตรวจหาโรคในสัตว์เลี้ยง มีความก้าวหน้ามาก ตรวจได้ละเอียดขึ้น มีเครื่องมือช่วยตรวจวินิจฉัย และติดตามโรคได้ดี เมื่อเจ้าของสัตว์พาสัตว์เลี้ยงไปพบสัตวแพทย์ เพื่อตรวจรักษาอาการเจ็บป่วย หรือตรวจสุขภาพประจำตามวงรอบ การตรวจเลือดจึงเป็นส่วนหนึ่งในการวินิจฉัยที่มีความจำเป็นมาก โดยเฉพาะเมื่อพบว่าสัตว์เลี้ยงมีค่าการทำงานของไต และค่าของเสียในร่างกายสูง วันนี้เราจะมาทำความรู้จักเกี่ยวกับโรคไตในสัตว์เลี้ยงกัน
หน้าที่ของไต
ไตมีหน้าที่กรองน้ำกลับ และขับของเสีย เช่น สารพิษ และยาส่วนเกินออกจากร่างกาย โดยขับทิ้งทางปัสสาวะ รักษาสมดุลน้ำและเกลือแร่ รวมถึงควบคุมความดันเลือด และสร้างฮอร์โมนกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดง
โรคไตในสัตว์เลี้ยงมีหลายสาเหตุ ภาวะไตทำงานผิดปกติแบ่งได้ 2 ประเภทคือ ไตวายเฉียบพลัน และไตวายเรื้อรัง เพราะไตเป็นอวัยวะสำคัญที่ทำงานเกี่ยวข้องกับหลายๆ ระบบในร่างกาย เช่นหัวใจ และมีผลต่อระบบทางเดินอาหาร ระบบประสาท ดังนั้น เมื่อไตมีปัญหาจึงส่งผลให้การทำงานของอวัยวะต่าง ๆ มีปัญหาด้วย
สาเหตุการเกิดความผิดปกติของไตในสัตว์เลี้ยง
ติดเชื้อ (infection) โดยเฉพาะติดเชื้อในกระแสเลือด มีโอกาสทำให้ติดเชื้อที่ไต ส่งผลให้เกิดอักเสบในโครงสร้างของไต เช่น โรคพยาธิเม็ดเลือด โรคฉี่หนู (leptospirosis) เป็นต้น
ยาหรือสารพิษ ยางบางกลุ่มเมื่อให้ในเวลานาน หรือได้รับปริมาณสูง การได้รับเคมีบำบัดในการรักษาโรคมะเร็ง อาจเป็นพิษต่อไต หรือสารพิษ เช่น สุนัขกินลูกเกด มีรายงานการเกิดภาวะไตวายเฉียบพลัน ในต่างประเทศพบว่าสุนัขที่กินสารป้องกันการแข็งตัวในระบบหม้อน้ำรถยนต์ (antifreeze) ทำให้เกิดภาวะไตวายเฉียบพลันได้
ได้รับอุบัติเหตุที่ส่งผลต่อโครงสร้างของไต ทำให้ทำงานผิดปกติหรือการฉีกขาดของอวัยวะในการสร้างปัสสาวะ
เกิดนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ เช่น นิ่วที่พบในไต ท่อทางเดินปัสสาวะส่วนต้น ท่อทางเดินปัสสาวะส่วนปลาย ส่งผลต่อการทำงานของไตได้
อายุสัตว์เลี้ยงที่อายุมาก อาจพบสภาวะไตวายเรื้อรังได้บ่อยการทำงานของไตจะลดลง ทำให้ร่างกายสะสมของเสียไว้ สุนัขพันธุ์เล็กจะพบโรคไตได้ที่อายุ 10-14 ปี ส่วนสุนัขพันธุ์ใหญ่จะพบตั้งแต่ 7 ปีขึ้นไป
อาหาร เป็นปัจจัยที่สำคัญของการเกิดโรคไต เช่น อาหารมีโซเดียมฟอสฟอรัส และโปรตีนปริมาณสูง อาจก่อให้เกิดโรคไตได้เช่นกัน หรือสัตว์เลี้ยงที่มีภาวะไตทำงานผิดปกติ ก็ช่วยซ้ำเติมโรคไตที่เป็นอยู่ได้
อาการบ่งบอกว่าสัตว์เลี้ยงมีปัญหาโรคไต
อาการช่วงเริ่มต้นในสัตว์เลี้ยงที่มีปัญหาการทำงานของไตผิดปกติ อาจไม่พบอาการผิดปกติที่ชัดเจนนัก จนกว่าภาวะการทำงานของไตหรือโรคไตมีการพัฒนาเพิ่มมากขึ้น หรือการทำงานของไตลดลงมากกว่า 75 เปอร์เซ็นต์ไปแล้ว เจ้าของจึงต้องใส่ใจและหมั่นสังเกตพฤติกรรมของสัตว์เลี้ยงที่ผิดปกติ การสังเกตอาการเสี่ยงที่จะพบในภาวะไตทำงานผิดปกติ ได้แก่
1.กินน้ำบ่อย ฉี่บ่อย เนื่องจากไตไม่สามารถดูดน้ำคืนกลับตามปกติ ทำให้ผลิตปัสสาวะจำนวนมาก เป็นสาเหตุทำให้กินน้ำมากขึ้นเพื่อชดเชยน้ำที่เสียไป
2.อาเจียน เบื่ออาหาร เนื่องจากเมื่อไตไม่สามารถกำจัดของเสียได้ ทำให้เกิดการสะสมของเสีย และของเสียจะส่งผลให้เกิดการคลื่นไส้ และอาเจียน โดยผ่านการกระตุ้นสารเคมีในสมองส่วนท้าย หากพบการอาเจียนบ่อยต้องพาสัตว์ไปพบสัตวแพทย์เพื่อวินิจฉัยโรค
3.อาการชัก ทรงตัวไม่ได้อ่อนแรง สัตว์ป่วยโรคไตจะเกิดภาวะ“Uremia” หรืออาการเป็นพิษในเลือดจากสารยูเรีย เพราะไตไม่สามารถขับของเสียออก ทำให้สะสมของเสียในเลือดมากขึ้น และเป็นพิษต่อระบบประสาท ทำให้มีอาการชัก
4.ความดันโลหิตสูง ไตทำหน้าที่ควบคุมความดันโลหิต เมื่อไตมีปัญหา การควบคุมความดันโลหิตก็ต่ำลง ทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูง
5.ภาวะโลหิตจาง ไตทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมน Erythropoietin กระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดง เมื่อสัตว์เลี้ยงมีภาวะไตวาย จึงไม่สามารถผลิตฮอร์โมนชนิดนี้ ส่งผลให้เกิดภาวะโลหิตจาง
สัปดาห์หน้าจะเล่าถึงกระบวนการตรวจวินิจฉัยภาวะการทำงานของไตที่ผิดปกติ และเล่าให้ฟังว่าเมื่อพาสัตว์เลี้ยงไปพบสัตวแพทย์ ทำไมจึงต้องตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ วัดความดัน และตรวจต่างๆ อีกมาก เจ้าของสัตว์เลี้ยงจะได้เตรียมตัว และเตรียมสัตว์เลี้ยงให้พร้อมรวมถึงการเตรียมค่ารักษาที่จะตามด้วย
น.สพ.นนทษิต ชุติญาณวัฒน์
โรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี