กระต่ายเป็นสัตว์เลี้ยงชนิดหนึ่งที่น่ารัก จึงมีผู้นิยมเลี้ยงกันมาก เพราะความน่ารักของกระต่ายที่ร่าเริงซุกซน มีขนอ่อนนุ่ม ไม่ส่งเสียงดังรบกวน ใช้พื้นที่เลี้ยงไม่มากจึงเลี้ยงภายในบ้านได้ และการเลี้ยงดูก็ไม่ยุ่งยากมากเมื่อเทียบกับสุนัขและแมว
มีคำถามว่าการเลี้ยงดูกระต่ายต้องระมัดระวังดูแลสุขภาพของเขาอย่างไรบ้าง เราจะสังเกตได้อย่างไรว่ากระต่ายป่วย หรือมีปัญหาสุขภาพ หากเรารู้ได้เร็ว เราก็พาเขาไปพบสัตวแพทย์ได้เร็ว ก็เป็นเรื่องดี และเขาก็จะมีสุขภาพดี อยู่กับเราได้นาน
ข้อสังเกตต่อไปนี้ช่วยให้ทราบว่ากระต่ายกำลังป่วย
• ไม่กินอาหารและน้ำ หรือกินน้อยลง กระต่ายป่วยจะไม่สนใจอาหาร ไม่อยากอาหาร หรือกินแต่เคี้ยวอาหารไม่ได้ หรือเคี้ยวช้าลง ทั้งที่เจ้าของไม่ได้เปลี่ยนชนิดหรือยี่ห้ออาหารที่ให้เป็นประจำ สาเหตุก็เพราะกระต่ายอาจกำลังเจ็บแผลในช่องปาก เพราะว่ามีฟันยาวผิดรูปทิ่มกระพุ้งแก้มหรือลิ้น มักพบอาการเคี้ยวปากผิดปกติ มีเสียงกัดฟัน หรือเคี้ยวอาหารแล้วเศษอาหารหล่นจากปาก บางตัวมีอาการคางเปียกหรือมีน้ำลายไหลออกจากมุมปาก อย่างไรก็ตาม ความผิดปกติที่นอกเหนือจากในช่องปากอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้กระต่ายไม่กินอาหารได้ เช่น ภาวะเครียด เปลี่ยนที่อยู่อาศัย มีการเดินทาง ปวดเพราะอาการบาดเจ็บ หรือปวดภายหลังการผ่าตัด ปวดช่องท้องเพราะท้องอืด หรือภาวะตับบิด กระต่ายแตกต่างจากสุนัขและแมว คือถ้าปวดไม่ถึงขีดสุดจริงๆ กระต่ายจะไม่ส่งเสียงร้อง
• พฤติกรรมที่แสดงออกเปลี่ยนไปจากปกติ เมื่อกระต่ายป่วยมักพบพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เช่น ไม่วิ่งเล่น หรือไม่ขออาหารจากเจ้าของ กรณีที่กระต่ายมีอาการปวดไม่ว่าจะระบบใดในร่างกาย มักพบว่ากระต่ายจะหลบซ่อนตัวตามมุมห้อง หรือมุมกรง หรือพบว่านอนขดตัว ไม่นอนเหยียดตัว ไม่นอนตะแคง อาจพบว่าตาหรี่ลง ตาลอย กัดฟัน หรือใบหูลู่ไปทางด้านหลัง เมื่อพบอาการเหล่านี้เจ้าของต้องรีบนำกระต่ายไปพบสัตวแพทย์
• ฟันไม่สบกัน มักพบว่าฟันไม่สบกันได้โดยสังเกตที่ฟันตัดคู่หน้าที่อาจยื่นผิดรูป ทำให้กัดอาหารไม่ขาด แต่กระต่ายมีฟันบดด้านในที่ไม่สามารถมองเห็นได้เมื่อเปิดปาก เนื่องจากช่องปากแคบ หากฟันในไม่สบกันจะทำให้เกิดมุมฟันแหลมทิ่มช่องปาก ทำให้เป็นแผล ส่งผลให้กระต่ายกินลดลง เคี้ยว/กัดฟันไม่ถนัด หรือน้ำลายไหลออกจากช่องปาก เวลาตรวจช่องปาก สัตวแพทย์จะใช้อุปกรณ์ส่องตรวจฟันกระต่าย ดังนั้น เจ้าของควรพากระต่ายไปตรวจช่องปากเป็นระยะ
• ขนร่วงและปัญหาผิวหนัง ในช่วงอากาศเปลี่ยนแปลง กระต่ายจะผลัดขน ขนจึงร่วง แต่ขนจะขึ้นใหม่เพื่อทดแทน แต่ถ้าหากพบว่ามีขนร่วงเป็นวง ผิวหนังมีสะเก็ด มีสีแดง กระต่ายมีอาการแทะหรือเกาตลอดเวลา อาจเกิดปัญหาโรคผิวหนังจากการติดเชื้อแบคทีเรีย รา หรือปรสิตภายนอก จำพวกไรขนและเหา
• มีอุจจาระผิดปกติหรือไม่ถ่ายอุจจาระ ขนาด รูปร่าง สีและจำนวนอุจจาระเป็นสิ่งที่เจ้าของสังเกตเห็นได้ง่ายและเป็นสิ่งบ่งชี้ปัญหาสุขภาพได้อย่างดี โดยทั่วไปกระต่ายโตเต็มที่จะมีอุจจาระประมาณ 100 เม็ดขึ้นไปต่อวัน โดยทั่วไปอุจจาระจะมีสองรูปแบบ ได้แก่ อุจจาระกลางคืนเป็นอุจจาระรูปร่างคล้ายพวงองุ่นมีเมือกเคลือบ ซึ่งในบางครั้งจะเรียกว่าอุจจาระพวงองุ่น อุจจาระชนิดนี้กระต่ายจะกินกลับเข้าไปเพื่อย่อยใหม่ซึ่งเป็นพฤติกรรมการกินอุจจาระตัวเองเป็นพฤติกรรมตามปกติของกระต่าย หากพบว่าอุจจาระพวงองุ่นหล่นในกรงที่เลี้ยงแสดงว่ากระต่ายกินกลับเข้าไปไม่ได้ อาจเนื่องจากกระต่ายอ้วนหรือปวดหลังทำให้ก้มลงบริเวณทวารหนักไม่ได้ หรือเลี้ยงกระต่ายในกรงที่พื้นเป็นซี่ลวดทำให้อุจจาระหล่นลงผ่านซี่กรง ส่วนอุจจาระแบบที่สอง คืออุจจาระกลางวันมีรูปร่างเม็ดกลมคล้ายลูกปัด ขนาดเท่าๆ กัน ขนาดประมาณ 1 เซนติเมตร รูปร่างกลม มักเป็นสีดำปนน้ำตาล ขึ้นกับคุณภาพอาหารที่เจ้าของให้ หากเจ้าของพบว่ากระต่ายอุจจาระลดลง ขนาดเล็กลงรูปร่างผิดปกติ ไม่พบอุจจาระทรงกลม ถ่ายเป็นมูก หรือเป็นน้ำ แสดงว่าการย่อยอาหารของกระต่ายผิดปกติ นอกจากนี้หากพบว่ากระต่ายไม่อุจจาระใน 1-2 วัน หรือหากพบอาการถ่ายเหลวคล้ายโคลน อาจหมายถึงภาวะติดเชื้อในทางเดินอาหาร หรือทางเดินอาหารหยุดทำงาน ถือว่ากระต่ายอยู่ในภาวะวิกฤต ต้องรีบพาไปพบสัตวแพทย์ทันที
• ปัสสาวะมีสีผิดปกติ สีของปัสสาวะมีได้หลายสีขึ้นกับปริมาณน้ำและชนิดอาหารที่กิน ปัสสาวะที่ดีควรสีใส แต่อาจพบปัสสาวะมีสีขุ่นขาว เหลืองเข้มได้ หากกระต่ายกินน้ำน้อย หรือกินพืชบางชนิดทีมี oxalate และ calcium สูง เช่น อัลฟาฟ่า กรณีที่พบปัสสาวะสีแดงอาจเกิดจากมีเลือดปน ซึ่งเลือดที่พบมาจากโรคระบบทางเดินปัสสาวะ กระเพาะปัสสาวะอักเสบ นิ่ว กรวยไตอักเสบ หรือมีโรคระบบสืบพันธุ์ ได้แก่ มะเร็งหรือเนื้องอกมดลูก อย่างไรก็ตาม การที่พบปัสสาวะสีแดงอาจไม่ได้เป็นเลือดปนเสมอ แต่สีแดงที่พบมาจากการขับเม็ดสีที่มีในอาหาร ที่เรียกว่า prophyrin pigment ที่มีใน carrot bronccoli และกะหล่ำ เป็นต้น หรืออาจเป็นเพราะขณะนั้นได้ให้ยาปฏิชีวนะบางชนิดกับกระต่าย
• หัวเอียง หน้าส่าย ตากระตุก ทรงตัวลำบาก เมื่อพบอาการเหล่านี้ถือเป็นความผิดปกติที่เกิดจากปัญหาทางระบบประสาทหรือปัญหาช่องหูชั้นใน ต้องพากระต่ายไปพบสัตวแพทย์ด่วน เพื่อรักษาทันที
• ตาแฉะ คราบน้ำตาไหลเป็นทาง กรณีนี้มักเกิดจากปัญหาโรคท่อน้ำตาอุดตัน เนื่องจากการอักเสบของท่อน้ำตา หรือจากการถูกรากฟันกดเบียดท่อน้ำตา เมื่อพบปัญหานี้ต้องพาไปพบสัตวแพทย์เพื่อตรวจร่างกายและรักษาด้วยการตรวจตาและท่อน้ำตา รวมถึงตรวจโครงสร้างฟัน
ความผิดปกติและอาการเหล่านี้คือข้อมูลเบื้องต้นที่มีประโยชน์ที่บ่งชี้ว่ากระต่ายกำลังป่วย ดังนั้นเจ้าของต้องสำรวจกระต่ายว่ามีปัญหาสุขภาพหรือไม่ หากมีข้อสงสัยในความผิดปกติ ต้องรีบพาไปพบสัตวแพทย์ ขอย้ำว่า กระต่ายอดทนต่ออาการเจ็บป่วยได้สูงมาก หากปล่อยให้อาการรุนแรงมากอาจสายเกินไปที่จะรักษาได้
ผศ.สพ.ญ.ดร.ทักษอร ดวงอุไร
ภาควิชาเวชศาสตร์คลินิกสัตว์เลี้ยง
คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี