ปัญหาต่อเนื่องจากสัปดาห์ที่แล้วที่มักเกิดในกลุ่มสัตว์เลี้ยง คือปัญหาค่าการทำงานของไตสูงกว่าปกติ เมื่อพาสัตว์ไปพบสัตวแพทย์ แล้วทำไมคุณหมอต้องตรวจอะไรมากมาย ก็ขออนุญาตบอกว่าตรวจเพื่อให้มั่นใจว่าจะดูแลสุขภาพสัตว์ได้ถูกต้องตรงประเด็น
เมื่อสัตว์ป่วยไปถึงโรงพยาบาล คุณหมอจะตรวจอะไรบ้าง
1. ตรวจร่างกายสัตว์และการซักประวัติ โดยตรวจร่างกายตั้งแต่ ดูการตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อมระดับความรู้สึกตัว วัดอุณหภูมิ ฟังเสียงปอด วัดอัตราการเต้นของ
หัวใจ ตรวจสภาวะขาดน้ำความชุ่มชื้นของสีเยื่อเมือก ความแรงของชีพจรและความถี่ มีความสอดคล้องกับอัตราการเต้นของหัวใจหรือไม่ ในกลุ่มสัตว์เลี้ยงที่มีปัญหาโรคไตจะมีกลิ่นปากในลักษณะของยูรีเมีย
2. เจาะตรวจเลือดทางชีวเคมีทางคลินิก ได้แก่ การตรวจค่าการทำงานของไต (creatinine) ค่าของเสียในร่างกาย (BUN) การตรวจระดับ serum symmetric dimethylarginine (SDMA) ตรวจระดับโปรตีนรวม (total protein) ในเลือดระดับอัลบูมินในเลือด (albumin)
3. ตรวจปัสสาวะ เพื่อดูความถ่วงจำเพาะของปัสสาวะสำหรับประเมินภาวะขาดน้ำหรือการได้รับน้ำมากเกินไป หรือดูประสิทธิภาพการกรองของไตที่ลดลง ตรวจดูลักษณะตะกอนที่พบในปัสสาวะ ตรวจการรั่วของโปรตีนในปัสสาวะ (UPC) ซึ่งจะเป็นตัวช่วยประเมินระยะของโรคไต และการทำงานของไตได้ดีขึ้น
4. วัดความดันโลหิต เนื่องจากสัตว์ป่วยในกลุ่มที่มีปัญหาโรคการทำงานของไตผิดปกติจะมีปัญหาการควบคุมความดันโลหิต และมักพบว่าสัตว์ที่มีปัญหาโรคไตจะมีภาวะความดันโลหิตสูง ความดันโลหิตสูงจะส่งผลต่อการทำงานของไต ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของไตลดลง และมีโอกาสทำให้เกิดการทำลายอวัยวะส่วนอื่นได้ (tissue organ damage, TOD) เช่น ความดันโลหิตสูงอาจทำให้เส้นเลือดในสมองแตกได้
5. ตรวจอิเล็กโทรไลต์ เนื่องจากทำหน้าที่ควบคุมสมดุลกรด-ด่างในร่างกาย ช่วยปรับระดับอิเล็กโทรไลต์ให้สมดุลย์ เมื่อไตทำงานผิดปกติจะพบว่าส่งผลต่อร่างกาย เช่น มีระดับโพแทสเซียม แคลเซียมผิดปกติ เป็นต้น
6. ตรวจระดับฟอสฟอรัส เมื่อไตทำงานได้ลดลง การขับฟอสฟอรัสออกจากร่างกายจะทำงานได้ลดลง โดยฟอสฟอรัสส่วนใหญ่ที่พบมักมาจากอาหารที่สัตว์กิน ในกลุ่มของสัตว์เลี้ยงที่มีปัญหาโรคไตจึงจำเป็นต้องควบคุมอาหารให้มีระดับฟอสฟอรัสไม่สูง อาหารที่มีระดับฟอสฟอรัสสูง ได้แก่ ผลิตภัณฑ์จากนม ถั่ว อาหารที่บริโภคทั้งกระดูก เช่น ปลากรอบ เนื้อสัตว์แปรรูป ไส้กรอก แฮม ลูกชิ้น อาหารที่มีส่วนผสมของยีสต์ เช่น ขนมปัง โดนัท เบเกอรี่
7. ตรวจดูโครงสร้างของไต โดยใช้เครื่องอัลตร้าซาวนด์เพื่อประเมินความผิดปกติของโครงสร้างไต เช่น หากพบมีซีส เนื้องอก หรือมีลักษณะไตฝ่อมีขนาดเล็กลง
จากข้อมูลทั้งหมดข้างต้น จะช่วยให้คุณหมอนำข้อมูลไปประมวลสรุปผลรวมกัน และใช้เกณฑ์ของการตรวจเลือดดูค่าการทำงานของไต ตรวจค่า SDMA วัดความดันโลหิต ตรวจปัสสาวะเพื่อดูการรั่วของโปรตีนในปัสสาวะ เพื่อช่วยประเมินระยะของการเป็นโรคไตได้ดีขึ้น
สัตว์ป่วยอยู่ในระยะใด? สามารถดูจาก internationalrenal interest society (IRIS) ที่แบ่งโรคไตออกเป็นสี่ระยะ ในแต่ละระยะจะต้องติดตามดูอาการและให้การรักษาแตกต่างกันไป
การตรวจประเมินว่าสัตว์ป่วยอยู่ในระยะใดต้องให้สัตวแพทย์ผู้ตรวจรักษาเป็นผู้ประเมิน จะเห็นได้ว่ากระบวนการของการตรวจวินิจฉัยเพื่อประเมินนั้นยังมีอีกหลายขั้นตอน โดยวันหน้าจะมาเล่าให้ฟังถึงเรื่องการติดตามและรักษาเพื่อให้สัตว์ป่วยด้วยโรคไตสามารถดำเนินชีวิตให้ได้อย่างปกติมากที่สุด
น.สพ.นนทษิต ชุติญาณวัฒน์
โรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี