การดูแลรักษาอาการเจ็บป่วยของสัตว์เลี้ยงในยุคปัจจุบันมีเครื่องไม้เครื่องมือทันสมัยเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของสัตวแพทย์มากขึ้น ทำให้ช่วยรักษาชีวิตสัตว์เลี้ยงได้มากขึ้นตามไปด้วย และหนึ่งในเครื่องมือช่วยให้สัตวแพทย์ทำงานได้ดียิ่งขึ้นคือ Point-of-Care Ultrasound (POCUS) คือการตรวจอัลตราซาวนด์เฉพาะจุด เป็นเทคนิคที่ได้รับความนิยมมากขึ้นในเวชศาสตร์สัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะในสถานพยาบาลที่ต้องการการวินิจฉัยโรคอย่างรวดเร็วและแม่นยำ เช่น โรงพยาบาลสัตว์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่นำเทคโนโลยีนี้มาใช้เพื่อยกระดับคุณภาพการดูแลสุขภาพสัตว์
จุดเริ่มต้นของเทคโนโลยีอัลตราซาวนด์เริ่มในช่วงกลางศตวรรษที่ 20 โดยใช้คลื่นเสียงความถี่สูงเพื่อสร้างภาพอวัยวะภายใน แต่การใช้อัลตราซาวนด์ในระยะแรกยังมีข้อจำกัดอยู่เฉพาะในโรงพยาบาลใหญ่ และเครื่องมือยุคแรกยังมีขนาดใหญ่
จนช่วงทศวรรษ 1980 อัลตราซาวนด์เริ่มพัฒนาสู่การใช้งานในสถานการณ์ที่เร่งด่วน และภาคสนาม โดยเฉพาะในวงการแพทย์ฉุกเฉิน เช่น การประเมินการบาดเจ็บในผู้ป่วยอุบัติเหตุ(Focused Assessment with Sonography in Trauma หรือ FAST)
พัฒนาสู่ POCUS
เมื่อเทคโนโลยีเครื่องอัลตราซาวนด์มีขนาดเล็กลงและสะดวกต่อการพกพา POCUS จึงเกิดขึ้นในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 และได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายในวงการแพทย์ที่รักษามนุษย์ เพราะช่วยลดระยะเวลาการวินิจฉัยและเพิ่มความแม่นยำของการตัดสินใจ จนนำไปสู่การประยุกต์ใช้ในสัตวแพทยศาสตร์
ในวงการสัตวแพทย์ POCUS เริ่มมีบทบาทสำคัญในช่วงต้นศตวรรษที่ 21 โดยถูกนำมาใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น การประเมินของเหลวในช่องอกหรือช่องท้อง และตรวจระบบหัวใจและหลอดเลือดในสัตว์เลี้ยง อีกทั้งยังใช้ติดตามอาการหลังการผ่าตัดหรือการรักษา จนปัจจุบัน POCUS กลายเป็นเครื่องมือมาตรฐานในสถานพยาบาลหลายแห่งเพราะสามารถตอบโจทย์ความต้องการในสถานการณ์เร่งด่วน และเพื่อการดูแลสัตว์เลี้ยงอย่างครอบคลุม โดยสัตวแพทย์สามารถเข้ารับการฝึกอบรมการใช้งานได้สะดวกและง่ายดาย ทำให้เครื่องมือนี้ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องในวงการสัตวแพทย์ทั่วโลก
การประยุกต์ POCUS ใช้ในสัตว์เลี้ยง
1.ประเมินภาวะฉุกเฉิน เหมาะสำหรับกรณีฉุกเฉิน เช่น การประเมินของเหลวในช่องอกหรือช่องท้อง (pleural effusion, ascites)หรือภาวะช็อก (shock) จากการเสียเลือดหรือการบาดเจ็บภายใน
2.การวินิจฉัยเบื้องต้น ในกรณีที่สัตว์มีอาการอาเจียนเรื้อรัง ท้องเสีย หรือปัสสาวะผิดปกติ สามารถช่วยตรวจพบก้อนเนื้อ การอุดตัน หรือการอักเสบในทางเดินอาหารหรือทางเดินปัสสาวะได้
3.การติดตามอาการ หลังการรักษาหรือผ่าตัด ช่วยประเมินความคืบหน้าของการฟื้นตัว เช่น การตรวจการไหลเวียนของเลือดในหัวใจหรือการสะสมของของเหลวในช่องท้อง
ข้อดีของ POCUS
1.รวดเร็วและสะดวก สามารถใช้งานได้ทันทีในพื้นที่คลินิกไม่ต้องเสียเวลานัดหมายกับผู้เชี่ยวชาญ
2.ปลอดภัย เพราะการตรวจด้วยวิธีนี้ไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดหรือความเสี่ยงแก่สัตว์เลี้ยง
3.ลดค่าใช้จ่าย เจ้าของสัตว์ไม่เสียค่าใช้จ่ายสูง จากการส่งต่อไปยังเครื่องมือขั้นสูง
ข้อจำกัดของ POCUS แม้วิธีนี้จะมีประโยชน์มาก แต่การใช้งานยังขึ้นอยู่กับความชำนาญของสัตวแพทย์ เนื่องจากการแปลผลภาพจำเป็นต้องอาศัยความเข้าใจเชิงลึกเกี่ยวกับกายวิภาคและพยาธิสภาพ
โดยสรุป กล่าวได้ว่า Point-of-Care Ultrasound (POCUS) เป็นเครื่องมือที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการวินิจฉัยและการดูแลสัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะในสถานการณ์ฉุกเฉินและการติดตามอาการอย่างเหมาะสม จึงช่วยให้สัตวแพทย์ดูแลรักษาสัตว์ได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพสูง
น.สพ.ธีทัต ตั้งปกรศักดิ์
ศูนย์ภาพวินิจฉัยและรังสีรักษา
โรงพยาบาลสัตว์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี