พ่อแม่มักบอกว่ารักลูก และต่างก็มีวิธีเลี้ยงดูอบรมลูกแตกต่างกันไป
ครอบครัวที่จะกล่าวถึงนี้ มีวิธีการอบรมลูกที่แปลกและไม่ดี
พ่อแม่เดิมมีฐานะยากจน แต่ทำงานเก่ง ขยัน ฉลาด และประหยัด จึงสร้างตัวได้และมีฐานะดี
เขามีลูก 4 คน เป็นชายล้วน อายุไล่เลี่ยกัน เป็นนักศึกษาทั้งหมด
แต่ละคนเรียนเก่ง และเลือกเรียนสาขาวิชาที่ติดอันดับทั้งนั้น เช่น แพทย์ วิศวกรรมศาสตร์ ทันตแพทย์ เภสัชศาสตร์
ทั้ง 4 คน แลดูเหมือนรักกันดี แต่เมื่อเขาอยู่ใกล้กันหรือต้องทำกิจกรรมร่วมกัน เขาจะทะเลาะกัน ก้าวร้าวไม่เกรงใจกัน ถึงขั้นขึ้นเสียงด่าทอ หรือชกต่อยกันเสมอ
วิธีการที่พ่อแม่อบรมเลี้ยงดูลูกตั้งแต่เล็กๆ ก็คือ
ถ้ามีลูกคนใดทำผิด พ่อจะเรียกมาต่อว่า ประณาม ลงโทษรุนแรงต่อหน้าลูกคนอื่นๆ ชี้ให้เห็นว่าลูกคนนี้ทำตัวไม่ดีหรือ “เลว” อย่างไร (เขามักใช้คำว่า “เลว” เสมอ) อย่าให้คนอื่นเอาอย่าง
และแถมท้ายว่า ตัวเขาเองเคยลำบากมาก่อน แต่ก็ไม่เคยทำตัวเลวอย่างนี้ พร้อมทั้งยกตัวอย่างความดีของตัวเองให้ลูกๆ ฟังเสมอ
ถ้ามีลูกคนใดคนหนึ่งทำดี เขาก็จะเอามาพูดให้ลูกๆ ทุกคนฟังต่อหน้า ชี้ให้เห็นว่าคนนี้เป็นคนดี ทำตัวอย่างดีๆ แต่ก็จะลำเลิกย้อนหลังความไม่ดีของลูกคนนั้นให้ทุกคนฟังด้วย
พ่อมักมีสีหน้า ท่าทาง น้ำเสียง ของความก้าวร้าว เด็ดเดี่ยวเชื่อมั่นตัวเองสูงและเผด็จการ
ส่วนแม่ก็เป็นแม่บ้านที่ชอบบ่น ดุ ว่า เตือนลูกเสมอ จับผิดเก่ง และมักก้าวร้าวกับลูก แม่กับพ่อมักทะเลาะกันบ่อยๆ
ลูกทั้งหมดรู้สึกไม่ปลอดภัยและไม่ภูมิใจตัวเองเมื่ออยู่ในครอบครัวแบบนี้
เด็กจึงเอาตัวรอดโดยการแข่งขันกันเรียนให้เก่ง เพื่อให้พ่อแม่พอใจ และก็แข่งขันกันเองเพื่อจะให้พ่อแม่พอใจ “ที่สุด”
ความเกรงใจและนับถือกันเองระหว่างพี่น้องก็ไม่มี เพราะเคยเห็นพ่อประณามความไม่ดีของแต่ละคนให้ฟังหมดแล้ว น้องก็ไม่นับถือพี่ พี่ก็ไม่เกรงใจน้อง เพราะต่างมองว่าทุกคนไม่ดี (หรือเลว) ทั้งนั้น
เมื่อเติบโตต่อไปลูกจะไม่รักกัน ทุกคนอาจจะเรียนเก่ง (IQ ดี) แต่สุขภาพจิตและอารมณ์ไม่ดี (EQ ไม่ดี) พร้อมจะแก่งแย่ง อิจฉากัน ถ้าพ่อแม่มีทรัพย์สมบัติมาก และไม่เตรียมวางแผนแบ่งสมบัติล่วงหน้าอย่างเหมาะสมเด็ดขาดก่อนตาย ลูกๆ อาจทะเลาะแย่งชิงสมบัติจนถึงขั้นทำร้ายกันได้ถึงตายได้ แม้ว่าแต่ละคนจะเรียนเก่ง การงานดี มีฐานะดีอยู่แล้วก็ตาม
วิธีการที่เหมาะสมสำหรับการอบรมลูกเหล่านี้ก็คือ…
ถ้าลูกคนใดทำผิด ให้พ่อเรียกเข้ามาอบรมตามลำพัง โดยกล่าวถึงความดีของเขาก่อน บอกเขาว่าเรารักเขา แต่เขามีข้อบกพร่องบางอย่าง ซึ่งถ้าหากแก้ไขได้ เขาก็จะดีมากขึ้นเราจะรักเขามากขึ้น แล้วพ่อแม่จึงสร้างเงื่อนไขว่า ถ้าทำไม่ได้จะให้ลงโทษอย่างไร ซึ่งเป็นการลงโทษตามสมควร ไม่ใช่โหดร้าย ให้เขาบอกเป็นข้อๆ ไป อาจให้เขาเขียนบันทึกเอาไว้เป็นหลักฐานด้วย
เมื่อเขาทำผิดอีก เขาจะยอมรับการลงโทษด้วยความเต็มใจตามข้อตกลงกัน เพราะเขามีส่วนกำหนดโทษ
ถ้าลูกคนใดทำดี ก็ให้เรียกเข้ามาชมเป็นการส่วนตัว ให้ชมมากๆ ว่าพ่อแม่ภูมิใจตัวเขา
ส่วนกฎเกณฑ์ของบ้าน กติกาเรื่องการทำผิด-ทำถูกนั้น ควรพูดพร้อมกันต่อหน้าลูกทุกคน แต่ไม่ให้ยกตัวอย่างคนใดคนหนึ่งว่าผิดหรือถูก ควรสอนให้ลูกเกรงใจและให้เกียรติกัน โดยเรียกลูกคนโตเข้ามาคุยตามลำพัง เรารักเขาเพราะเขาร่วมทุกข์ร่วมสุขกับพ่อแม่มาก่อน และจะรักเขามากขึ้นถ้าหากเขาดูแลน้อง เป็นแบบอย่างให้น้องได้
และเรียกน้องเข้ามาคุยตามลำพัง บอกเขาว่าเรารักเขาเพราะเขาน่ารัก และจะรักมากขึ้นถ้าเขาเกรงใจพี่ ให้เกียรติและเชื่อฟังพี่
ตกลงพี่น้องจะรักกัน พี่จะดูแลน้อง และน้องก็จะเกรงใจพี่
ไม่ใช่สอนให้พี่น้องทะเลาะกัน เพราะพ่อแม่แสดงความลำเอียงให้ลูกเห็น หรือลงโทษแบบประจาน
ถ้าจะชมลูก ให้ชมลูกทุกคนว่าเป็นคนเก่ง คนดี แต่คนละแบบพ่อแม่ภูมิใจทุกคน
ส่วนคนที่ทำความดีนั้น หรือได้รางวัลนั้น เพียงบอกให้ทุกคนทราบก็พอแล้ว แต่พ่อแม่ควรเรียกเข้ามาชมเชยเป็นพิเศษอีกครั้งดังกล่าวแล้ว
ส่วนความเก่งและดีของพ่อแม่นั้น ถ้าอยากเล่า ให้เล่าตอนทุกคนในบ้านอารมณ์ดี และให้กำลังใจเขาว่า ลูกทุกคนก็เก่งและดีอยู่แล้ว ต้องทำได้แน่ๆ อย่าเอาตัวอย่างตัวเองไปเล่าตอนกำลังจับผิดหรือลงโทษลูกอยู่ เหมือนเป็นการเปรียบเทียบและยกตนเอง เขาจะไม่ชอบพ่อแม่
ถ้าพ่อแม่อบรมลูกดังกล่าวแล้ว จะทำให้ลูกเกรงใจ ให้เกียรติกัน และรักพ่อแม่ด้วย
ท่าทีของพ่อแม่ควรจะแสดงความรักลูกๆ ได้ โดยการยิ้มแย้ม ทักทาย ชมเชย และช่วยเหลือ แล้วจึงสอนหรือแนะนำ ลูกจะชอบพ่อแม่มาก และจะทำตามคำแนะนำ
ลูกที่เรียนเก่งๆ เหล่านี้ จึงจะเติบโตเป็นทรัพยากรที่ดีของชาติต่อไป
ไม่ใช่เก่งแต่สมอง แต่วุฒิภาวะทางอารมณ์และจิตใจต่ำต้อย ขี้อิจฉา ริษยา ใจน้อย ระแวง หรือก้าวร้าวเข้าหากันเอง อย่างที่พบเห็นได้มากมายขณะนี้
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี