ปัจจุบันคนไทยจำนวนไม่น้อยมีความรู้ มีความเข้าใจในการเลี้ยงสัตว์เลี้ยงมากขึ้น โดยเฉพาะสุนัข และแมว ส่งผลให้สัตว์เลี้ยงมีอายุยืนยาวขึ้น แต่เมื่อสัตว์อายุยืนก็อาจจะพบโรคในกลุ่มที่เกิดกับสุนัขและแมวสูงวัยเพิ่มขึ้นเช่นกัน หนึ่งในโรคที่พบมากคือโรคหัวใจโดยสุนัขแต่ละสายพันธุ์และแมวมักจะเกิดโรคหัวใจชนิดต่างๆ ดังนี้
ในกลุ่มสุนัขพันธุ์เล็ก โรคหัวใจที่พบมากที่สุดคือโรคลิ้นหัวใจเสื่อม (degenerative mitral valve disease หรือ DMVD)โดยเฉพาะสายพันธุ์คาวาเลียคิงชาร์ลส์สแปเนียล เสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้มากกว่าพันธ์ุอื่นๆ และยังมีโอกาสพบโรคได้ตั้งแต่อายุยังน้อย
ส่วนสุนัขพันธุ์เล็กสายพันธุ์อื่นๆ เช่น ปอมเมอเรเนียนยอร์คเชียร์เทอร์เรีย พุดเดิ้ล มิเนเจอร์ชเนาเซอร์ มอลทีส ชิวาวา มักพบโรคในสุนัขอายุมาก โดยพบความเสื่อมของลิ้นหัวใจที่กั้นระหว่างหัวใจห้องบนซ้ายกับห้องล่างซ้าย ทำให้ลิ้นหัวใจหนาขึ้น จนทำให้ปิดไม่สนิท ส่งผลให้ลิ้นหัวใจรั่ว มีเลือดไหลย้อนกลับเข้าไปในหัวใจห้องบนซ้าย ทำให้เลือดค้างที่หัวใจห้องบนซ้ายมากขึ้น แล้วเกิดการภาวะน้ำท่วมปอดตามมา
ส่วนสุนัขพันธุ์ใหญ่ จะพบโรคกล้ามเนื้อหัวใจ ชนิดห้องหัวใจขยายใหญ่ (dilated cardiomyopathy หรือ DCM) เป็นโรคที่พบมากในสุนัขพันธุ์บ๊อกเซอร์ โดเบอร์แมน เกรทเดน และอาจพบได้บ้างในสุนัขพันธุ์ขนาดกลาง เช่น ค๊อกเกอร์ สเเปเนียล โดยโรคนี้จะพบมากในสุนัขอายุมาก
โรคกล้ามเนื้อหัวใจชนิดห้องหัวใจขยายใหญ่เป็นโรคที่ทำให้เกิดความผิดปกติที่กล้ามเนื้อหัวใจ ส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจไม่สามารถบีบตัวได้ตามปกติ ทำให้เกิดการคงค้างของเลือดภายในหัวใจ และเกิดภาวะหัวใจโต เมื่อหัวใจทำหน้าที่ได้ไม่ปกติ จะส่งผลให้เกิดการคั่งเลือดในหลอดเลือดในอวัยวะต่างๆ ที่ส่งไปเลี้ยงร่างกาย และทำให้เกิดภาวะน้ำท่วมปอด มีของเหลวสะสมในช่องท้อง หรือช่องอก และตามเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง
นอกจากนี้ยังอาจพบอาการเป็นลม อ่อนแรง เหนื่อยง่ายอีกด้วย แต่ที่สำคัญโรคนี้ยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะ และทำให้สัตว์ป่วย จนเสียชีวิตแบบเฉียบพลัน
ส่วนโรคหัวใจในแมวที่พบมากที่สุดคือโรคกล้ามเนื้อหัวใจหนากว่าปกติ (hypertrophic cardiomyopathy หรือ HCM) แมวทุกสายพันธุ์มีโอกาสเป็นโรคนี้ แต่อย่างไรก็ตาม แมวสายพันธุ์เมนคูน แร็กดอล เปอร์เซีย สฟิงซ์ และอเมริกันช็อตแฮร์มีความเสี่ยงจะเป็นโรคนี้มากกว่าปกติ ทำให้มีโอกาสพบโรคได้ตั้งแต่อายุยังน้อย แมวส่วนมากที่เป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจหนามักไม่แสดงอาการป่วย แต่เมื่อภาวะของโรคพัฒนามากขึ้น เพราะกล้ามเนื้อหัวใจห้องล่างหนามากจะทำให้เลือดค้างอยู่ที่หัวใจห้องบนมากขึ้น ทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวและภาวะลิ่มเลือดอุดตัน (aortic thromboembolism) ตามมา โดยภาวะหัวใจล้มเหลวจะพบว่ามีน้ำท่วมปอด หรือมีของเหลวสะสมในช่องอก ส่วนภาวะลิ่มเลือดอุดตัน แมวจะแสดงอาการไม่ใช้สองขาหลังลากขา ปลายเท้าเย็น ปลายเท้าซีด หรือม่วง และแมวจะเจ็บปวดที่ขาทั้งสองข้างอย่างมาก
จากที่กล่าวมาแล้วข้างต้น จะเห็นได้ว่าโรคหัวใจเปรียบเสมือนภัยเงียบในสัตว์เลี้ยง เนื่องจากสัตว์ที่เป็นโรคนี้ในระยะแรกมักไม่แสดงอาการผิดปกติ เนื่องจากหัวใจยังปรับสมดุลเพื่อรักษาสภาพการทำงานให้เป็นปกติได้ แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งที่การดำเนินไปของโรคแย่ลง จนสุดท้ายจะนำไปสู่ภาวะหัวใจล้มเหลวในที่สุด ขอเน้นว่าอาการภาวะหัวใจล้มเหลว จะพบว่ามีภาวะน้ำท่วมปอด มีของเหลวสะสมในช่องอก หรือช่องท้อง ทำให้สัตว์ไอ หายใจลำบาก เหนื่อยง่าย ผอม ช่องท้องขยายขนาดขึ้น และวูบหมดสติหรือเป็นลมได้
ดังนั้นหากพบว่าสัตว์เลี้ยงมีอาการข้างต้น ต้องรีบพาไปพบสัตวแพทย์ ส่วนการวินิจฉัยโรคหัวใจเบื้องต้น สามารถทำได้ด้วยการซักประวัติอาการของสัตว์ป่วยจากเจ้าของสัตว์ และการตรวจร่างกายสัตว์ จากนั้นจึงพิจารณาตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม ซึ่งนิยมใช้การถ่ายภาพรังสีหรือเอกซเรย์ ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (echocardiography) แต่หากสัตว์เลี้ยงป่วยเป็นโรคหัวใจ แต่ยังไม่พบภาวะหัวใจล้มเหลว สัตวแพทย์จะยังไม่ให้ยาเพื่อรักษา แต่จะติดตามอาการของสัตว์อย่างใกล้ชิด
ส่วนในสัตว์ที่แสดงอาการภาวะหัวใจล้มเหลว สัตวแพทย์จะรักษาโดยมุ้งเน้นไปที่การใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการ เพื่อให้หัวใจคงสภาพการทำงานให้ปกติมากที่สุด และจะควบคุมอาการภาวะหัวใจล้มเหลวให้ได้มากที่สุด
การดูแลสัตว์ที่มีภาวะหัวใจล้มเหลว ต้องพาสัตว์เลี้ยงไปหาสัตวแพทย์ตามนัดอย่างเคร่งครัด และเจ้าของสัตว์ต้องให้ยาสัตว์ป่วยอย่างสม่ำเสมอ และต้องควบคุมอาหารที่มีเกลือ เช่น ต้องให้อาหารที่มีปริมาณเกลือจากมวลอาหารแห้งน้อยกว่า 0.2 เปอร์เซ็นต์ ส่วนอาหารที่คนเลี้ยงทำเอง ก็ต้องเป็นเนื้อสัตว์ต้ม ทอด นึ่ง ย่าง แต่ไม่ต้องปรุงรสเพิ่มเติม และต้องให้สัตว์ออกกำลังกายด้วย แต่ต้องไม่ให้ออกกำลังกายหนักเกินไป และต้องติดตามดูอาการของสัตว์ป่วยอย่างใกล้ชิด หากพบว่ามีอาการเหนื่อยหอบ ต้องหยุดออกกำลังกายทันที และเจ้าของสัตว์ต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของสัตวแพทย์อย่างเคร่งครัดเช่นกัน เพื่อให้สัตว์มีชีวิตยืนยาวต่อไป
สัตวแพทย์หญิงนาถปรียา เพิ่มเจริญ (อว. สพ. อายุรศาสตร์)
สัตวแพทย์ประจำหน่วยโรคหัวใจ
โรงพยาบาลสัตว์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี