โรคสปอโรทริโคสิสในแมวเกิดจากเชื้อสปอโรทริกซ (Sporothrix spp.) โรคนี้มาจากเชื้อราคือ Sporothrixschenckii เป็นเชื้อราที่เปลี่ยนรูปร่างกลับไปมาได้ เชื้อนี้อาศัยทั่วไปในธรรมชาติ ซากพืช เปลือกไม้ ฟาง มอส ไม้ ดิน ที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส ในลักษณะราสายแล้วเปลี่ยนเป็นยีสต์ขนาดเล็กในเนื้อเยื่อของคนหรือสัตว์ หรือที่อุณหภูมิ 37 องศาเซลเซียสพบมากในพื้นที่เขตร้อน แต่ก็มีรายงานว่าพบในอเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ ยุโรป บราซิล เอเชีย โดยในเอเชีย ได้แก่ ญี่ปุ่น มาเลเซีย และไทย
สิ่งมีชีวิตที่สามารถติดเชื้อนี้ ได้แก่ แมว คน สุนัข สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่นๆ เช่น ม้า อูฐ วัว หมู และสัตว์ปีก แต่เชื้อนี้ไม่แพร่จากคนสู่คน แต่แพร่จากแมวสู่แมว แมวสู่คนได้
กลไกการก่อโรค
แมวรับเชื้อมาจากสิ่งแวดล้อม ผ่านทางผิวหนังที่ถูกทิ่มตำ หรือจากการสูดหายใจ แล้วแพร่เชื้อต่อไปสู่สิ่งมีชีวิตอื่นทางช่องทางหลัก ได้แก่ การข่วน การกัด เชื้อจะอยู่ที่ชั้นผิวหนังและใต้ผิวหนัง หลังจากนั้นจึงค่อยแพร่ไปสู่ต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ใกล้เคียงกับแผล ทำให้เกิดต่อมน้ำเหลืองอักเสบ หรือกระจายเข้าสู่ระบบต่างๆ ผ่านหลอดเลือด มีระยะฟักตัวของเชื้อ3-30 วัน โดยผิวหนังบริเวณที่ติดเชื้อจะแข็ง แล้วนิ่มลงอย่างช้าๆ โดยทั่วไปมักมีหนองหรือเลือดออกด้วย ต่อมาเป็นแผลหลุมมีหนอง มีขอบยกนูนขึ้นเล็กน้อย
การวินิจฉัย
- อาการบาดแผลเรื้อรัง ลักษณะก้อนนูน มีหลุมแผลที่ปริแตก มีเลือด มีหนอง ตำแหน่งที่พบบ่อย ได้แก่ เท้า ขา ลำตัว ใบหน้า จมูก รอบตา ใบหู
- การวินิจฉัยที่ให้ผลยืนยันชัดเจน คือ การเพาะแยกเชื้อหากยืนยันแยกเชื้อได้แล้วสามารถตรวจเพิ่มเติมการรับความไวยาต้านเชื้อราต่อได้
- การวินิจฉัยเบื้องต้นที่มีประโยชน์ คือ การตรวจเซลล์วินิจฉัย เป็นวิธีที่เร็ว มีความไว ทำง่าย ราคาถูก หากพบเชื้อยีสต์สามารถตัดสินใจรักษาได้ก่อนผลเพาะเชื้อจะออก แต่ผลการตรวจจะลดความไวลง หากได้ใช้ยารักษามาก่อน
- การวินิจฉัยอื่นๆ ได้แก่ การตรวจจุลพยาธิวินิจฉัยพีซีอาร์ (PCR, Polymerase Chain Reaction)
- ผลโลหิตวิทยามักพบภาวะโลหิตจางแบบที่ไม่พบการตอบสนองของไขกระดูก เม็ดเลือดขาวสูง ผลเคมีในเซรั่มพบภาวะโปรตีนโกลบูลินสูง โปรตีนอัลบูมินต่ำ การสูงขึ้นของเอนไซม์ตับ
ข้อแนะนำ
- หากถูกแมวที่สังสัยว่าเป็นโรคนี้กัดหรือข่วน ควรรีบล้างด้วยสบู่ที่มียาฆ่าเชื้อ chlorhexidine 2% หรือ povidone iodine
- สัตวแพทย์และเจ้าของที่ดูแลแมวที่เป็นโรคนี้ขณะทำการล้างแผล ควรสวมถุงมือ เสื้อกาวน์ หน้ากาก รองเท้ามิดชิดระมัดระวังการถูกกัดหรือข่วน
- ทำความสะอาดกรง ตะกร้าใส่แมว ของใช้ที่ปนเปื้อนเชื้อนี้ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อที่มีส่วนผสมของโซเดียมไฮโปคลอไรท์(sodium hypochlorite) 1% นาน 10 นาที หรือน้ำยาอื่น ได้แก่hydrogen peroxide และ polihexametilene biguanide (PHMB) ตามด้วยแอลกอฮอล์ 70% เช็ดด้วยกระดาษทิชชู่ให้แห้ง หรือนำไปตากแดด
- แยกแมวที่ถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคนี้จากแมวตัวอื่น
- เลี้ยงไว้เพียงในบ้านจนกว่าจะรักษาหายดี เชื้อสามารถปนเปื้อนไปสู่ดินหรือสิ่งแวดล้อมได้ หรืออาจรับเชื้อเพิ่มได้
- หากแมวเสียชีวิต ต้องนำไปเผา ไม่ควรฝัง เพราะอาจนำพาเชื้อนี้กลับสู่สิ่งแวดล้อมและสัตว์เลี้ยงตัวอื่นได้
- เจ้าของที่ดูแลแมวป่วยโรคนี้ที่มีอาการผิดปกติของผิวหนัง และ/หรือต่อมน้ำเหลืองอักเสบต้องรีบไปพบแพทย์
- การวินิจฉัยโรคได้ตั้งแต่ระยะต้นและได้รับการรักษารวดเร็ว ได้รับยาต้านเชื้อราที่เหมาะสม มีโอกาสหายจากโรคติดเชื้อนี้ได้ และยังช่วยป้องกันและลดการแพร่กระจายเชื้อได้ด้วย
รศ.สพ.ญ.ดร.ทัศนีย์ เจริญทรง
ภาควิชาเวชศาสตร์คลินิกสัตว์เลี้ยง
คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี