การระบาดของโนโรไวรัส (norovirus) ในประเทศไทย
การระบาดของโนโรไวรัส (norovirus) ในประเทศไทยมีหลายครั้ง รายงานสาเหตุของโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันในปี พ.ศ. 2564 จนถึง 2567 พบว่า มีการระบาดทุกปี
ในฤดูฝนและหนาว (ในกราฟเป็น สีส้มและสีน้ำเงินเข้ม) และในสถานที่ที่มีการรวมกลุ่มคน เช่น โรงเรียนและสถานที่ท่องเที่ยว รายงานผลการเฝ้าระวังเชื้อไวรัสก่อโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันประจำปีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 จนถึงเดือนพฤศจิกายน 2567 พบเชื้อ Norovirus GII ร้อยละ 34.52 รองลงมาคือ Rotavirus ร้อยละ 30.46 และ Sapovirus ร้อยละ13.20 และ Norovirus G1 ร้อยละ 3.05 ดังแสดงในกราฟข้างล่าง
ตัวอย่างของเหตุการณ์ที่มีการระบาดของเชื้อโนโรไวรัส
ในโรงเรียนที่รัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา ในปีพ.ศ. 2554 มีการระบาดที่เชื่อมโยงกับงานเลี้ยงอาหารที่จัดขึ้นในโรงเรียนแห่งหนึ่ง มีนักเรียนและผู้ปกครองประมาณ 100 คนป่วยด้วยอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ เช่น อาเจียนและท้องเสีย การสอบสวนพบว่าอาหารที่บริการในงานเลี้ยงมีการปนเปื้อนของโนโรไวรัส ซึ่งเกิดจากการไม่ปฏิบัติตามมาตรการสุขอนามัยในการเตรียมอาหาร โรงเรียนจึงถูกปิดชั่วคราวเพื่อทำความสะอาดและฆ่าเชื้อ
เรือท่องเที่ยวสำราญ มีรายงานจนถึงเดือนธันวาคม 2567 ว่า เคยมีเกิดการระบาดของไวรัสโนโรบนเรือสำราญแล้วสามลำ ส่งผลกระทบต่อผู้โดยสารและสมาชิกในทีมหลายร้อยคน เรือเหล่านี้มีชื่อว่า Ruby Princess, Rotterdam และ Zuiderdam
ตัวอย่างที่เก็บส่งตรวจและวิธีการวินิจฉัยเชื้อโนโรไวรัสในห้องปฏิบัติการ
การเก็บตัวอย่างอุจจาระ แนะนำให้เก็บตัวอย่างอุจจาระในระยะเฉียบพลันของโรคในขณะที่อุจจาระยังเป็นของเหลวหรือกึ่งของเหลว หากสงสัยว่าอาหารหรือน้ำเป็นสาเหตุ ควรเก็บตัวอย่างให้เร็วที่สุดและเก็บในตู้เย็นทันทีหากยังไม่สามารถส่งตรวจได้ ที่แนะนำให้เก็บเนื้ออุจจาระเป็นตัวอย่างส่งตรวจพราะมีเชื้อไวรัสมากกว่า อย่างไรก็ตาม สามารถใช้การป้ายเก็บตัวอย่างจากทวารหนักและสิ่งของอาเจียนได้ หากเป็นการสอบสวนการระบาด ควรเก็บตัวอย่างจากผู้ป่วยอย่างน้อยห้ารายในระยะเฉียบพลันของการระบาดของโรค การตรวจถึงระดับจำแนกประเภทพันธุกรรมของไวรัสจะสามารถช่วยระบุแหล่งที่มาของเชื้อที่เกิดจากการสัมผัสสิ่งปนเปื้อนหรือเป็นสายพันธุ์ที่เกิดขึ้นใหม่
วิธีการวินิจฉัยในห้องปฏิบัติการของการติดเชื้อโนโรไวรัสส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับการตรวจหา RNA ของไวรัสหรือแอนติเจนของไวรัสในตัวอย่างอุจจาระด้วยวิธีต่างๆ ดังนี้
l การทำ RT-PCR เป็นวิธีการวินิจฉัยที่ใช้บ่อย โดยทั่วไปมีความไวมากกว่าการตรวจหาเชื้อด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน
l การตรวจด้วย EIA ทำได้รวดเร็วและมีราคาถูก แต่มีความไวและความจำเพาะต่ำ ทำให้มีอัตราผลลบเท็จสูง
l การตรวจหาด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน สามารถตรวจพบเชื้อไวรัสได้ แต่ให้ผลลบเท็จได้
l การตรวจด้วย LAMP เป็นวิธีที่ง่ายซึ่งสามารถใช้ในห้องปฏิบัติการที่มีทรัพยากรจำกัด
l การตรวจด้วยเทคนิค REAL-TIME TaqMan และ SYBR Green ใช้ในการวัดปริมาณ DNA หรือ RNA เฉพาะและการแสดงออกของยีน
ส่วนวิธีการตรวจหาเชื้อที่ให้ผลเร็วภายใน 1-2 วัน สำหรับการตรวจในตัวอย่างอุจจาระของผู้ป่วย ได้แก่
l SD BIOLINE Norovirus
วิธีการทดสอบแบบอิมมูโนโครมาโทกราฟี สามารถตรวจหาแอนติเจนของเชื้อโนโรไวรัสในตัวอย่างอุจจาระ ใช้ในการช่วยวินิจฉัยโรคกระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบเฉียบพลัน วิธีนี้ได้ผลดีและสะดวกเป็นที่นิยมมาก
l Norovirus Rapid Test (Feces)
วิธีการทดสอบแบบอิมมูโนโครมาโทกราฟีเชิงคุณภาพ โดยใช้ โมโนโคลนอล แอนติบอดี เพื่อตรวจหาโนโรไวรัสในตัวอย่างอุจจาระ มีความแม่นยำร้อยละ 94.29 เมื่อเปรียบเทียบกับวิธี RT-PCR
l RIDA®QUICK Norovirus
วิธีการทดสอบแบบอิมมูโนโครมาโทกราฟีเชิงคุณภาพ สามารถตรวจหาโนโรไวรัสกลุ่มยีน 1 (GI) และกลุ่มยีน 2 (GII) ในตัวอย่างอุจจาระ
l Proflow™ Norovirus Test
วิธีการทดสอบแบบอิมมูโนแอสเซย์เมมเบรนใช้ครั้งเดียวสามารถตรวจหาแอนติเจนโนโรไวรัส GI และ GII ในตัวอย่างอุจจาระของมนุษย์
l การรักษาโรคติดเชื้อโนโรไวรัส
เนื่องจากยังไม่มียาต้านไวรัส การรักษาจึงมีขั้นตอนหลักๆ แบบประคับประคองและป้องกันเชื้อแพร่กระจายดังนี้
1. ให้ดื่มสารน้ำเกลือแร่ หรือให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดดำหากขาดน้ำมาก เพื่อช่วยป้องกันการขาดน้ำ
2. หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีนและแอลกอฮอล์ เพราะอาจทำให้ร่างกายขาดน้ำมากขึ้น
3. ให้พักผ่อน ช่วยให้ร่างกายฟื้นตัวได้เร็วขึ้น
4. กินอาหารที่ย่อยง่าย : เช่น ข้าวต้ม กล้วย หรือขนมปังแห้ง เพื่อช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ดีขึ้นหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูงและเผ็ดเพื่อไม่ให้กระเพาะอาหารระคายเคือง
5. ใช้ยาลดไข้แก้ปวดเท่าที่จำเป็น เพื่อบรรเทาอาการ เช่น พาราเซตามอล (acetaminophen)
6. ไม่แนะนำให้ใช้ยาระงับอาการอุจจาระร่วง เพราะทำให้ไวรัสอยู่ในร่างกายได้นานขึ้น
7. ให้ดูแลสุขอนามัยของตน ล้างมือบ่อยๆ เพื่อลดการแพร่กระจายของไวรัส
8. ทำความสะอาดพื้นผิวหากมีการปนเปื้อนโดยใช้สารฆ่าเชื้อที่เหมาะสม เช่น น้ำยาทำลายเชื้อที่มีคลอรีน
9. หากมีอาการอาเจียนต่อเนื่อง หรืออุจจาระร่วงอย่างรุนแรง จนมีอาการขาดน้ำ หน้ามืดจะเป็นลม หรือมีไข้สูง ควรไปพบแพทย์ทันที
การติดเชื้อโนโรไวรัสมักจะหายได้เองในระยะเวลา 1-3 วันแต่เนื่องจากเชื้อโนโรไวรัสมีการกลายพันธุ์อย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้ที่สัมผัสกับไวรัสไม่พัฒนาภูมิคุ้มกันให้ครอบคลุมหลายสายพันธุ์ได้และยังไม่มีการพัฒนาวัคซีนมาใช้ ผู้ที่เคยติดเชื้อมาก่อนแล้ว จึงสามารถติดเชื้อโนโรไวรัสสายพันธุ์อื่นได้อีก ปัจจุบันยังไม่มียาต้านไวรัส การรักษาจึงเป็นการรักษาตามอาการเท่านั้น
วิธีการป้องกันการติดเชื้อและการแพร่กระจายของโนโรไวรัสโดยเฉพาะในฤดูกาลที่มีการระบาดในฤดูฝนและฤดูหนาว
ให้ใช้การล้างมือและปรุงอาหารให้สุกดี ขณะนี้ ยังไม่มีวัคซีนที่สามารถป้องกันการติดเชื้อโนโรไวรัสได้เนื่องจากเชื้อโนโวไวรัสมีการกลายพันธุ์ได้เร็วตามแบบฉบับไวรัส RNA การป้องกันจึงใช้แนวทางการดูแลสุขภาพที่ดี เช่น การรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ การใช้ช้อนกลางตักเมื่อแบ่งปันอาหาร การล้างมือบ่อยๆ สามารถช่วยลดการแพร่กระจายของเชื้อได้ เชื้อโนโรไวรัสไม่มีเปลือกหุ้มตัวแต่มีโปรตีนหุ้มยีน (capsid) ที่ปกป้องสารพันธุกรรมของเชื้อ ทำให้ทนทานต่อแอลกอฮอล์ และยังทนทานต่ออุณหภูมิสูงถึง 60 องศาเซลเซียส ทำให้เชื้อสามารถอยู่บนมือมนุษย์ได้หลายชั่วโมงและบนพื้นผิวและอาหารได้นานหลายวัน วิธีการที่ใช้ป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส มีดังนี้
1. ล้างมือบ่อยๆ ให้สะอาด โดยใช้สบู่และน้ำเป็นเวลาอย่างน้อย 15 วินาที หลังจากใช้ห้องน้ำหรือเปลี่ยนผ้าอ้อมเด็กและก่อนเตรียมอาหารหรือรับประทานอาหาร อาจจะใช้เจลล้างมือที่มีแอลกอฮอล์ได้บ้าง แต่การล้างมือด้วยสบู่ถือเป็นวิธีมาตรฐานและดีที่สุด
2. หลีกเลี่ยงอาหารสด อาหารทะเลสด และเครื่องดื่มที่ไม่สะอาด เนื่องจากไวรัสสามารถอยู่ในสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในน้ำเป็นเวลานาน
3. ล้างผลไม้และผักสดให้สะอาด ตรวจสอบให้แน่ใจว่าหอยนางรมหรืออาหารทะเลอื่นๆ ได้ปรุงให้สุกก่อนรับประทาน
4. ทำความสะอาดพื้นผิวในห้องครัวด้วยน้ำยาทำความสะอาดที่มีคลอรีนในขณะที่มีการระบาดหรือในพื้นที่ที่ปนเปื้อนอาหาร อาหารที่อาเจียน สิ่งคัดหลั่งที่ปนเปื้อนเชื้อ
5. กำจัดขยะที่ปนเปื้อนอย่างระมัดระวัง โดยใช้ผ้าชุบน้ำทำความสะอาดและบรรจุขยะในถุงพลาสติก
6. แยกผ้าอ้อมหรือเสื้อผ้าที่ปนเปื้อนด้วยอุจจาระทันที และล้างให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ หรือกำจัดอย่างเหมาะสม
7. ไม่ควรปรุงอาหารเองหากติดเชื้อ เนื่องจากไวรัสยังสามารถแพร่กระจายไปยังผู้อื่นได้ถึง 3 วันหลังจากที่ไม่มีอาการแล้ว
8. ไม่ควรให้เด็กที่ติดเชื้อไปโรงเรียนหรือไปอยู่ในสถานพยาบาลเด็กเล็ก เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของไวรัสเพิ่มเติม
9. หลีกเลี่ยงการเดินทางออกนอกสถานที่จนกว่าตนเองจะฟื้นตัวได้เต็มที่ ถึงแม้จะหายดีแล้วยังอาจจะพบเชื้อในอุจจาระได้นานถึง 1-2 สัปดาห์
ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์อมร ลีลารัศมี
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี