ก่อนอื่น แพทยสภาขอประกาศความเป็นวิชาการและความเป็นกลางในเรื่องนี้
แพทยสภาเป็นสภาวิชาชีพที่ไม่แสวงหาผลกำไร และแพทย์ผู้ให้ความเห็นในเรื่องนี้เป็นผู้ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งทางตรงและทางอ้อมที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจในเรื่องดังกล่าว ไม่ว่าในลักษณะที่จะส่งผลให้เกิดประโยชน์หรือผลกระทบต่อตนเองและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เช่น บริษัท นักลงทุน หรือลูกค้า ข้อความในเรื่องนี้เป็นการให้ข้อมูลทางวิชาการที่เป็นไปตามน้ำหนักความน่าเชื่อถือของข้อมูลจากเวชศาสตร์เชิงประจักษ์ และระดับของคำแนะนำจากองค์กรและราชวิทยาลัยต่างๆ ซึ่งถือว่าเป็นกลางมากที่สุด และเป็นการทำหน้าที่ตามพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525 ในวัตถุประสงค์ของแพทยสภา มาตรา 7 ข้อ 4. ช่วยเหลือ แนะนำ เผยแพร่ และให้การศึกษาแก่ประชาชน และองค์กรอื่น ในเรื่องที่เกี่ยวกับการแพทย์และการสาธารณสุข
หากดูโฆษณาในสื่อสาธารณะในสถานบริการ wellness มีการบริการ 1 เรื่องที่เห็นบ่อยคือ การทำ chelation
ตัวอย่างสื่อโฆษณา chelation ตามสถาน wellness ๓ แห่งที่พบได้ ณ วันที่ ๕ มกราคม ๒๕๖๘
ภาพข้างบนยังอ้างว่า คีเลชั่นบำบัด มีการรับรองมาตรฐานจากสมาคม....และมีงานวิจัยรองรับจาก อย. อเมริกา
และยังมีข้อความโฆษณาประโยชน์จากการทำ chelation จากสถานบริการ wellness อื่นๆ อีก ตัวอย่างเช่น Chelationคือวิธีการบำบัดหลอดเลือดผ่านการ Detox รูปแบบหนึ่ง เพื่อดึงเอาสารพิษชนิดโลหะหนักออกจากร่างกาย การ Detox ประเภทนี้จะเหมือนการให้น้ำเกลือหรือวิตามิน บริการทำคีเลชั่นที่ ...ช่วยกำจัดสารพิษและโลหะหนักที่สะสมในร่างกายของคุณได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยวิธีการที่ได้รับการควบคุมโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้คุณรู้สึกดีขึ้นและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น คีเลชั่นบำบัด(Chelation Therapy) ตัวช่วยขับสารพิษในร่างกาย โดยเฉพาะคนที่อาศัยอยู่ในเมืองมีโอกาสได้รับสารพิษสะสมอยู่ตลอดเวลา ส่งผลต่อร่างกาย คีเลชั่น ลดอัตราเสี่ยงของหลอดเลือดแข็งอุดตันและตีบซึ่งเป็นสาเหตุของโรคความดันโลหิตสูง เหล่านี้ เป็นต้น
- จึงเกิดคำถามว่า ข้อความโฆษณาเหล่านี้มีข้อมูลเวชศาสตร์เชิงประจักษ์ยืนยันถึงประโยชน์ตามที่กล่าวอ้างหรือไม่?
ข้อมูลจาก อย. US-FDA สหรัฐอเมริกามีการแสดงว่า มีงานวิจัยรองรับการใช้ chelation ในประชาชนทั่วไปไหม?
การค้นหาข้อมูลจาก อย. อเมริกา ไม่พบว่า แนะนำให้ใช้การทำ chelation บำบัดทางหลอดเลือดดำสำหรับประชาชนทั่วไป ไม่ว่าเป็นการใช้การบำบัดเพื่อประโยชน์ต่อสุขภาพทั่วไป หรือในการรักษาโรคอื่น เช่น โรคหัวใจในประชาชนทั่วไป เพราะการบำบัดด้วยการทำ chelation เพื่อการล้างพิษหรือประโยชน์ต่อสุขภาพอื่นๆ เหล่านั้น ไม่มีเวชศาสตร์เชิงประจักษ์ที่ดีพอที่จะยืนยันว่ามีประโยชน์จริง อย. อเมริกาให้ใช้เฉพาะการรักษาภาวะการเป็นพิษจากโลหะหนักเท่านั้นและยังเตือนให้ระมัดระวังการทำ chelation โดยไม่มีข้อบ่งใช้ที่ชัดเจนจากแพทย์ด้วย
โอกาสที่คนทั่วไปจะได้รับสารโลหะหนักสะสมมากในร่างกายจนเกิดการเป็นพิษ มีมากน้อยเพียงใด?
แม้ว่าสารโลหะหนักจะสามารถเข้าสู่ร่างกายได้ทั้งในรูปแบบการรับประทานเข้าไป การสูดดม หรือแม้แต่การสัมผัสที่ผิวหนัง แต่ระดับสารโลหะหนัก(หากจะมีการสะสมในเลือดและอวัยวะต่างๆ)จากการประกอบอาชีพทั่วไป จะอยู่ในระดับที่ไม่ทำอันตรายต่อร่างกาย ปัจจุบัน ยังไม่พบการศึกษาในประชาชนคนไทยทั่วไปที่พบว่า มีระดับสารโลหะหนักในเลือดของคนงานในอาชีพทั่วไปสูงกว่าประชากรปกติจนถึงระดับอันตราย ยกเว้นบางอาชีพที่อาจจะมีระดับสูงขึ้น เช่น ผู้ที่อาศัยอยู่ใกล้แหล่งโรงงานอุตสาหกรรมคนงานเหมืองแร่ คนงานถลุง/หลอมตะกั่ว คนงานผลิตแบตเตอรี่คนงานทำอัลลอยด์และคนงานขูดสี เป็นต้น รายงานของกองระบาดวิทยาในกรณีของภาคใต้นั้น มักเป็นโรคพิษตะกั่วจากช่างในอู่ต่อเรือเนื่องจากมีการใช้เสนหรือปูนแดงที่มีตะกั่วเป็นส่วนประกอบในการตอกหมันเรือ
อนึ่ง ร่างกายของคนปกติจะมีกลไกในการกำจัดโลหะหนักในกรณีที่รับสารโลหะหนักแบบไม่รู้ตัว เพราะจะรับในปริมาณที่น้อยมาก (ถ้ามี) สารโลหะหนักเหล่านี้จึงไม่ถูกสะสมจนถึงระดับที่เป็นพิษ โลหะหนักจะค่อยๆ ถูกขับถ่ายออกทางปัสสาวะ และทางอุจจาระ นอกจากนี้อาจจะถูกขับออกทางน้ำดี เหงื่อและน้ำนมได้บ้าง ผู้ใหญ่และเด็กสามารถขับโลหะหนักออกจากร่างกายได้แตกต่างกัน ส่วนผู้ที่มีกิจกรรมนอกบ้าน หรือผู้ที่รับประทานอาหารนอกบ้านเป็นประจำ ผู้ที่ทำสีผมและเล็บ การรับประทานปลา อาหารทะเล หรือผู้ที่รับประทานผลไม้บ่อยๆ ยังไม่พบว่า จะเกิดภาวะพิษจากโลหะหนักแต่มีการอ้างว่า ประชาชนจะรับสารโลหะหนักได้ การศึกษาปริมาณโลหะหนัก (ตะกั่ว แคดเมียม ทองแดง และสังกะสี) ในปลาทู, ปลาเห็ดโคน, กุ้งแชบ๊วย, หมึกหอม และปูม้า อำเภอละงู จังหวัดสตูล (รหัสโครงการ NAT550132S ดร.พรพิมล เชื้อดวงผุยคณะทรัพยากรธรรมชาติ และ ผศ.ดร.เสาวคนธ์ วัฒนจันทร์ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์) ไม่พบว่ามีโลหะหนักดังกล่าวเกินเกณฑ์มาตรฐานที่ปลอดภัยของกระทรวงสาธารณสุขของไทยที่ประกาศไว้ใน พ.ศ. 2529 และกองตรวจสอบรับรองมาตรฐานคุณภาพสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำในปี พ.ศ. 2554 ส่วนการศึกษาจากคณะวิจัยของมหาวิทยาลัยมหิดลในตัวอย่างปลาหลายชนิดก็พบเหมือนกันว่า มีสารหนู สารแคดเมียมและสารปรอทในปริมาณน้อยกว่าระดับมาตรฐานของ Codex และมาตรฐานของประเทศไทย และจากการประเมินสถานการณ์การบริโภคปลาประจำวันพบว่า มีความเสี่ยงต่ำในเรื่องโรคที่จะเกิดพิษจากสารแคดเมียมและสารตะกั่ว อาจจะเสี่ยงบ้างกับการสัมผัสสารหนูและการสัมผัสสารปรอทในปลาบางชนิดเท่านั้น การค้นฐานข้อมูล 43 แฟ้มของสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 พบผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นพิษจากโลหะหนัก 31 ราย จำแนกเป็น พิษจากตะกั่ว (T56.0) 19 ราย พิษจากสารหนู (T57.0) 6 ราย พิษจากแคดเมียม (T56.3) 3 ราย พิษจากปรอท (T56.1) 3 ราย จำแนกตามอาชีพเป็นเกษตรกรและรับจ้างอย่างละ 9 ราย สรุปรายงานการเฝ้าระวังโรค ประจำปี 2557 พบว่า ภาคใต้มีผู้ป่วยที่พบภาวะพิษจากโลหะหนักมากที่สุด 12 ราย สามจังหวัดแรกที่พบผู้ป่วยมากที่สุดคือจังหวัดสงขลา 8 ราย สมุทรปราการและศรีสะเกษจังหวัดละ 3 ราย ปัจจุบัน สำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมได้ดำเนินโครงการเฝ้าระวัง ป้องกันเพื่อลดความเสี่ยงต่อการสัมผัสตะกั่วในเด็กปฐมวัยที่ผู้ปกครองทำอาชีพเกี่ยวข้องกับตะกั่ว และเฝ้าระวังโดยเก็บและตรวจตัวอย่างฝุ่นตะกั่วจาก
สิ่งแวดล้อมในแต่ละจังหวัด
ดังนั้น หากไม่ได้มีอาชีพที่เสี่ยงชัดเจนต่อการรับสะสมสารโลหะหนัก เช่น การทำเหมืองแร่หรือการสัมผัสการปนเปื้อนของโลหะหนักจากการกำจัดแร่ต่างๆ ที่ไม่ถูกวิธี และโรงงานปล่อยให้โลหะหนักปนเปื้อนลงสู่สิ่งแวดล้อม โอกาสที่จะเกิดภาวะพิษจากโลหะจึงไม่น่าจะมี อาการต่างๆ ที่กล่าวอ้างถึงในโฆษณาว่า เกิดจากการสะสมของโลหะหนัก จะเป็นอาการของโรคอื่นๆ หรือจากความเหนื่อยล้ามากกว่า ท่านที่จะได้รับการทำ chelation จะต้องมีอาการของความเป็นพิษและได้รับการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันภาวะเป็นพิษจากโลหะหนักก่อน
ผลเสียจากการทำ chelation โดยไม่จำเป็น
นอกจากการทำ chelation ในคนทั่วไปที่ไม่มีภาวะพิษจากโลหะหนักนั้น ไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนว่า เป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพในการรักษาโรค ผู้นั้นยังเสี่ยงที่จะเกิดผลเสียต่อสุขภาพและผลข้างเคียง เช่น อาการแพ้สารที่ใช้, ปัญหาทางระบบทางเดินอาหาร, หรือการขาดแคลนแร่ธาตุที่สำคัญในร่างกาย (เช่น แคลเซียมและแมกนีเซียม) ทำให้เกิดการขาดสารอาหารที่สำคัญในร่างกายเพราะถูกขับออกไป หากร่างกายนำมาชดเชยไม่ทัน จะนำไปสู่ผลเสียทางสุขภาพในระยะยาว
ข้ออ้างอีก 1 ข้อในโฆษณาที่แจ้งว่า การทำ chelation เพื่อลดการอุดตันของหลอดเลือดแดงหัวใจ(CVD)
โรคอีก 1 โรคที่โฆษณากล่าวอ้างว่า ได้ประโยชน์จากการทำ chelation โดยใช้สาร EDTA เพื่อรักษาโรคหลอดเลือดแดงหัวใจ(และสมอง) อุดตันโดยเฉพาะในผู้สูงวัยซึ่งมีจำนวนมากในประเทศไทย ข้อมูลของสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครองกระทรวงมหาดไทย ณ เดือนธันวาคม 2566 พบว่ามีผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ทั่วประเทศจำนวน 13,064,929 คน คิดเป็นร้อยละ20.17 ของประชากร และอ้างว่าการสะสมของโลหะหนัก เช่น ตะกั่วและปรอท ในผู้ที่มีโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง อาจจะเกี่ยวข้องการอุดตันของหลอดเลือดแดง การให้ EDTA ยังช่วยลดการอักเสบในหลอดเลือดแดงและช่วยปรับปรุงการไหลเวียนของเลือดได้อีกด้วย คำกล่าวอ้างดังกล่าวได้มาจากการศึกษา “Trial to Assess Chelation Therapy” (TACT) ที่ได้รับการสนับสนุนจาก NIH อเมริกาและเผยแพร่ในปี พ.ศ. 2556 แต่เป็นผลการวิเคราะห์เพิ่มเติมแบบไม่ได้วางแผนมาก่อน ผลการวิเคราะห์พบว่าการทำ EDTA chelation ลดความเสี่ยงของโรค CVD ได้อีกร้อยละ 18 ในผู้ที่เคยมีกล้ามเนื้อหัวใจวายมาก่อน และยังพบว่ามีการลดลงอย่างมีนัยสำคัญถึงร้อยละ 41 ในโรคหลอดเลือดแดงหัวใจอุดตัน(CVD) ในผู้เข้าร่วมงานวิจัยที่มีโรคเบาหวานร่วมด้วย แต่ไม่พบประโยชน์ดังกล่าวในผู้ที่ไม่มีโรคเบาหวาน เนื่องจากผลการวิเคราะห์เพิ่มเติมที่พบว่าการทำ chelation ลดโรค CVD ได้เป็นสิ่งที่ไม่คาดคิด องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาจึงยังไม่เชื่อผลการวิเคราะห์และผลสรุปในเรื่องนี้ของ TACT เพราะเป็นผลการวิเคราะห์ในกลุ่มย่อยและได้ผลที่ไม่คาดคิดหรือไม่ได้วางแผนการศึกษาให้รัดกุมมาก่อน และยังไม่สามารถอธิบายถึงความสัมพันธ์ในเชิงพยาธิวิทยากำเนิดของโลหะหนักและการอุดตันของหลอดเลือดแดง (หากเป็นนักวิจัยที่เที่ยงตรงต่อความแม่นยำของวิธีการทำวิจัย การวิเคราะห์ลงลึกในกลุ่มย่อยแบบไม่ได้วางแผนมาก่อนถือว่า ผลการวิเคราะห์ที่ได้จะเป็นเพียงสมมุติฐานที่ต้องพิสูจน์อีกครั้งจากการทำวิจัยใหม่ให้ตรงประเด็นจนได้ผลชัดเจนก่อนจะสรุปและผลที่ได้จากการทำวิจัยซ้ำใหม่จะตอบได้ถูกต้องแม่นยำกว่า)สมาคมโรคหัวใจแห่งอเมริกา (American Heart Association) และวิทยาลัยโรคหัวใจแห่งอเมริกา (American College of Cardiology) ก็กล่าวว่า ยังไม่แน่ชัดว่าการทำ คีเลชั่น จะมีประโยชน์ในการรักษาโรคหัวใจ แพทย์ไทยหลายองค์กรก็ยังไม่ยอมรับข้อบ่งใช้นี้และย้ำเสมอว่า ยังต้องการการทำวิจัยเพิ่มเติมเพื่อยืนยันประสิทธิภาพและความปลอดภัยในเรื่องนี้ จึงเป็นที่มาของการวางแผนการศึกษาที่รัดกุมตรงประเด็นมีชื่อว่า TACT2 และหลายคนเฝ้ารอคอยผลการศึกษาครั้งนี้ และในที่สุดก็มีรายงานเป็นบทความตีพิมพ์ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2567
การวิจัย TACT2 มีสถาบันการแพทย์ 88 แห่งเข้าร่วมและมีผู้เข้าร่วมวิจัย 1,000 รายที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ซึ่งมีโรคเบาหวานและประวัติการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจวายมาก่อน ผู้เข้าร่วมศึกษาถูกสุ่มแบ่งให้รับการรักษาด้วย EDTA chelation 1 ครั้งในแต่ละสัปดาห์หรือยาหลอกนาน 40 สัปดาห์ ผู้เข้าร่วม 959 คนได้รับการฉีดอย่างน้อยหนึ่งครั้ง (483 รายได้รับการทำ EDTA chelation และ 476 รายได้รับยาหลอก) การศึกษาเป็นแบบปิดบังสองทาง ซึ่งหมายความว่า ทั้งผู้เข้าร่วมวิจัยและนักวิจัยไม่ทราบว่า ผู้เข้าร่วมวิจัยรายใดได้รับการรักษาแบบใด ทีมวิจัยไม่สามารถตรวจสอบข้อมูลนี้ได้จนกว่าการศึกษาจะเสร็จสิ้น ผู้เข้าร่วมวิจัยถูกติดตามนานเฉลี่ย 48 เดือน ผลการวิจัยพบว่า ผู้เข้าร่วมวิจัยมากกว่าหนึ่งในสามเกิดโรค CVD (เสียชีวิต, โรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน, อัมพาต, บางรายมีการทำหัตถการฟื้นฟูหลอดเลือดหัวใจ, หรือการเข้ารักษาในโรงพยาบาลสำหรับอาการเจ็บหน้าอกที่ไม่เสถียร)ในระหว่างช่วงติดตาม พบว่า ไม่มีความแตกต่างที่มีนัยสำคัญของการเกิดโรค CVD ระหว่างกลุ่มที่ได้รับการรักษาด้วย chelation และกลุ่มยาหลอก ผู้ที่ได้รับการบำบัดด้วย chelation มีระดับตะกั่วในเลือดลดลงร้อยละ 61 หลังจากการรักษาด้วย chelation ขณะที่ผู้ที่ได้รับยาหลอกไม่แสดงการลดลงที่มีนัยสำคัญ ระดับแคดเมียมในปัสสาวะเพิ่มขึ้นทันทีหลังจากการฉีด chelation แต่ละครั้ง ดังนั้นการบำบัดด้วย EDTA จึงมีประสิทธิภาพในการขจัดทั้งตะกั่วและแคดเมียมและส่งเสริมการขับถ่ายของตะกั่วและแคดเมียม แต่ไม่ลดโรค CVD และไม่ได้แสดงว่าลดการอักเสบของหลอดเลือดแดงได้
สรุปผลการวิจัย TACT2 พบว่า แม้ว่าการให้ EDTA สามารถลดระดับตะกั่วในเลือดได้อย่างชัดเจน แต่ไม่สามารถลดอุบัติการณ์ของโรคหลอดเลือดแดงหัวใจอุดตันในผู้ป่วยที่มีโรคเบาหวานและเคยเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจวายมาก่อนแล้ว
กล่าวโดยสรุป
น้ำหนักความน่าเชื่อถือของข้อมูลจาก TACT2 ว่า การให้ยา chelation ในคนปกติที่ไม่มีภาวะพิษจากโลหะหนัก ไม่สามารถลดโรคหลอดเลือดแดงหัวใจอุดตันได้ อยู่ในระดับน่าเชื่อถือว่าถูกต้องได้ดีมาก (1B)
คำแนะนำจากผู้ทบทวนวิชาการ ให้ความเห็นว่า การทำ chelation ในประชาชนทั่วไป ถือว่า ยิ่งไม่เหมาะสม (เพราะขนาดทำวิจัยในกลุ่มโรคเบาหวานและมีโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตันมาก่อน ยังไม่ได้ผลดีใดๆ เลย และสอดคล้องกับข้อมูลจาก TACT เองก็ไม่พบประโยชน์ดังกล่าวในประชากรทั่วไปอยู่แล้ว) และยังมีความเสี่ยงที่ทำให้เกิดผลเสียมากกว่า
ดังนั้น ต้องใช้การทำ คีเลชั่น ในการขจัดโลหะหนักออกจากร่างกายคนปกติหรือไม่? คำตอบคือ ไม่ต้องทำเลย
เอกสารอ้างอิง
1. Sirisangarunroj P, Monboonpitak N, Karnpanit W, Sridonpai P, Singhato A, Laitip N, et al. Toxic heavy metals and their risk assessment of exposure in selected freshwater and marine fish in Thailand. Foods 2023, 12, 3967. https://doi.org/10.3390/ foods12213967.
2. Lamas GA, Anstrom KJ, Navas-Acien A, et al. Edetate disodium-based chelation for patients with a previous myocardial infarction and diabetes. TACT2 randomized clinical trial. Link to External Link Policy. JAMA. August 14, 2024. [Epub ahead of print].
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี