ภาวะหลงลืมชั่วคราว (Transient Global Amnesia, TGA) คือภาวะที่ผู้ป่วยมีการสูญเสียความทรงจำอย่างเฉียบพลันโดยเฉพาะเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้น (anterograde amnesia) ร่วมกับสูญเสียความสามารถในการจดจำเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น (anterograde amnesia) แบบชั่วคราว ส่งผลให้ผู้ป่วยที่มีภาวะดังกล่าวมีความสับสนเกี่ยวกับวัน เวลา สถานที่ และเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้น ผู้ป่วยจึงมักถามซ้ำๆ ว่ามาที่นี่ได้อย่างไรเกิดอะไรขึ้น เมื่อได้ให้คำตอบไปแล้วก็มักจะถามคำถามเดิมซ้ำๆ อีกส่งผลให้เกิดความกังวล สับสนมากยิ่งขึ้น โดยที่ผู้ป่วยยังคงรู้สึกตัวดีรู้จักตนเอง (self-awareness) จำญาติ พี่ น้อง และเพื่อนได้ เข้าใจภาษาและสามารถสื่อสารได้เป็นปกติ การสูญเสียความทรงจำจากภาวะนี้จะเป็นชั่วคราวและหายได้เองภายใน 24 ชั่วโมง ความทรงจำที่เสียไปโดยส่วนใหญ่จะค่อยๆ กลับคืนมา โดยไม่พบความผิดปกติทางระบบประสาทอื่นๆ อันเป็นผลต่อเนื่องจากภาวะดังกล่าว
ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดที่ทำให้เกิดภาวะหลงลืมชั่วคราว แต่เชื่อว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นที่สมองส่วนฮิปโปแคมปัส (hippocampus) ซึ่งมีหน้าที่ในการจัดเก็บความจำ ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถจดจำเหตุการณ์ที่ได้เกิดขึ้นหรือกำลังเกิดขึ้นได้ ภาวะหลงลืมชั่วคราวมักเกิดในผู้ที่อายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป ทั้งเพศชายและเพศหญิงปัจจัยเสี่ยงที่สัมพันธ์กับภาวะนี้ได้แก่ โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคไมเกรนและโรคไขมันในเลือดสูง นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ที่มีภาวะดังกล่าว มักได้รับเหตุกระตุ้นบางอย่างก่อนเกิดอาการเช่น การออกกำลังกายอย่างหนัก พักผ่อนน้อย ความเครียด การเปลี่ยนอุณหภูมิอย่างเฉียบพลันเช่น จากการแช่น้ำอุ่น-น้ำเย็น, ความเจ็บปวด, เพศสัมพันธ์, การเบ่งลมหายใจแรงๆ หรือการกลั้นลมหายใจ เป็นต้น
แม้ว่าภาวะหลงลืมชั่วคราวจะสามารถหายเองได้ แต่หากมีอาการที่สงสัยเกี่ยวกับภาวะนี้ ควรมาพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อตรวจร่างกาย ร่วมกับรับการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมเพื่อแยกจากภาวะอื่นๆ ซึ่งอาจมีลักษณะอาการคล้ายคลึงกัน เช่น โรคหลอดเลือดสมองตีบชั่วคราว (Transient Ischemic Attack, TIA) โรคลมชัก โรคไมเกรน โรคติดเชื้อในสมอง โรคเลือดออกในสมอง ซึ่งต้องการการดูแลรักษาที่ต่างกันไป ดังนั้นการวินิจฉัยภาวะหลงลืมชั่วคราวจะเกิดขึ้นเมื่อแพทย์ไม่พบสาเหตุอื่นๆ ที่สามารถอธิบายอาการในข้างต้นได้ และผู้ป่วยมีอาการเป็นปกติภายใน 24 ชั่วโมง
โดยทั่วไปผู้ป่วยมักได้รับการเข้าสังเกตอาการในโรงพยาบาลเพื่อติดตามอาการและการดำเนินโรคอย่างใกล้ชิด การรักษาส่วนใหญ่จึงเป็นการรักษาแบบประคับประคองจนผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น ความจำกลับมาเป็นปกติ แม้ว่าส่วนใหญ่อาการหลงลืมชั่วคราวมักไม่เกิดขึ้นซ้ำ ผู้ป่วยควรได้รับคำแนะนำให้หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้น ลดน้ำหนัก งดสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงการดื่มสุรา เป็นต้น จากข้อมูลในปัจจุบันภาวะหลงลืมชั่วคราว ไม่เป็นสัญญาณหรืออาการนำของโรคสมองเสื่อมโรคหลอดเลือดสมอง หรือโรคลมชักในอนาคต
รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ประวีณ โล่ห์เลขา
หน่วยประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
และราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี