สัตว์ทุกชนิดต้องกินและต้องขับถ่าย หากไม่กิน ก็อยู่ไม่ได้ แต่กินแล้วไม่ขับถ่าย ก็อยู่ไม่ได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้น การกินกับการขับถ่ายต้องสมดุลกัน
วันนี้มาคุยกันเรื่องแมวเหมียวไม่ยอมฉี่ หรือ FLUTD (Feline Lower Urinary Tract Disease) เป็นกลุ่มอาการเกี่ยวกับระบบทางเดินปัสสาวะส่วนล่างในแมว ซึ่งรวมถึงกระเพาะปัสสาวะ และท่อปัสสาวะ
FLUTD มีสาเหตุหลายประการ จึงต้องทำความเข้าใจถึงสาเหตุของอาการ เพื่อให้การวินิจฉัย และรักษาทำได้ถูกต้องมากที่สุด
สาเหตุของ FLUTD ขอย้ำว่ามันไม่ใช่โรคเฉพาะ แต่เป็นกลุ่มอาการที่อาจเกิดจากหลายปัจจัย เช่น
1.Feline Idiopathic Cystitis (FIC) เป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดของ FLUTD (ประมาณ 60-70 เปอร์เซ็นต์ของกรณี) เกิดจากการอักเสบของกระเพาะปัสสาวะโดยไม่ทราบสาเหตุชัดเจน มักสัมพันธ์กับความเครียดในแมว
2.นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ นิ่วที่พบบ่อย ได้แก่ Struvite และ Calcium Oxalate เกิดจากการสะสมของแร่ธาตุในปัสสาวะ
3.การติดเชื้อแบคทีเรีย พบได้น้อยในแมว (ประมาณ 1-15 เปอร์เซ็นต์ของกรณี) แต่พบมากขึ้นในแมวอายุมากหรือแมวที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคไตหรือโรคเบาหวาน
4.การอุดตันของท่อปัสสาวะ พบในแมวตัวผู้มากกว่าตัวเมีย เนื่องจากท่อปัสสาวะแคบและยาวกว่า อาจเกิดจากนิ่ว เนื้อเยื่ออักเสบ หรือเมือกที่อุดตัน
5.เนื้องอกหรือมะเร็ง พบได้น้อย แต่สามารถทำให้เกิดอาการคล้าย FLUTD ได้
6.ปัจจัยอื่นๆ ความเครียด อาหารที่ไม่เหมาะสม กินน้ำน้อย และโรคระบบทางเดินปัสสาวะอื่นๆ
กลุ่มอาการของ FLUTD อาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับสาเหตุ แต่ที่พบบ่อย ได้แก่ ปัสสาวะลำบากหรือเจ็บปวด ปัสสาวะบ่อยแต่ปริมาณน้อย ปัสสาวะเป็นเลือด เลียบริเวณอวัยวะเพศบ่อย ปัสสาวะนอกกระบะทราย ในกรณีรุนแรง คือไม่สามารถปัสสาวะได้ เป็นภาวะฉุกเฉินที่อาจทำให้ไตวายเฉียบพลัน และเสียชีวิต
การวินิจฉัยโรค ต้องอาศัยการตรวจหลายวิธีเพื่อหาสาเหตุแท้จริง เช่น
1.ซักประวัติและตรวจร่างกาย สอบถามอาการและพฤติกรรมของแมว ตรวจคลำกระเพาะปัสสาวะเพื่อประเมินขนาดและความตึง
2.การตรวจปัสสาวะ ตรวจ pH ของปัสสาวะ, คริสตัล,เม็ดเลือดแดง/ขาว, และแบคทีเรีย ช่วยวินิจฉัยการติดเชื้อหรือนิ่ว
3.การตรวจเลือด ประเมินการทำงานของไตและระดับอิเล็กโทรไลต์ (โพแทสเซียม)
4.การถ่ายภาพรังสี (X-ray) หรืออัลตราซาวนด์ เพื่อตรวจหานิ่วหรือการอุดตันในทางเดินปัสสาวะ
5.การเพาะเชื้อ ในกรณีสงสัยการติดเชื้อแบคทีเรีย
การรักษาขึ้นอยู่กับสาเหตุของ FLUTD
1.Idiopathic Cystitis ให้ยาแก้ปวดและยาลดการอักเสบ จัดการความเครียดโดยปรับสภาพแวดล้อมและให้อาหารเสริมลดความเครียด
2.นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ หากเป็นนิ่ว Struvite ให้ยาปฏิชีวนะใช้อาหารเฉพาะทางเพื่อละลายนิ่ว หากเป็นนิ่ว Calcium Oxalate อาจต้องผ่าตัดนำนิ่วออก ให้ยาปรับ pH ของปัสสาวะ
3.การติดเชื้อแบคทีเรียให้ยาปฏิชีวนะตามผลการเพาะเชื้อ
4.การอุดตันของท่อปัสสาวะ สวนท่อปัสสาวะเพื่อระบายปัสสาวะให้สารน้ำและยาแก้ปวด ในกรณีรุนแรงอาจต้องผ่าตัดสร้างท่อปัสสาวะใหม่
5.การปรับเปลี่ยนอาหารใช้อาหารสูตรเฉพาะสำหรับสุขภาพทางเดินปัสสาวะ กระตุ้นให้แมวดื่มน้ำมากขึ้น
การป้องกัน กระตุ้นให้แมวกินน้ำมากขึ้น วางน้ำสะอาดหลายจุดในบ้าน ใช้เครื่องพ่นน้ำ หรือน้ำพุแมว จัดการอาหารที่เหมาะสม เลือกอาหารสูตรป้องกันนิ่ว หรือรักษาสุขภาพทางเดินปัสสาวะ จัดการความเครียด ให้พื้นที่ส่วนตัว และของเล่นเพื่อลดความเครียด ใช้ฟีโรโมนเพื่อช่วยให้แมวผ่อนคลาย ทำความสะอาดกระบะทรายเป็นประจำ และต้องมีจำนวนเพียงพอ กระบะทรายต้องสะอาด และอยู่ในที่เงียบสงบ
โดยสรุป พบว่าแมวตัวผู้มีความเสี่ยงต่อการอุดตันของท่อปัสสาวะมากกว่าตัวเมีย ส่วนความเครียดเป็นปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นให้เกิดอาการ หากแมวแสดงอาการ FLUTD ต้องพาไปพบสัตวแพทย์ทันทีเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง เช่น ไตวายเฉียบพลัน เพราะอาจเสียชีวิตได้
น.สพ.นนทษิต ชุติญาณวัฒน์
โรงพยาบาลสัตว์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี