สัตว์เลี้ยงที่เราดูแลเลี้ยงดูเขามาตั้งแต่ตัวเล็กตัวน้อย เขาให้ความสุขกับเรา แม้บ้างครั้งอาจจะสร้างความปวดหัวให้นิดหน่อย แต่รวม ๆ ก็ต้องถือว่าเขาให้ความสุขทางใจกับเราอย่างมาก ดังนั้น เมื่อเขาแก่ชรา เราก็ต้องดูแลเขาเป็นอย่างดี
ทุกวันนี้ ในด้านวิชาชีพสัตวแพทย์ มีพัฒนาการด้านความรู้ และวิชาการ รวมถึงเครื่องมือสำหรับตรวจวิจัยสัตว์เลี้ยงเป็นอย่างมากกว่าในอดีต 20 ปีที่ผ่านมา ทำให้สามารถพัฒนามาตรฐานการดูแลรักษาสัตว์ได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งเป็นประโยชน์กับเจ้าของและตัวสัตว์เลี้ยงเป็นอย่างมาก เพราะสัตว์เลี้ยงมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น เพราะได้รับการตรวจวินิจฉัยโรค ดูแลรักษาได้ถูกวิธีมากขึ้น ดังนั้น จึงพบว่าปัจจุบันนี้สัตว์เลี้ยงมีอายุยืนยาวกว่าเดิม ประกอบกับการที่เจ้าของสัตว์ใส่ใจดูแลสัตว์เลี้ยงมากขึ้น ในด้านการรักษาโดยสัตวแพทย์ก็ดีมากกว่าเดิม เพราะมีเทคโนโลยีทันสมัยเข้ามาช่วยการทำงาน
วันนี้เรามาคุยกันเรื่องการดูแลสัตว์เลี้ยงที่อายุมาก ๆ หรือแก่ชราแล้ว เรามาดูว่าเขามีความเสื่อมในส่วนใดของร่างกายบ้าง ขอเริ่มจากความเสื่อมของสมองสัตว์เลี้ยง
ความแก่ชรา คือการเปลี่ยนแปลงของอายุไปตามธรรมชาติ ถือเป็นกระบวนการปกติของสิ่งมีชีวิต การแก่ชราที่นับว่าเป็นปกติคือการไม่มีโรคร้ายแรง หรือหากมีโรคประจำตัวก็ต้องไม่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของสัตว์เลี้ยงมากจนเกินไป
สัตว์เลี้ยงที่มีอายุตามวัยจะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย และความสามารถในการรับรู้ที่สอดคล้องกับช่วงอายุ แต่ก็ยังสามารถทำกิจวัตรประจำวันได้อย่างเหมาะสม
สำหรับสัตว์เลี้ยงที่มีอายุมาก จะพบการเปลี่ยนแปลงที่สังเกตเห็นได้บ่อย คือ
• พฤติกรรมการกินเปลี่ยนไป
• โรคเหงือกและช่องปาก
• กล้ามเนื้อและโครงสร้างกระดูกเสื่อม
• กิจกรรมประจำวันลดลง
• ความสนใจในการเข้าสังคมหรือปฏิสัมพันธ์กับสมาชิกในครอบครัวลดลง
ดังนั้น อาการเสื่อมถอยทางสติปัญญา หรือ Cognitive Dysfunction Syndrome (CDS) จะถูกใช้พิจารณาเมื่อความสามารถในการคิด การตัดสินใจ สมาธิ และความจำของสัตว์เสื่อมถอยลงถึงระดับที่มีผลกระทบในทางลบต่อชีวิตประจำวันและสุขภาวะของสัตว์ อายุจึงถือเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ส่งผลต่อทั้งความชุกและความรุนแรงของ CDS
กลุ่มอาการเสื่อมถอยทางสติปัญญา เป็นภาวะหนึ่งที่พบบ่อยในสุนัขและแมวสูงวัย แต่กลับได้รับการวินิจฉัยน้อยมากในทางคลินิก โดยปกติการวินิจฉัยภาวะนี้จะเกิดขึ้นหลังจากที่ได้ตัดสาเหตุอื่น ๆ ออกไป (diagnosis of exclusion) การตรวจพบ CDS ในระยะเริ่มต้นและเริ่มการรักษาอย่างรวดเร็วจะช่วยชะลอการดำเนินของโรคได้ และช่วยทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าของกับสัตว์เลี้ยงยังอยู่ในระดับที่ดีต่อกัน
การดูแลรักษา CDS อาจประกอบด้วย
• การใช้ยา (pharmaceuticals)
• การปรับเปลี่ยนอาหาร (diet)
• การเสริมสารอาหาร (nutritional supplements)
• การปรับสภาพแวดล้อม (environmental modifications)
• การให้กิจกรรมเสริมสร้างและการออกกำลังกาย (enrichment and exercise)
อาการทางคลินิกและการเปลี่ยนแปลงของสมองที่เกี่ยวข้องกับ CDS
สัตว์เลี้ยงที่มีภาวะ CDS จะแสดงอาการเสื่อมถอยในด้านความจำ ความสามารถในการเรียนรู้ การรับรู้เชิงพื้นที่ วงจรการนอนหลับ และพฤติกรรมทางสังคม อาการเหล่านี้ถูกสรุปไว้ในตัวย่อ DISHAA สำหรับสุนัข และมีการเพิ่มพฤติกรรมใหม่ ๆ เข้าไปในแมว เช่น การส่งเสียงร้องเพิ่มขึ้น
สรุปอาการที่พบบ่อย (ตามตัวย่อ DISHAA และ L)
• D: สับสน ไม่รู้ทิศทาง (Disorientation)
• I: พฤติกรรมการเข้าสังคมเปลี่ยนไป (Changes in Interactions)
• S: วงจรการนอนหลับเปลี่ยนแปลง (Sleep-wake Cycle Changes)
• H: การขับถ่ายไม่เป็นที่ (House Soiling)
• A: ระดับกิจกรรมเปลี่ยนแปลง (Changes in Activity)
• A: ความวิตกกังวล (Anxiety)
• L: สูญเสียความสามารถในการเรียนรู้และความจำ (Learning and Memory Loss)
ส่วนในแมว จะเพิ่มอาการ “V” (Vocalization หรือการร้องมากผิดปกติ) เข้าไปด้วย
สัปดาห์หน้า เรามาคุยกันต่อในส่วนที่สอง เรื่องเกี่ยวกับเรื่องกลุ่มอาการเสื่อมถอยของสมองสัตว์เลี้ยง หมอขอฝากไว้ว่า เมื่อสัตว์เลี้ยงอายุมากขึ้น ก็คงไม่ต่างจากคนอายุมาก ที่การตัดสินใจ การใช้ชีวิตประจำวันจะเปลี่ยนไปจากเดิม ดังนั้น ต้องเพิ่มความเข้าใจ การใส่ใจ ต้องเพิ่มการดูแลเขามากขึ้น เพราะเมื่อเขาให้ความสุขทางใจกับเราเมื่อเขาเป็นสัตว์ตัวน้อย ๆ ดังนั้น เมื่อเขาแก่ชรา เราก็ต้องดูแลเขา นับเป็นการเกื้อกูลช่วยเหลือกันและกัน และมันคือสัมพันธภาพที่ดีระหว่างเขากับเรา
น.สพ. นนทษิต ชุติญาณวัฒน์
โรงพยาบาลสัตว์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี