แผ่นดินไทยนี้ดี ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว...ข้อความข้างต้นถูกถ่ายทอดกันมารุ่นต่อรุ่น ด้วยความภูมิใจในความอุดมสมบูรณ์ของประเทศไทย ที่ไม่เพียงแต่สามารถผลิตอาหารพอเลี้ยงคนในประเทศเท่านั้น แต่ยังสามารถส่งออกไปขายในต่างประเทศได้ด้วย ทว่าระยะหลังๆ มานี้ เกษตรกรเองก็ไม่ต่างจากภาคส่วนอื่นๆ ที่ต้องเผชิญความเปลี่ยนแปลง จนทำให้ผลผลิตไม่อาจขายได้ราคาดีเป็นกอบเป็นกำอย่างเดิมอีก
รายงาน การประเมินความสามารถในการแข่งขันของไทย โดยอาศัยการวิเคราะห์ดัชนีความสามารถในการแข่งขันเชิงเปรียบเทียบที่ปรากฏ (Reveal Comparative Advantage : RCA) ซึ่งจัดทำโดย ดร.นณริฏ พิศลยบุตร และคณะทำงานจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เผยแพร่ในเวทีสัมมนา “แนวทางการปรับตัวของภาคเกษตรเพื่อรองรับการเปิดประชาคมอาเซียน” ณ รร.เซ็นจูรี่พาร์ค สามเหลี่ยมดินแดง กรุงเทพฯ ศึกษาการส่งออกสินค้าเกษตรในไทยโดยแบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ประกอบด้วย
1.สินค้ากลุ่มส่งออกสูง (มูลค่ามากกว่า 1 พันล้านบาท)พบว่ามีสินค้าที่ในอดีตไทยมีศักยภาพ และปัจจุบันก็ยังไปต่อได้อีก จำนวน 45 รายการ สินค้าที่ในอดีตไทยมีศักยภาพ แต่ปัจจุบันศักยภาพที่เคยมีลดลง จำนวน 42 รายการ และสินค้าที่ในอดีตไทยไม่มีศักยภาพ แต่ปัจจุบันมีแนวโน้มเติบโตได้หากได้รับการส่งเสริม จำนวน 8 รายการ 2.สินค้ากลุ่มส่งออกปานกลาง (มูลค่าตั้งแต่ 1 ร้อยล้านบาทขึ้นไปแต่ไม่เกิน 1 พันล้านบาท) พบว่า มีสินค้าที่ในอดีตไทยมีศักยภาพ และปัจจุบันก็ยังไปต่อได้อีกจำนวน 36 รายการ
สินค้าที่ในอดีตไทยมีศักยภาพ แต่ปัจจุบันศักยภาพที่เคยมีลดลง จำนวน 36 รายการ และสินค้าที่ในอดีตไทยไม่มีศักยภาพ แต่ปัจจุบันมีแนวโน้มเติบโตได้หากได้รับการส่งเสริม จำนวน 41 รายการ และ 3.สินค้ากลุ่มส่งออกต่ำ (มูลค่าน้อยกว่า1 ร้อยล้านบาท) พบว่า มีสินค้าที่ในอดีตไทยมีศักยภาพ และปัจจุบันก็ยังไปต่อได้อีก จำนวน 12 รายการ สินค้าที่ในอดีตไทยมีศักยภาพ แต่ปัจจุบันศักยภาพที่เคยมีลดลง จำนวน 12 รายการ และสินค้าที่ในอดีตไทยไม่มีศักยภาพ แต่ปัจจุบันมีแนวโน้มเติบโตได้หากได้รับการส่งเสริม จำนวน 200 รายการ
อย่างไรก็ตาม การวิเคราะห์ข้างต้นไม่ได้รวม “ความน่าสนใจของสินค้า” เข้าไปด้วย ดังนั้นแม้ไทยจะมีศักยภาพในสินค้าเกษตรหลายชนิด แต่ไม่ได้หมายความว่าจะส่งออกได้มากเสมอไปจึงมีการคำนวณใหม่โดยเทียบเฉพาะสินค้าที่ตลาดให้ความสนใจ พบว่า มีสินค้าที่ในอดีตไทยมีศักยภาพ และปัจจุบันก็ยังไปต่อได้อีก จำนวน 152 รายการ ทว่าในจำนวนนี้ “ศักยภาพไทยแย่กว่าเมื่อเทียบกับคู่แข่งรอบบ้าน” เช่น แย่กว่าเมียนมา (พม่า) 105 รายการ ลาว 103 รายการ กัมพูชา 103 รายการ เวียดนาม 96 รายการ และมาเลเซีย 81 รายการ
สินค้าที่ในอดีตไทยมีศักยภาพ แต่ปัจจุบันศักยภาพที่เคยมีลดลง จำนวน 36 รายการ ศักยภาพของไทยแย่กว่าเมียนมา (พม่า) 22 รายการ ลาว 23 รายการ กัมพูชา 22 รายการ เวียดนาม 21 รายการ และมาเลเซีย 20 รายการ และสินค้าที่ในอดีตไทยไม่มีศักยภาพ แต่ปัจจุบันมีแนวโน้มเติบโตได้หากได้รับการส่งเสริม จำนวน 60 รายการ ศักยภาพของไทยแย่กว่าเมียนมา (พม่า) 37 รายการ ลาว 36 รายการ กัมพูชา 35 รายการ และเวียดนาม 36 รายการ มีเพียงมาเลเซียเท่านั้นที่ไทยมีสัดส่วนสินค้าเกษตรกลุ่มนี้ดีกว่า คือ 35 รายการ
ขณะที่ ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิจัยเกียรติคุณ TDRI กล่าวว่า ประเทศไทยมีเศรษฐกิจแบบตลาดเสรีมาตั้งแต่เมื่อครั้งก่อตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ รวมถึงปัจจัยการผลิตและผลผลิตในภาคเกษตรด้วย ต่างกับเพื่อนบ้านหลายประเทศที่มีมาตรการแทรกแซงราคาหรือไม่ก็ปิดประเทศมานาน ขณะเดียวกันไทยยังมีโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ ถนนหนทาง เขื่อน-อ่างเก็บน้ำ ที่ค่อนข้างดีเพราะดำเนินการก่อสร้างมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงโรงงานแปรรูปและแหล่งจำหน่ายเคมีภัณฑ์ที่เกษตรกรไทยสามารถใช้บริการได้ในราคาถูกกว่าเพื่อนบ้าน
“การที่โรงสีกระจุกตัวอยู่เป็นจำนวนมาก ทำให้เกษตรกรในสุพรรณบุรี อยุธยา นครปฐม ขายข้าวได้ในราคาดี แล้วหลักฐานที่ชัดเจนคือเกษตรกรไทยซื้อปัจจัยการผลิตในราคาต่ำกว่า CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม) และขายสินค้าได้ในราคาสูงกว่าคนอื่นๆ” ดร.นิพนธ์ ระบุ
แต่สิ่งที่ลดลงไปจากในอดีตคือ “การวิจัยและพัฒนา” ในอดีตรัฐไทยเคยส่งคนไทยไปเรียนด้านการเกษตรในต่างประเทศ และกลับมาเป็นเกษตรกรหรือนักวิจัยเก่งๆ ไม่น้อย อาทิ ในปี 2534 ไทยมีงบประมาณวิจัยด้านการเกษตรถึงเกือบร้อยละ 1 ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) แต่วันนี้งบวิจัยเกษตรเหลือไม่ถึงร้อยละ 0.25 ของ GDP สวนทางกับ จีน ที่ทุ่มวิจัยด้านการเกษตรอย่างมาก และลงไปทำงานกับเกษตรกรจริงๆ จังๆ
นอกจากนี้ด้วยนโยบาย “อุดหนุนราคาสินค้าเกษตร” ไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไรก็แล้วแต่ที่ทำกันทุกรัฐบาลในระยะหลังๆ ส่งผลให้เกษตรกร “ไม่รู้สึกว่าจะต้องปรับตัว” อนึ่ง..นักวิชาการผู้นี้ย้ำว่า “สังคมไทยเข้าใจผิดมาตลอด” เพราะมองว่า “การพัฒนาทางการเกษตรไทยหมายถึงการเพิ่มผลผลิตต่อไร่”เนื่องจากประเทศไทยไม่ได้มีพื้นที่เพาะปลูกน้อยเมื่อเทียบกับอีกหลายๆ ประเทศ
“สหรัฐอเมริกาเขาเป็นประเทศส่งออกสินค้าเกษตรรายใหญ่ของโลก แต่ผลผลิตต่อไร่ในอเมริกาเขาก็ไม่ได้สูง ถ้าไปเทียบกับญี่ปุ่นที่มีผลผลิตต่อไร่สูงมาก เพราะญี่ปุ่นขาดแคลนที่ดิน เวียดนามก็ขาดแคลนที่ดิน ก็ต้องอัดปุ๋ย แต่จะอัดปุ๋ยได้ก็ต้องอัดน้ำ ก็ต้องมีพื้นที่ชลประทาน เวียดนามมีชลประทาน 70 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ ส่วนไทยมี 25 เปอร์เซ็นต์” ดร.นิพนธ์ กล่าว
แต่ทั้งหมดที่ว่ามานี้เป็นเรื่องในอดีต ปัจจุบันภาคเกษตรไทยต้องเผชิญกับความท้าทายทั้ง “ภายใน” ตัวเกษตรกรไทยเองที่อายุมาก จึงไม่คิดที่จะลงทุนกับนวัตกรรมและเทคโนโลยี ขณะเดียวกันทรัพยากรไทยยังเสื่อมโทรมลง และ “ภายนอก” เช่น สภาพอากาศแปรปรวน ภาวะน้ำท่วมน้ำแล้งคาดเดาได้ยากขึ้น อีกทั้งพลเมืองโลกมีฐานะดีขึ้น ความต้องการสินค้าคุณภาพก็มีมากขึ้นไปด้วย จากเดิมที่ความเข้มงวดจะเน้นเฉพาะการส่งออกไปสหภาพยุโรป (EU) หรือสหรัฐอเมริกา ต่อไปอาจจะต้องใช้มาตรฐานสูงระดับเดียวกันไม่ว่าส่งไปขายที่ใดก็ตาม
ดร.นิพนธ์ ย้ำว่า “วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” เท่านั้นที่จะทำให้ภาคเกษตรไทยปรับตัวกับภาวะการเปลี่ยนแปลงได้ เช่น ระบบพยากรณ์อากาศที่แม่นยำ เพื่อให้เกษตรกรวางแผนการเพาะปลูกได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการปรับปรุงพันธุ์พืชเพื่อรองรับสภาพอากาศที่เปลี่ยนไป เป็นสิ่งที่ภาครัฐต้องลงทุน มากไปกว่ามาตรการอุดหนุนราคาที่ในระยะยาวไม่ได้ช่วยให้เกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเองได้
“การช่วยเหลือที่ใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เวลานี้ต้องทำแล้ว และเป็นทางออกของประเทศไทยทางเดียว เป็นเรื่องใหญ่มาก เกษตรกรไทยก็ต้องเป็นเกษตรกรที่มีคุณภาพมีมาตรฐาน สุดท้ายคือเรื่องทรัพยากรธรรมชาติที่ประเทศของเรายังไม่ได้ดูแลอย่างเพียงพอ ประเทศที่ภาคเกษตรเข้มแข็งเขาจะดูแลทรัพยากรมาก” ดร.นิพนธ์ กล่าวย้ำ
ถึงกระนั้น..นักวิชาการอาวุโสจาก TDRI ผู้นี้ ก็กล่าวเช่นกันว่า แม้ในต่างแดนจะมีกรณีศึกษาที่น่าสนใจในการยกระดับภาคเกษตร แต่ไม่ได้หมายความว่าจะใช้กับประเทศไทยได้ เช่น ความสำเร็จในประเทศจีนมีตัวแปรคือ “ที่ดินเมืองจีนเป็นของรัฐ” ไม่ใช่ของเอกชนหรือปัจเจกชนอย่างเมืองไทย มาตรการเชิงบังคับต่างๆ จึงทำได้ง่ายกว่า
นี่จึงเป็นอีกความท้าทายในการพัฒนาประสิทธิภาพภาคเกษตรของไทยอีกประการหนึ่ง!!!
ในปี 2559 ประเทศไทยมีแรงงานอยู่ในภาคเกษตร 11,862,000 คน คิดเป็นร้อยละ 31 ของจำนวนแรงงานไทยทั้งหมด 38,263,200 คน โดยแรงงานภาคเกษตรเป็นแรงงานนอกระบบมากถึง 11,045,500 คน ทั้งนี้พบความสัมพันธ์ระหว่างอายุกับการทำงาน กล่าวคือ แรงงานกลุ่มอายุมากมักจะเป็นแรงงานนอกระบบ โดยคนไทยช่วงอายุ 20-39 ปี เป็นแรงงานในระบบร้อยละ 56.8 และอายุ 40 ปีขึ้นไป เป็นแรงงานนอกระบบ ร้อยละ 67.6
เช่นเดียวกับด้านการศึกษา พบว่าแรงงานนอกระบบเป็นกลุ่มที่มีวุฒิการศึกษาต่ำกว่าชั้นประถมศึกษามากที่สุด ร้อยละ 31.6 รองลงมา ระดับประถมศึกษา ร้อยละ 27 ตรงข้ามกับแรงงานในระบบที่ส่วนใหญ่จบระดับอุดมศึกษา (ปริญญาตรี) ขึ้นไป คิดเป็นร้อยละ 34.9 ของแรงงานในระบบทั้งหมด รองลงมา ระดับมัธยมปลาย (หรือเทียบเท่า เช่น อาชีวศึกษาระดับ ปวช.) ร้อยละ 19.3 จากตัวเลขนี้จึงเป็นที่มาของนิยาม “อายุมากและการศึกษาน้อย” เมื่อพูดถึงภาคเกษตรไทย (ข้อมูลจากรายงาน “การสำรวจแรงงานนอกระบบ พ.ศ. 2559” โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ)
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี