"ช้างสารชนกัน หญ้าแพรกก็แหลกลาญ" เป็นสำนวนไทยหมายถึงเมื่อคนใหญ่คนโตผู้มีอำนาจเกิดขัดแย้งกัน ผู้ได้รับผลกระทบก็คือบรรดาคนตัวเล็กๆ เห็นได้ทั่วไปจากสงครามต่างๆ ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ หลายครั้งก็มาจากการผิดใจกันของชนชั้นนำแล้วไปเกณฑ์เอาไพร่พลมารบพุ่ง รวมถึงสงครามสมัยใหม่ที่บรรดาชาติมหาอำนาจไม่ได้รบกันเองโดยตรง แต่เข้าไปแทรกแซงรัฐเล็กรัฐน้อยให้สนับสนุนฝ่ายตน และขัดขวางอะไรก็ตามที่อาจเป็นประโยชน์กับฝ่ายตรงข้าม ความรุนแรงจึงไปเกิดขึ้นในบ้านเมืองอื่นที่ไม่ใช่แผ่นดินของมหาอำนาจนั้นเอง
"อาเซียน" (ASEAN) คือกลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวม 10 ชาติ ทั้งนี้หากดูจากการรวมกลุ่มประเทศต่างๆ พบว่า "กลุ่มอาเซียนน่าจะมีความหลากหลายที่สุด" ทั้งระบอบการปกครอง ฐานะทางเศรษฐกิจ รวมถึงความเชื่อหรือศาสนา อย่างไรก็ตามภูมิภาคนี้ยังมีศักยภาพในทางเศรษฐกิจอยู่มาก ทั้งประชากรที่เมื่อรวมกับแล้วได้ประมาณ 600 ล้านคน ทรัพยากรธรรมชาติที่ยังสมบูรณ์ รวมทั้งเป็นเส้นทางคมนาคมที่สำคัญเชื่อมโลกตะวันตกกับตะวันออก จึงกลายเป็นที่ "หมายปอง" และเป็น "สนามประลอง" ของบรรดาชาติมหาอำนาจอยู่ในปัจจุบัน
ความฝันของจีน (จงกั๋วเมิ่ง) : จีนนั้นถือว่าตนเองเป็น "ศูนย์กลางของโลก" ("จงกั๋ว" หรือ "จงหยวน") มาตั้งแต่สมัยโบราณนับพันปี และรู้สึกคับแค้นที่ถูกมหาอำนาจอื่นย่ำยีความภูมิใจนั้น จึงปรารถนามาตลอดที่จะกลับไปสู่สถานะอันยิ่งใหญ่ดังกล่าว อาทิ การฟื้นฟู "เส้นทางสายไหม" ทั้งบนบกและในท้องทะเล (ขวาล่าง) และเชื่อกันว่า "สีจิ้นผิง" (ซ้ายล่าง) ผู้นำสูงสุดของจีนคนปัจจุบันจะสามารถทำฝันนี้ของชาวจีนให้เป็นจริงได้
ที่งานเสวนา "เอเชียตะวันออกในปี 2018" ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) ซึ่งจัดโดยสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษาฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ศ.ดร.จุลชีพ ชินวรรโณ จากสาขาวิชาการระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ มธ. กล่าวถึงท่าทีของ "จีน" มหาอำนาจหลักฝั่งเอเชีย ว่าเมื่อเดือน ต.ค. 2560 มีการประชุมพรรคคอมมิวนิสต์จีนเพื่อพิจารณาผลการปฏิบัติงานของพรรคในรอบ 5 ปี แต่ครั้งนี้แตกต่างออกไปตรงที่ สีจิ้นผิง (Xi Jinping) ประธานาธิบดีจีน ใช้เวลาในการกล่าวรายงานถึง 3 ชั่วโมงครึ่ง นานกว่าการประชุมครั้งก่อนๆ ที่ผ่านมา
อาจารย์จุลชีพ กล่าวถึงสาระสำคัญในรายงานของ ปธน.สี ที่ระบุว่าพรรคจะต้องทำอะไรต่อไป เช่น ปฏิรูปเศรษฐกิจ ป้องกันและปราบปรามการทุจริตอย่างเข้มข้น พรรคมีบทบาทนำและสมาชิกพรรคต้องมีวินัยต่อพรรคอย่างเคร่งครัด พัฒนากองทัพให้ทันสมัย เข้มแข็ง จงรักภักดีต่อพรรค และสุดท้ายคือ “จีนจะมีบทบาทอย่างแข็งขันในเวทีระหว่างประเทศ” อาทิ เส้นทางสายไหมทั้งทางบกและทะเล (One Belt One Road) และกลไกอื่นๆ เพื่อบรรลุถึงความฝันสูงสุดของชนชาติจีน
ศ.ดร.จุลชีพ ชินวรรโณ
“สีจิ้นผิงเคยอธิบายว่า ความฝันของจีนคือการฟื้นฟูพลังอำนาจของจีน เป้าหมายแรกในปี 2021 (พ.ศ.2564) เป็นปีฉลองครบ 100 ปีการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีน ส่วนเป้าหมายที่สองอยู่ในปี 2049 (พ.ศ.2592) ฉลองครบ 100 ปี การสถาปนาประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน แล้วสีจิ้นผิงก็อธิบายว่า ปี 2021-2035 (พ.ศ.2564-2578) จีนต้องเป็นประเทศพัฒนาแล้วระดับปานกลาง เป็นผู้นำด้านนวัตกรรม ส่วนปี 2035-2050 (พ.ศ.2578-2593) ประกาศไว้ชัดว่าจีนจะขึ้นมาเป็นมหาอำนาจระดับโลก มีพลังอำนาจเบ็ดเสร็จและมีอิทธิพลระหว่างประเทศด้วย" อาจารย์จุลชีพ กล่าว
อาจารย์จุลชีพ ชี้ว่า จีนเป็นชาติที่มั่นใจในตนเองสูงมากจากการที่สามารถรอดพ้นจากวิกฤติเศรษฐกิจโลก เช่น "ต้มยำกุ้ง" ปี 2540 , "แฮมเบอเกอร์" ปี 2551 และอีกหลายครั้ง นอกจากนี้ ผู้นำจีนทุกคนยังรู้สึกว่า ตั้งแต่ปี 2382 ที่จีนแพ้ "สงครามฝิ่น" ให้กับอังกฤษ ถือเป็น "ช่วงเวลาอัปยศ" ของชนชาติเลือดมังกร เพราะสูญเสียสถานะ "ศูนย์กลางของโลก" ที่ดำรงมานานนับร้อยนับพันปี หลังแพ้อังกฤษ ชาติอื่นๆ ทั้งฝรั่งตะวันตก รวมถึงเพื่อนบ้านทางตะวันออกอย่างญี่ปุ่น ก็เข้ามากระทำย่ำยีกับคนจีนและแผ่นดินจีนอย่างต่อเนื่อง
"AIIB" สถาบันการเงินระหว่างประเทศที่จีนสถาปนาขึ้น
ตลอด 5 ปีล่าสุดในการอยู่ในอำนาจของสีจิ้นผิง ได้เสนอนโยบายสร้างความยิ่งใหญ่ของจีนไว้มากมาย นอกจากเส้นทางสายไหมบกและทะเล ที่จะมีทั้งทางรถไฟและท่าเรือแล้ว ยังสร้างกลไกทางเศรษฐกิจ เช่น "AIIB" (Asian Infrastructure Investment Bank) ที่จีนตั้งขึ้นมาแข่งกับ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) , ธนาคารโลก (World Bank) ของตะวันตก การเดินสายเจรจากับประเทศต่างๆ ว่า "ไม่จำเป็นต้องใช้เงินเหรียญสหรัฐ จะหันมาใช้เงินหยวนของจีนก็ได้" ในการค้าขายระหว่างประเทศ รวมถึงกรอบความร่วมมือต่างๆ
อาจารย์จุลชีพ มองว่า ทั้งหมดที่จีนทำนั้นคือการสร้าง สถาปัตยกรรมทางยุทธศาสตร์ (Strategic Architecture) ของจีน เพื่อไปสู่การเปลี่ยนแปลงระเบียบโลก (World Order) เนื่องจากมองว่าระเบียบโลกที่ชาติตะวันตกสถาปนาขึ้นไม่เป็นธรรมกับประเทศอื่นๆ รวมทั้งจีนด้วย ปัจจุบันจึงมองเห็นว่ามี "2 ระเบียบโลก" หนึ่งคือแอลโกล-อเมริกัน ของตะวันตก และอีกหนึ่งคือระเบียบโลกที่จีนตั้งขึ้นมาคู่ขนานกัน
"Pivot Of Asia" แผนปิดล้อมจีนที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกา วางยุทธศาสตร์ไว้ในสมัยประธานาธิบดีบารัค โอบามา
ภาพประกอบ : https://www.sott.net/article/320664-Primacy-over-Asia-US-pivot-turns-to-panic
ขณะที่ ศ.ดร.ประภัสสร์ เทพชาตรี จากสาขาวิชาการระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ มธ. เช่นกัน แต่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้าน สหรัฐอเมริกา กล่าวว่า สหรัฐครองความเป็นมหาอำนาจเบอร์ 1 ของโลก มาตั้งแต่ปี 2461 เมื่อชนะสงครามโลกครั้งที่ 1 (2457-2461) โดยร่วมกับพันธมิตรอย่างอังกฤษและฝรั่งเศสสร้างระเบียบโลกขึ้น ผ่านสงครามใหญ่อย่างสงครามโลกครั้งที่ 2 (2482-2488) และสงครามเย็น
โดยผู้ที่เคยท้าทายพันธมิตรสหรัฐ-อังกฤษ-ฝรั่งเศส ไม่ว่าจะเป็นเยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่น สหภาพโซเวียด (รัสเซีย) ต่างพ่ายแพ้กันไปหมด เว้นแต่จีนที่ยังโตวันโตคืน ความเข้มแข็งของจีนทำให้บรรดานักยุทธศาสตร์ของสหรัฐ "นั่งไม่ติด" เพราะมองว่าจีนเป็น "ภัยคุกคาม" ด้วยเชื่อว่า "ผู้มีพลังอำนาจย่อมคิดอยากเป็นใหญ่" แน่นอนสหรัฐเป็นเช่นนั้นมาแล้ว และหากจีนแข็งแกร่งพอก็คงทำไม่ต่างกัน สหรัฐจึงต้อง "ปิดล้อม" ไม่ให้จีนขยายตัวไปมากกว่านี้
ศ.ดร.ประภัสสร์ เทพชาตรี
“จีนจะหลุดจากการปิดล้อมได้ต้องมีความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนบ้าน แต่มองไปทางตะวันตกเจออินเดีย ก็เป็นมหาอำนาจคู่แข่งของจีน มองขึ้นเหนือก็เจอรัสเซีย มองตะวันออกก็เจอญี่ปุ่น เจอกองเรือที่ 7 ของอเมริกา พอมองลงมาทางใต้ เจอแต่ประเทศเล็กๆ 10 ประเทศ รวมกันเรียกว่าอาเซียน ฉะนั้นการขยายอิทธิพลลงใต้น่าจะง่ายสุดสำหรับจีน เราจะเห็นว่าน้ำหนักที่จีนให้กับการตีสนิทเอาใจก็คืออาเซียน” อาจารย์ประภัสสร์ ระบุ
อาจารย์ประภัสสร์ กล่าวต่อไปว่า สหรัฐให้ความสนใจกับอาเซียนมาตั้งแต่สมัยประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช (George W Bush) ในปี 2545 เป็นต้นมา แต่ที่เห็นชัดที่สุดเกิดขึ้นสมัย ปธน. บารัค โอบามา (Barrack Obama) อาทิ ในปี 2552 มีการจัดประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ตามด้วยการปรับความสัมพันธ์กับเมียนมา (พม่า) จัดตั้ง "ภาคีความร่วมมือสหรัฐ-ชาติลุ่มแม่น้ำโขง" (US Lower Mekong Initiative) ประกอบด้วยชาติอาเซียนที่เกี่ยวข้องกับแม่น้ำโขง 5 ชาติ "ม่เชิญจีนเข้าร่วม" แม้ต้นแม่น้ำโขงจะอยู่ที่จีนก็ตาม
รวมถึงการเปิดประเด็น "ทะเลจีนใต้" (South China Sea) ในปี 2553 เป็นการ "ยั่วยุ" ให้จีนโกรธจนต้องแสดงแสนยานุภาพของกองทัพ เรื่องนี้ "สหรัฐได้ประโยชน์" เพราะในเมื่อ "พญามังกร" คำรามอาละวาด ชาติเล็กๆ แถวอาเซียนก็ต้องไปเรียก "พญาอินทรี" ที่มีพลังอำนาจยิ่งใหญ่พอกันเข้ามาคุ้มครองพวกตน จากนั้นในปี 2555 สหรัฐเริ่ม "รุกคืบ" จากขยายอำนาจด้านการทหารในอาเซียนที่เข้มแข็งอยู่แล้ว ไปสู่ด้านเศรษฐกิจเพื่อแข่งกับจีนด้วย
"TPP" (Trans-Pacific Partnership) ยุทธศาสตร์ปิดล้อมจีนทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา สมัย ปธน. บารัค โอบามา
ภาพประกอบ : http://www.usfunds.com/investor-library/frank-talk/can-the-tpp-save-the-global-economy/
“ถ้ามองในแง่ระเบียบทางเศรษฐกิจ จีนรุกคืบไปมาก One Belt One Road (เส้นทางสายไหม) FTA (เขตการค้าเสรี) และอะไรเต็มไปหมด ในแง่เศรษฐกิจอิทธิพลของอเมริกาลดลงเร็วมาก โอบามาก็เลยผลักดัน TPP (ข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก) ขึ้นมา ซึ่งเป็น FTA ที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีอเมริกาเป็นหัวเรือใหญ่ ที่สำคัญคือ TPP จะไม่มีจีน ดังนั้น TPP ก็คือยุทธศาสตร์โดดเดี่ยวจีนทางเศรษฐกิจ โอบามาถือว่า TPP คือเรือธงของอเมริกาในยุทธศาสตร์ต่อเอเชีย” อาจารย์ประภัสสร์ กล่าว
ทว่าทุกอย่างเปลี่ยนไปหลังการเลือกตั้งเมื่อปลายปี 2559 ซึ่งสหรัฐได้ โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) เป็นประธานาธิบดี นโนบายของทรัมป์ "กลับลำ 180 องศา" จากสมัย ปธน. โอบามา อย่างสิ้นเชิง เช่น ไม่เอาการค้าเสรี ไม่เอาโลกาภิวัฒน์ ซึ่งทรัมป์กล่าวไว้ตั้งแต่ครั้งหาเสียงแล้ว และเมื่อได้ดำรงตำแหน่งก็ทำจริงๆ ด้วยการถอนตัวออกจาก TPP เรื่องนี้ทำเอาป่วนไปทั้งโลก ประเทศต่างๆ ไม่เข้าใจว่าทรัมป์จะนำสหรัฐไปทางไหน
อาจารย์ประภัสสร์ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า แต่แล้วระยะหลังๆ ทรัมป์น่าจะเข้าใจแล้วว่า "สหรัฐไม่สามารถถอยหลังได้" ยุทธศาสตร์ของสหรัฐกับภูมิภาคเอเชียต้องคงอยู่ต่อไป ทั้งการรักษาผลประโยชน์และการปิดล้อมจีน เห็นได้จากการติดต่อกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทย ซึ่งท่าทีแบบนี้ถือว่าสำคัญมาก เพราะสหรัฐมักจะไม่ยอมติดต่อสัมพันธ์กับรัฐบาลที่ไม่เป็นประชาธิปไตย โอบามาเองก็ยึดถือหลักเช่นนั้น
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ประเทศไทย (ซ้าย) สนทนากับ ปธน. โดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ (ขวา) เมื่อครั้งผู้นำไทยเดินทางไปเยือนสหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 2-4 ต.ค. 2560
“ตอนรัฐประหารในปี 2014 (พ.ศ.2557) อเมริกาก็ถอยห่างจากไทย ในอดีตไทยก็ต้องรีบกลับไปง้ออเมริกา แต่คราวนี้ไทยวิ่งไปหาจีน ตีสนิทกับจีนมากช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ทรัมป์ก็พยายามดึงไทยกลับมา จนมาถึงปลายปีที่แล้ว (พ.ศ.2560) ทรัมป์ก็เดินทางมาเยือนเอเชียเป็นครั้งแรก ไปญี่ปุ่น ไปเกาหลี แล้วก็มาประชุมเอเปคที่ดานัง (เวียดนาม) แล้วก็ประชุมอาเซียนที่ฟิลิปปินส์” อาจารย์ประภัสสร์ ยกตัวอย่าง
อย่างไรก็ตาม "ทรัมป์ก็ยังคงเป็นทรัมป์" สุนทรพจน์ของเขาที่การประชุมเอเปค (APEC) ก็ยังบอกว่าไม่เอาการค้าเสรี เพราะมองว่าสหรัฐถูกเอาเปรียบ อีกทั้งจะไปจัดการกับบรรดาประเทศคู่ค้าของสหรัฐด้วย ดังนั้นบทบาทของสหรัฐที่จะมาแข่งด้านเศรษฐกิจกับจีนก็หายไป อาจารย์ประภัสสร์ ระบุว่า วันนี้นโยบายเศรษฐกิจสหรัฐต่อเอเชีย ก็ยังไม่มีความชัดเจน แต่เชื่อว่าหน่วยงานรัฐบาลสหรัฐ รู้เรื่องนี้ดี และกำลังคิดกันอยู่ว่าจะทำอย่างไรต่อไป
"ชินโซ อาเบะ" นายกฯ ญี่ปุ่น ผู้ถูกมองว่ากำลังฟื้นฟู "จักรวรรดิอาทิตย์อุทัย" ขึ้นมาอีกครั้ง หลังพยายามทั้งตีความและแก้ไขรัฐธรรมนูญของญี่ปุ่น เพื่อให้ "กองกำลังป้องกันตนเอง" (JSDF) มีสถานะเป็นกองทัพ และปฏิบัติงานได้กว้างขวางยิ่งขึ้น
ภาพประกอบ : https://www.thedailybeast.com/japan-shinzo-abes-government-has-a-thing-about-hitler-it-likes-him
ภูมิภาคอาเซียนไม่เพียงแต่จะเป็นสนามประลองกำลังระหว่างสหรัฐกับจีนเท่านั้น ญี่ปุ่น มหาอำนาจเอเชียที่ถูกสะกดพลังไว้ตั้งแต่เมื่อครั้งแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วยรัฐธรรมนูญที่จำกัดการมีกำลังทหารและอุตสาหกรรมอาวุธ รวมถึงพบกับวิกฤติเศรษฐกิจช่วงทศวรรษที่ 1980s (ปี 2523-2532) จนเป็นปัญหาเรื้อรังถึงปัจจุบัน "จากมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับ 2 ของโลก ก็โดนจีนแซงหน้าไปแล้ว" ถึงกระนั้น ชาวลูกพระอาทิตย์ก็ยังหวังว่าจะกลับไปสู่ความยิ่งใหญ่อย่างในอดีตอีกครั้ง
ศ.(กิตติคุณ) ดร.ไชยวัฒน์ ค้ำชู อาจารย์ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ญี่ปุ่นถือว่าตนเป็นผู้ครองพื้นที่ทางเศรษฐกิจของอาเซียน ตั้งแต่หลังสงครามโลก กระทั่งเมื่อเผชิญวิกฤติทางเศรษฐกิจ จีนก็เข้ามาแทนที่ กระทั่งญี่ปุ่นได้นายกรัฐมนตรีชื่อ ชินโซ อาเบะ (Shinzo Abe) ที่มีบุคลิกแบบชาตินิยมไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า ปธน. สีจิ้นผิง ของจีน
อาจารย์ไชยวัฒน์ กล่าวว่า เมื่อครั้งอาเบะเป็นนายกฯ สมัยแรกในปี 2549 ได้พูดถึงนโยบาย "อินโด-แปซิฟิก" (Indo-Pacific) หมายถึงการดึงเอาคู่แข่งสำคัญของจีนอย่าง อินเดีย มาเป็นพันธมิตรของตน และหลังจากนั้นก็คิดว่าต้องขยายต่อไปโดยชูจุดแข็ง "กลุ่มประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย" ทำให้ไปชวน ออสเตรเลีย รวมถึงสหรัฐ มาเข้าร่วมด้วยเป็น 4 ประเทศ เรียกว่า "ควอด" (Quad) เพื่อมาคานกับการแผ่ขยายอำนาจทางเศรษฐกิจของจีน
ศ.(กิตติคุณ) ดร.ไชยวัฒน์ ค้ำชู
“หนังสือพิมพ์ในออสเตรเลีย เสนอข่าวของ Quad หรือ 4 ประเทศ (ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย สหรัฐ อินเดีย) จะมี Joint Infrastructure (ความร่วมมือโครงสร้างพื้นฐาน) ร่วมกัน แต่พยายามไม่พูดว่าเพื่อมาแข่งขันกับจีน บอกว่าเป็นทางเลือกอันหนึ่ง กำลังอยู่ในระยะตั้งไข่ ส่วนญี่ปุ่นนั้นก็พยายามไม่พูดอะไรที่สร้างความบาดหมางกับจีน ซึ่งระยะหลังๆ ผู้นำจีนและญี่ปุ่นก็พบปะกันมากขึ้นเพื่อลดความตึงเครียดด้านการแข่งขันแสนยานุภาพทางทหาร ในบริเวณทะเลจีนตะวันออก ที่จีนกับญี่ปุ่นมีกรณีพิพาทคือเกาะเตียวหยูหรือเกาะเซ็นโกกุ” อาจารย์ไชยวัฒน์ กล่าว
แม้จะขัดแย้งและแข่งขันกันอย่างหนักระหว่างจีนกับญี่ปุ่น แต่ในทางกลับกัน 2 ชาตินี้ก็ต้องพึ่งพาอาศัยกันอย่างมากทางเศรษฐกิจ อาจารย์ไชยวัฒน์ กล่าวต่อไปว่า จีนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของญี่ปุ่น ส่วนญี่ปุ่นเป็นคู่ค้าอันดับ 3 ของจีน การลงทุนของญี่ปุ่นในจีนสร้างงานให้ชาวจีนกว่า 10 ล้านคน จีนเองก็ไปซื้อเครื่องจักร วัตถุดิบและอะไหล่ต่างๆ จากญี่ปุ่นมาประกอบเป็นสินค้าก่อนส่งไปขายทั่วโลก ชาวจีนก็นิยมไปท่องเที่ยวในญี่ปุ่น โดยเฉพาะที่เมืองโยโกฮามา เพราะเป็นเมืองที่มีชาวจีนอาศัยอยู่มาก และชาวญี่ปุ่นก็นิยมเดินทางไปท่องเที่ยวในจีนไม่ต่างกัน
ถึงกระนั้น นายกฯ อาเบะ ก็เคยกล่าวในการประชุม World Economic Forum โดยยกตัวอย่าง "อังกฤษ-เยอรมนี" เป็น 2 ชาติในยุโรปที่พึ่งพากันด้านเศรษฐกิจ สุดท้ายก็ยังรบกันในช่วงสงครามโลก ดังนั้นใครจะกล้าฟันธงว่าจีนกับญี่ปุ่นจะไม่ซ้ำรอยเช่นนั้นบ้าง ทำให้อาเบะพยายามเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านการทหารของญี่ปุ่น เช่น "ยกเลิกนโยบายไม่ขายอาวุธให้ต่างชาติ" ที่รัฐบาลญี่ปุ่นถือปฏิบัติมายาวนาน หรือการส่งทหารไปปฏิบัติภารกิจในต่างแดน แม้ยังแก้รัฐธรรมนูญไมได้ แต่ก็ใช้วิธี "ตีความใหม่" ในนิยามด้านความมั่นคงแทน
กองกำลังป้องกันตนเองของญี่ปุ่น ซ้อมรบร่วมกับนาวิกโยธินสหรัฐ ที่มลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2558
ภาพประกอบ : http://discovermilitary.com/world-military/japan-ground-self-defense-force-exercise-iron-fist-2015/
“อเมริการ่างรัฐธรรมนูญไม่ให้ญี่ปุ่นมีกองทัพ จะได้ไม่ไปรุกรานใครอีก แต่ปัจจุบันก็ทราบว่าญี่ปุ่นมีกำลังทหาร มีอาวุธทันสมัยไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าจีนเลย เพียงแต่ญี่ปุ่นยังไม่มีนิวเคลียร์ เมื่อก่อนญี่ปุ่นตีความว่ากองกำลังญี่ปุ่นใช้เพื่อป้องกันตัวเอง ไม่ส่งออกไปรบนอกประเทศ เดี๋ยวนี้ตีความใหม่ว่าออกไปรบนอกประเทศได้ สมมติพรุ่งนี้เกิดสงครามที่คาบสมุทรเกาหลี ถ้าตีความแบบเดิมญี่ปุ่นไปร่วมรบไม่ได้ แต่ถ้าตีความใหม่ อ้างว่าสงครามภายนอกกระทบความมั่นคงของญี่ปุ่น ก็สามารถส่งทหารไปรบนอกประเทศได้” อาจารย์ไชยวัฒน์ อธิบาย
อาจารย์ไชยวัฒน์ ยังกล่าวอีกว่า ญี่ปุ่นเองก็หาพันธมิตรในอาเซียนเช่นกัน อาทิ การขายเรือตรวจการณ์ยามฝั่งให้กับมาเลเซียและฟิลิปปินส์ ซึ่งทั้ง 2 ชาติมีข้อพิพาทกับจีนกรณีทะเลจีนใต้ มีการตั้งงบประมาณไว้ถึง 500 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาท เพื่อช่วยอาเซียนทั้งด้านภัยพิบัติ โจรสลัด และด้านความมั่นคง มีการซ้อมรบร่วมกับกองทัพสหรัฐและอินเดีย มีการสร้าง "เรือบรรทุกเครื่องบิน" ทั้งที่จัดอยู่ในหมวด "อาวุธเชิงรุกไม่ใช่เชิงรับ" โดยญี่ปุ่นอ้างว่าไม่ได้มีไว้บรรทุกเครื่องบิน แต่บรรทุกเฉพาะเฮลิคอปเตอร์เท่านั้น
แม้การรบกันด้วยกำลังทหารยากจะเกิดขึ้น แต่การแข่งขันกันทางด้านเศรษฐกิจระหว่าง 3 มหาอำนาจ "สหรัฐอเมริกา-จีน-ญี่ปุ่น" ในเอเชียและอาเซียนกำลังดุเดือด แค่ในประเทศไทยก็เห็นแล้วจากระบบรถไฟรุ่นใหม่ที่กำลังเร่งก่อสร้างกันนั้นมีทั้งระบบของทั้งจีนและญี่ปุ่น หรือในขณะที่จีนต้องการเชื่อมเส้นทางรถไฟไปทั่วอาเซียน ญี่ปุ่นก็สนใจระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ของไทย และท่าเรือน้ำลึกทวายของเมียนมา ส่วนสหรัฐ ปธน. ทรัมป์ ก็แก้ไขระเบียบอนุญาตให้ไทยซื้ออาวุธได้ และให้ญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้ซื้ออาวุธที่มีอานุภาพสูงจากสหรัฐมากขึ้น
แข่งกันแบบนี้ความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินยังไม่เกิด ยังไม่ถึงขั้นแหลกลาญเหมือนการรบจริงๆ แต่ในทางเศรษฐกิจและสังคม ชาวท้องถิ่นในอาเซียนได้ประโยชน์หรือไม่? มากน้อยเพียงใด? นั่นก็เป็นอีกเรื่อง!!!
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี