“2564” หรืออีก 3 ปีข้างหน้า เป็นปีที่สังคมไทยจะเข้าสู่ “สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์” ตามการพยากรณ์ของ “สภาพัฒน์” สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยในปีดังกล่าว สัดส่วนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป จะอยู่ที่ร้อยละ 20 ของประชากรไทยทั้งประเทศ ทำให้ทุกภาคส่วนต้องตื่นตัว หามาตรการต่างๆ มารับมือ เห็นได้จาก มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2559 ก็กล่าวถึงการเตรียมพร้อมรับสังคมสูงวัยเช่นกัน
อนึ่ง..นอกจากด้านสวัสดิการแล้ว “สิทธิ” ของผู้สูงอายุ ก็เป็นประเด็นที่ต้องให้ความสนใจ ดังที่ พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวในงานเสวนา “สิทธิของผู้อายุไทยในสังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์” ว่า ปัญหาความรุนแรงและการละเมิดสิทธิผู้สูงอายุ อันดับ 1 คือความรุนแรงทางด้านจิตใจ โดย 1 ใน 4 ของผู้สูงอายุเผยว่า เคยถูกกระทำความรุนแรงด้านใจ เช่น พูดไม่ดี ทะเลาะ ทำให้เสียใจ น้อยใจ
อันดับที่ 2 คือการทอดทิ้งไม่ดูแล ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลสถิติจากศูนย์ช่วยเหลือสังคม(1330) พบปัญหาผู้สูงอายุขาดผู้ดูแล เพิ่มเป็น 10 เท่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา รวมถึงปัญหาลูกหลานดูแลผู้สูงอายุไม่ไหว และสถานสงเคราะห์ของผู้สูงอายุมีจำนวนจำกัด อันดับที่ 3 คือหวังผลประโยชน์ด้านทรัพย์สิน โดนคนในครอบครัวหรือคนในครอบครัว หรือคนภายนอกหลอกให้ทำธุรกรรมต่างๆ เช่น ถูกหลอกให้ซื้อของที่ไม่ได้คุณภาพ หลอกให้ทำธุรกรรมทางการเงิน โดยพบจำนวนเหยื่อจาก 70 ราย ในปี 2558 เป็น 700 ราย ในปี 2559 หรือเพิ่มถึง 10 เท่า ในเวลาเพียง 1 ปี
อันดับที่ 4 คือปัญหาความรุนแรงทางด้านร่างกาย จากที่ปรากฏตามสื่อต่างๆ พบว่าคนที่ทำร้ายร่างกายผู้สูงอายุมักเป็นคนใกล้ตัว และผู้ทำร้ายส่วนใหญ่มีปัญหาสุขภาพจิต หรือติดของมึนเมา ยาเสพติด ซึ่งเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดความรุนแรง และ อันดับที่ 5 คือความรุนแรงทางเพศ ถูกล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งผู้ถูกกระทำเป็นคนใกล้ชิดในครอบครัว หรือคนในชุมชน และมักเกิดกับผู้สูงอายุที่อยู่ตามลำพัง
ขณะที่ ผศ.ดร.รุ่งนภา เทพภาพ อาจารย์วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดเผยว่า จากที่เคยทำการศึกษา พบว่า “วัยรุ่นอายุประมาณ 12-15 ปีมีอคติต่อผู้สูงอายุ” เนื่องจากผู้สูงอายุ “ชอบดุด่าว่ากล่าว” จึงทำให้ความสัมพันธ์เปลี่ยนไป ถึงกระนั้นก็พบเช่นกันว่า “ผู้ที่ผ่านการเรียนรู้เรื่องการดูแลผู้สูงอายุ อคติที่มีต่อผู้สูงอายุก็ลดลงไป” เข้าอกเข้าใจผู้สูงอายุมากขึ้น สัมพันธภาพระหว่างวัยรุ่นกับผู้สูงอายุดีขึ้น
นอกจากความสัมพันธ์ในครอบครัวแล้ว ดร.รุ่งนภา ยังกล่าวถึง “ปัญหาสภาพแวดล้อม” ที่แตกต่างกันระหว่างผู้สูงอายุในชนบทกับในเมือง กล่าวคือ ผู้สูงอายุในชนบทจำเป็นต้องอาศัยลูกหลานในการเดินทาง ส่วนผู้สูงอายุในเมืองถูกละเมิดสิทธิในการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ เนื่องจากระบบที่มีไม่ได้ออกแบบมาเพื่อรับการเดินทางของประชากรสูงวัย จึงอยากฝากให้รัฐบาลเมื่อจะทำโครงการสาธารณูปโภคต่างๆ ควรคำนึงถึงผู้สูงอายุด้วย
ด้าน รศ.ดร.จิราพร เกศพิชญวัฒนา อาจารย์คณะพยาบาลศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นว่า การแก้ปัญหาการถูกละเมิดสิทธิของผู้สูงอายุ คือ การเสริมสร้างบุคลากรที่เกี่ยงข้องกับผู้สูงอายุให้มีความรู้และทักษะในการช่วยเหลือผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงและการถูกละเมิด เพราะเมื่อมีความรู้แล้ว หากเกิดเหตุขึ้นย่อมสามารถช่วยเหลือผู้สูงอายุได้อย่างครบถ้วน
เช่นเดียวกับ ผศ.ดร.จงจิตต์ ฤทธิรงค์ นักวิชาการสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวเสริมว่า ระดับการให้ความช่วยเหลือผู้สูงอายุมีความแตกต่างกัน ผู้สูงอายุบางคนสามารถช่วยเหลือตนเองได้ บางคนไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ จนกลายเป็นปัญหาการละเมิดสิทธิของผู้สูงอายุ การให้ความช่วยเหลือจึงต้องแตกต่างกันออกไป เช่น สมาชิกในครอบครัวหรือคนในชุมชน อาจจะมีสังเกตผู้สูงอายุ เพื่อทำการช่วยเหลือได้อย่างท่วงที หรืออาจจะแนะนำให้คำปรึกษา ติดตามเฝ้าระวัง มากขึ้น
“ตัวอย่างคือที่จังหวัดเชียงใหม่ สามารถทำได้สำเร็จ การให้ความรู้ด้านการดูแลผู้สูงอายุจึงเป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้กัน โดยเฉพาะการให้ความรู้กับวัยรุ่น ด้วยตระหนักถึงว่าการ
เป็นผู้สูงอายุมีความยากลำบากอย่างไร จะได้มีความเข้าใจ และสามารถช่วยเหลือได้อย่างถูกต้อง” ดร.จงจิตต์ กล่าว
อนึ่ง..ปี 2564 ตามคำพยากรณ์ของสภาพัฒน์ เป็นเพียง “จุดเริ่มต้น” เท่านั้น เพราะยังมีการคาดการณ์ต่อไปอีกว่า ตั้งแต่ปี 2574 เป็นต้นไป ประเทศไทยจะเข้าสู่ “สังคมสูงวัยระดับสุดยอด” หรือมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปถึงร้อยละ 30 ของประชากรทั้งหมด ฉะนั้นนอกสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ เช่น สาธารณูปโภคต่างๆ แล้ว การสร้างความรู้เพื่อให้สังคมเกิดตระหนักรู้และเตรียมความพร้อม เพื่อให้เกิดแนวทางปฏิบัติในการเฝ้าระวัง ป้องกันคุ้มครองสิทธิของผู้อายุ และแก้ปัญหาผู้สูงอายุที่ถูกละเมิดสิทธิ
ก็สำคัญไม่แพ้กัน!!!
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี