นึกถึง “พังงา” นึกถึงอะไร? เชื่อว่าภาพแรกที่ลอยมาคงเป็น “ทะเล-ชายหาด” เพราะจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามันแห่งนี้เป็นที่ตั้งของทั้ง หมู่เกาะสิมิลัน ต.เกาะพระทอง อ.คุระบุรี หมู่เกาะสุรินทร์ ต.คุระ อ.คุระบุรี อ่าวพังงา ต.เกาะปันหยี อ.เมือง รวมถึง “เขาตะปู” หรือเกาะตะปูก็แล้วแต่จะเรียก ณ ต.กะไหล อ.ตะกั่วทุ่ง สถานที่ที่ “พยัคฆ์ร้าย 007” ยังเคยมาเยือนในภาพยนตร์ตอน “เพชฌฆาตปืนทอง” (The Man with the Golden Gun) อีกต่างหาก
ด้วยรายได้จากภาคการท่องเที่ยวเฉลี่ยหลักหมื่นล้านบาทต่อปี ประชาคมจังหวัดพังงาจึงได้ขับเคลื่อนแนวคิด “พังงา Go Green” เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน ประกอบด้วย 1.Green food “อาหารปลอดภัย” หลังพบว่ายังมีการปนเปื้อนในผักผลไม้ค่อนข้างสูง ทำให้ต้องพัฒนาการผลิตอาหารที่ปลอดภัย โดยเฉพาะการเริ่มจากการผลิตในระดับจังหวัด และเชื่อมโยงระหว่างภาคการเกษตรกับภาคการท่องเที่ยว เพื่อเป็นกิจการที่เกื้อกูลต่อกันและกัน
อเนก จีวะรัตน์
อเนก จีวะรัตน์ เจ้าของสวนลุงอเนกต.เหมาะ จ.พังงา เผยว่า ในอดีตตนเคยเป็นเจ้าของเหมืองแร่ในพื้นที่ของจังหวัดพังงามาก่อน หลังจากแร่ในพื้นที่หมดตนเริ่มสนใจในเรื่องของการเกษตรแบบผสมผสานและเริ่มลงมือทำเมื่อปี พ.ศ.2525 ซึ่งแนวคิดเกิดจาก “อยากมีอาหารไว้กินในครัวเรือน” ต่อมาในปี พ.ศ.2543 สำนักงานเกษตรจังหวัดพังงา ได้มอบรางวัลเกษตรกรดีเด่นระดับจังหวัดให้กับตน
จากนั้นในปี พ.ศ.2546 ลุงอเนกได้รับรางวัลเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาไร่นาสวนผสม จึงได้น้อมนำ “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง-เกษตรทฤษฎีใหม่” มาใช้ในการประกอบอาชีพ เปลี่ยนแปลงการปลูกพืช การเลี้ยงสัตว์ และการประมง ให้มีระบบมากขึ้น แบ่งพื้นที่เป็นสัดส่วนให้พอเหมาะ โดยเป็นแหล่งน้ำ ร้อยละ 30 ปลูกไม้ผลและพืชผัก ร้อยละ 30 และส่วนที่เหลือเป็น ถนน ที่พักอาศัย และโรงเรือนเลี้ยงสัตว์ ร้อยละ 40 ในพื้นที่ 52 ไร่
ลุงอเนก กล่าวต่อไปว่า เกษตรกรแบ่งได้เป็น 3 ระดับคือ 1.เกษตรกรเลนซ้ายลงทุนน้อยในเรื่องค่าแรงงาน และอยู่กับธรรมชาติ 2.เกษตรกรเลนกลาง ยกระดับมาจากเกษตรเลนซ้าย ที่มีความประณีตและรายได้เพิ่มขึ้น และ 3.เกษตรเลนขวา เป็นเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จในทุกด้าน “ซึ่งเกษตรกรทั้ง 3 รูปแบบ มีจุดหมายเดียวกัน คือ การทำให้เป็นเกษตรปลอดภัย” และทำให้ผู้บริโภคมีสุขภาพที่ดี “ลด-ละ-เลิกใช้สารเคมี” มาเปลี่ยนเป็นสารอินทรีย์ เช่น นำมูลไก่เป็นปุ๋ย และนำปรับสภาพน้ำในบ่อปลาเป็นต้น
“ต้องคิดให้มาก และต้องเรียนรู้ไปตลอดชีวิต โลกมีการเปลี่ยนแปลง ต้องปรับเข้ากับโลกในปัจจุบันให้ได้” เกษตรกรดีเด่นแห่ง จ.พังงา กล่าว
2.Green Tourism “การท่องเที่ยวแบบกลับสู่ธรรมชาติ” หลังพบว่าการท่องเที่ยวแบบ “นับปริมาณคนเข้าว่า” อาจไม่ใช่คำตอบ เพราะ “รายได้คนในพื้นที่ไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ” นอกจากนี้นักท่องเที่ยวจำนวนไม่น้อยยังให้ความเห็นว่า“ต้องการสถานที่ท่องเที่ยวที่มีสภาพแวดล้อมที่ดี ผู้คนไม่พลุกพล่านแออัด” มีแนวโน้มในอนาคตที่นักท่องเที่ยวจะหันไปท่องเที่ยวสถานที่ที่เป็นธรรมชาติมากขึ้น
กฤษ ศรีฟ้า ประธานเขตภาคใต้สภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภาคการท่องเที่ยวของจังหวัดพังงาทำรายได้เป็นอันดับต้นๆ ของประเทศไทย ซึ่งพังงามีความพร้อม
ในเรื่องของทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ป่าชายเลนมากที่สุดในไทย จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ชาวพังงาต้องพัฒนาศักยภาพของตนมากขึ้น เช่น การบริหารจัดการการท่องเที่ยว
“การประชุมกันระหว่างกลุ่มเกษตรอินทรีย์และสมาคมโรงแรมจังหวัดพังงา ทางสมาคมโรมแรมพร้อมรับซื้อสินค้าเกษตรอินทรีย์ของชาวบ้านทุกชนิด โดยให้ราคาที่สูงกว่าท้องตลาด ร้อยละ 20 และวางแผนทางการตลาดด้วยกัน เพื่อเป็นการเพิ่มรายได้ของเกษตรกรในพื้นของชุมชนร่วมกับการพัฒนาการท่องเที่ยวอีกด้วย” ประธานเขตภาคใต้ สภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ระบุ
นอกจากนี้ กฤษ ในฐานะที่เป็นเจ้าของ “โมเกน อีโค วิลเลจ” (Moken Eco Village) บนเกาะพระทอง อ.คุระบุรี ยังกล่าวด้วยว่า บ้านแต่ละหลัง ห้องพักแต่ละห้อง“ใช้วัสดุท้องถิ่นในการสร้างและตกแต่ง” ไม่ว่าจะเป็นไม้สน กระถินเทพา ที่ใช้ในการทำโครงสร้าง ส่วนการตกแต่งด้านในนั้นก็เลือกใช้สิ่งของที่มีในท้องถิ่น นอกจากนี้ภายในห้องพักแต่ละหลังนั้นแม้จะไม่มีโทรทัศน์ ไม่มีเครื่องปรับอากาศ แต่ก็ยังมีเครื่องใช้อื่นๆ ที่สะดวกสบาย สามารถเปิดหน้าต่างรับลมเย็นๆ ที่พัดผ่านเข้ามาในห้อง เหมาะสำหรับผู้ชื่นชอบบรรยากาศธรรมชาติ
และ 3.Green Energy “พลังงานสะอาด” จังหวัดพังงาตั้งเป้าหมาย “เปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานหมุนเวียน 100 เปอร์เซ็นต์” ในอนาคตอันใกล้ เริ่มต้นในภาคการเกษตรและการท่องเที่ยว ด้วยการทำโซลาร์เซลล์ (Solar Cell-พลังงานแสงอาทิตย์) จะมีความเป็นไปได้มาที่สุด โดย กฤษ ภูมิใจนำเสนอว่า Moken Eco Village เป็นตัวอย่างในการให้ความสำคัญกับการลดการใช้พลังงาน
และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
“ไฟฟ้าที่ใช้ในรีสอร์ทก็มาจากแผงโซลาร์เซลล์ที่อยู่ข้างบ้านแต่ละหลัง ปลั๊กไฟภายในห้องก็เป็นหัวปลั๊กแบบ USB ที่ใช้ไฟฟ้ากระแสตรง” กฤษ ยกตัวอย่าง
อนึ่ง...การขับเคลื่อนความเป็น “จังหวัดสีเขียว” ลักษณะนี้มิได้เกิดขึ้นเฉพาะจ.พังงา เท่านั้น แต่เชื่อมโยงกับอีก 8 จังหวัดภาคใต้ คือ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราชพัทลุง สงขลา กระบี่ ตรัง และสตูล เพื่อนำไปสู่เป้าหมายในท้ายที่สุดนั่นคือ เมืองแห่งความสุข!!!
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี