เป็นอีกเรื่องที่น่าตระหนกกับสังคมไทยกับ “ขยะนำเข้า” ที่มีการตรวจค้นโรงงานกำจัดขยะทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง หลังพบการนำเข้าเศษเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จำนวนมาก เมื่อปลายเดือนพ.ค. 2561โดยมีนายทุนเป็นชาวจีนฮ่องกง ที่ จ.ฉะเชิงเทรา จากนั้นในวันที่ 1 มิ.ย. 2561 มีรายงานจาก กรมโรงงานอุตสาหกรรม ว่าประเทศไทยนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์เฉลี่ย 53,000 ตันต่อปี เพื่อทำการแปรรูป
คำถามที่ตามมา “ทำไมผู้มีอำนาจของไทยถึงอนุญาตให้นำของเสียจากต่างแดนเข้ามาในประเทศ?” ซึ่งคำตอบก็คือ “แรงจูงใจและกดดันทางเศรษฐกิจ” เพราะไทยได้ไปลงนามเขตการค้าเสรี “เอฟทีเอ” (FTA) กับนานาชาติ โดยเฉพาะกับ “ประเทศที่ได้ชื่อว่าเจริญแล้ว” ทั้งหลาย ดังข้อมูลที่ มูลนิธิบูรณะนิเวศ เปิดเผยในงานแถลงข่าว “เปิดปูมกรณีการนำเข้าขยะพิษ” ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อเร็วๆ นี้ ยกตัวอย่างไว้บางประเทศ
เช่น ญี่ปุ่น ในความตกลงหุ้นเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (“JTEPA” Japan-Thailand Economic Partnership Agreement) พบข้อที่เกี่ยวข้องกับการอนุญาตให้นำของเสียจากแดนอาทิตย์อุทัยเข้าสู่แผ่นดินสยามประเทศไว้ในบทที่ 3 “กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า” ข้อ 28 ระบุสินค้าที่เข้าข่ายเป็นขยะไว้ดังนี้ ข้อ (I) “ของที่รวบรวมได้ในภาคีซึ่งไม่สามารถใช้ต่อไปได้ตามความมุ่งประสงค์เดิมของของนั้น หรือไม่สามารถทำให้คืนสภาพเดิมหรือซ่อมแซมได้” และเหมาะเฉพาะสำหรับการกำจัดหรือการนำกลับคืนมาซึ่งชิ้นส่วนหรือวัตถุดิบ
ข้อ (J) “ของที่ใช้ไม่ได้และเศษที่ได้จากการผลิตหรือผ่านกระบวนการหรือจากการบริโภคในภาคีนั้น” และเหมาะเฉพาะสำหรับการกำจัดหรือการนำกลับคืนมาซึ่งวัตถุดิบ และข้อ (K)“ชิ้นส่วนหรือวัตถุดิบที่ถูกนำกลับคืนมาในภาคีนั้น จากของที่ไม่สามารถใช้ต่อไปได้ตามความมุ่งประสงค์เดิมของของนั้น” หรือไม่สามารถทำให้คืนสู่สภาพเดิมหรือซ่อมแซมได้ ทั้งนี้ในส่วนของญี่ปุ่น ไทยรับขยะประเภท “เศษ เศษตัดและของที่ใช้ไม่ได้ ที่เป็นพลาสติก” (พิกัดศุลกากร 39.15) ถึง 1.5 แสนตันในปี 2560 เพิ่มจากปี 2559 ที่รับมา 6.9 หมื่นตัน
ขณะที่พี่ใหญ่ฝั่งเอเชียและเป็นมหาอำนาจเบอร์ 2 ของโลกอย่าง จีน จากในอดีตที่เคยถูกใช้แผ่นดินเป็นที่ทิ้งขยะของนานาชาติ เช่น ระหว่างปี 2555-2560 อังกฤษเคยส่งขยะพลาสติกไปจีนถึง 2.7 ล้านตัน เช่นเดียวกับขยะพลาสติกคัดแยกจากกลุ่มสหภาพยุโรป (EU) ถูกส่งไปจีนถึงร้อยละ85 รวมถึงสหรัฐอเมริกา ในปี 2559ก็ยังส่งขยะไปจีนโดยตีเป็นมูลค่าถึง 5.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1.7 แสนล้านบาท
กระทั่งเมื่อ 18 ก.ค. 2560 รัฐบาลแดนมังกรประกาศ “ไม่ยอมเป็นถังขยะของโลกอีกต่อไป” ออกกฎหมาย “ห้ามนำเข้าขยะ 4 ประเภท” คือ 1.ขยะพลาสติก 2.ตระกรันวาเนเดียม 3.ขยะกระดาษที่ไม่จัดประเภท และ 4.ขยะสิ่งทอบางชนิด โดยมีผลบังคับใช้ในเดือนธ.ค. ปีเดียวกัน ตามด้วยการไล่ตรวจสอบโรงงานกำจัดขยะทั่วประเทศและพบว่าจำนวนมากทำผิดกฎหมายผู้ประกอบการกำจัดขยะในจีนจึงมองมายังไทย เห็นว่าเป็นพื้นที่ใหม่ที่น่าลงทุน
รายงานของมูลนิธิบูรณะนิเวศ ยังอ้างถึง ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การยกเว้นอากรและลดอัตราอากรศุลกากรสำหรับเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน (“ACFTA” ASEAN-China Free Trade Agreement) ที่ระบุว่าสิ่งของประเภท “เศษและของที่ใช้ไม่ได้ ของเซลล์ปฐมภูมิ แบตเตอรี่ปฐมภูมิและหม้อสะสมไฟฟ้า เซลล์ปฐมภูมิที่ใช้แล้ว แบตเตอรี่ปฐมภูมิที่ใช้แล้ว และหม้อสะสมไฟฟ้าที่ใช้แล้ว รวมทั้งส่วนประกอบทางไฟฟ้าของเครื่องจักรหรือเครื่องอุปกรณ์ที่ไม่ได้ระบุ หรือรวมไว้ในที่อื่นในตอนนี้”(พิกัดศุลกากร 85.48) ได้รับการยกเว้นอากร
ออสเตรเลีย ก็เป็นอีกประเทศที่ไทยมีข้อตกลงการค้าเสรี (“TAFTA” Thailand-Australia Free Trade Agreement) และรัฐบาลไทยได้ออก ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การยกเว้นอากรและลดอัตราอากรศุลกากรสำหรับของที่มีถิ่นกำเนิดจากออสเตรเลีย กำหนดให้ขยะประเภทเศษ เศษตัดและของที่ใช้ไม่ได้ ที่เป็นพลาสติก (พิกัดศุลกากร 39.15) ได้รับการยกเว้นอากร ซึ่งข้อมูลของจีน ในปี 2560 มีการนำเข้าขยะสิ่งของในกลุ่มพิกัดศุลกากร 85.48 จำนวน 2.8 พันตัน และออสเตรเลีย ในปี 2558 ไทยนำเข้าขยะพลาสติกกลุ่มพิกัดศุลกากร 39.15 จำนวน 1.8 พันตัน
เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ เรียกร้องให้ภาครัฐของไทยแก้ไขปัญหาดังกล่าว “ระยะเร่งด่วน” ประกอบด้วย 1.ต้องยกเลิกคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 4/2559 เรื่อง การยกเว้นการใช้บังคับกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมสำหรับการประกอบกิจการบางประเภท เนื่องจากพบว่าในปี 2560 มีโรงงานกำจัดขยะประเภท 105 และ 106 เพิ่มสูงขึ้นกว่าปี 2559 อย่างมาก
โดยโรงงานประเภท 105 (โรงงานประกอบกิจการ คัดแยกและฝังกลบสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว)ในปี 2560 ตั้งใหม่จำนวน 88 โรง มากกว่าปี 2559 ที่ตั้งใหม่เพียง 18 โรงส่วนโรงงานประเภท 106 (โรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับการนำผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่ไมใช้แล้วหรือของเสียจากโรงงานมาผลิตเป็นวัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์ใหม่โดยผ่านกรรมวิธีการผลิตทางอุตสาหกรรม) ในปี 2560 ตั้งใหม่จำนวน 111โรง มากกว่าปี 2559 ที่ตั้งใหม่เพียง 31 โรง เพราะคำสั่งดังกล่าวทำให้ตั้งโรงงานได้ง่ายขึ้น
กับ 2.ออกประกาศห้ามนำเข้าขยะ 4 ประเภท เช่นเดียวกับที่รัฐบาลจีนทำ 3.ตรวจสอบความถูกต้องเหมาะสม ของการออกใบอนุญาตตั้งโรงงานกำจัดของเสียประเภท 105 และ 106 ทั่วประเทศ ส่วน“ระยะยาว” ประกอบด้วย 1.แก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายต่างๆ ที่ให้ยกเว้นการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย รวมยังแยกประเภทโรงงานออกจากกัน เช่น โรงงานประเภท 101 (โรงงานปรับคุณภาพของเสียรวม) ให้แยกกิจการเตาเผาขยะออกจากการบำบัดน้ำเสีย
โรงงานประเภท 105 แยกกิจการคัดแยกของเสียไม่อันตราย ฝังกลบของเสียไม่อันตราย และฝังกลบของเสียอันตรายออกจากกัน รวมถึงแยกกิจการขยะอิเล็กทรอนิกส์ออกไปต่างหาก และโรงงานประเภท 106 กิจการรีไซเคิลขยะอันตรายกับขยะทั่วไปต้องแยกออกจากกัน รวมถึงแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ออกไปต่างหาก นอกจากนี้ โรงงานทั้ง 3 ประเภท ต้องจัดทำรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และ/หรือสุขภาพ (EIA/EHIA) ตามหลักเกณฑ์ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
2.ยกเลิกร่าง พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. ...ที่กำลังร่างอยู่ โดยเสนอให้แยกอำนาจตรวจสอบมลพิษของโรงงานออกจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมและการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มาเป็นหน้าที่ของหน่วยงานในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่น กรมควบคุมมลพิษ อีกทั้งกำหนดโทษต่อผู้กระทำผิดตามความรุนแรงและความเสียหาย และ 3.ทบทวนเพื่อปรับปรุงแก้ไขความตกลงทางเศรษฐกิจ เพื่อห้ามนำเข้าขยะอันตราย
ซึ่งข้อสุดท้ายนี่เองที่ต้องบอกว่า “ยาก” เพราะแม้แต่ข้อตกลงสากลอย่าง อนุสัญญาบาเซิล (BaselConvention) ที่ด้านหนึ่งห้ามเคลื่อนย้ายขยะอันตรายออกนอกประเทศตนเอง แต่ก็ “ยกเว้น” หากเป็นความยินยอมของรัฐต้นทางและปลายทาง กลายเป็นช่องให้บรรดาชาติผู้เจริญแล้วหาทางย้ายของเสียส่งไปยังบรรดาประเทศกำลังพัฒนา ทั้งนี้ปัจจุบันในเวทีโลก กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาพยายามเรียกร้องให้แก้ไขอนุสัญญาโดยห้ามมีข้อยกเว้นให้รัฐบาลสามารถตกลงรับ-ส่งขยะกันได้อีกต่อไป แต่ก็ถูกคัดค้านขัดขวางจากประเทศพัฒนาแล้วอยู่เสมอ
หากเบื้องหลัง “ความสวยงามของโลกที่หนึ่ง” คือการ “ย้ายสิ่งไม่ดีไปไว้บนแผ่นดินอื่น” วันนี้คงต้องถามคนไทยว่า...รับได้ไหม?
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี