ชัยนาท เป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ลุ่มน้ำภาคกลางที่มีความอุดมสมบูรณ์ ทำให้ผู้คนที่นี่นิยมประกอบอาชีพเกษตรกรรม ข้อมูลจากบทความ “สภาพทางเศรษฐกิจการเกษตรจังหวัดชัยนาท”โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดชัยนาท ระบุว่า จังหวัดชัยนาทมีพื้นที่เกษตรกรรม 1,283,124 ไร คิดเป็นร้อยละ 78.91 ของพื้นที่ทั้งหมดในจังหวัด ในจำนวนนี้กว่าครึ่งเป็นนาข้าวส่วนที่เหลือมักจะเป็นการปลูกพืชไร่เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อย มันสำปะหลังฯลฯ อย่างไรก็ตาม ในบางพื้นที่ยังประสบปัญหาขาดแคลนน้ำสำหรับใช้ทำการเกษตร
อาทิ อำเภอหนองมะโมง เป็นอำเภอเล็กๆ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือสุดของ จ.ชัยนาท มีพื้นที่ปกครอง 4 ตำบล คือ ต.หนองมะโมง
ต.วังตะเคียน ต.สะพานหิน และ ต.บ้านกุดจอก มีประชากรรวมกันราว 19,000 คน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนาและพืชไร่ คนที่นี่เผชิญกับปัญหา “หน้าร้อนก็แล้งจัด หน้าฝนน้ำก็ท่วมหนัก” มายาวนาน ด้วยสภาพพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมต่อการเก็บกักน้ำไว้ใช้เช่นเดียวกับพื้นที่อื่นๆ ทำให้ต้องอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก
พลกฤต พวงวลัยสิน นายอำเภอหนองมะโมง เล่าว่า อ.หนองมะโมง ถูกขนานนามว่าเป็น “ดินแดนอีสานแห่งภาคกลาง” เพราะที่นี่ยามแล้งตามแหล่งน้ำก็ไม่มีน้ำเลยสักหยด แต่พอยามน้ำท่วมก็ท่วมสูงเสียจนจมมิด ด้วยความลาดชันของพื้นที่ทำให้เมื่อน้ำเหนือไหล่บ่าลงมาจาก จ.อุทัยธานี ทางวังตะเคียนมีความรุนแรงและไหลผ่านลงสู่ อ.วัดสิงห์ อย่างรวดเร็ว เพราะในพื้นที่ไม่มีแหล่งกักเก็บน้ำหรือแก้มลิง
จากปัญหา “แล้งๆ ท่วมๆ ซ้ำซาก” ทางจังหวัดชัยนาท ได้ร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ หาทางออกให้กับชาว อ.หนองมะโมง เกิดเป็น “แผนพัฒนาแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งอำเภอหนองมะโมงแบบบูรณาการ” ได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชนคือ สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนวังขนาย บริจาคที่ดิน 515 ไร่ เพื่อใช้สร้างแหล่งกักเก็บน้ำในพื้นที่ อ.หนองมะโมง ซึ่งทางเทศบาลตำบลหนองมะโมงได้ทำเรื่องขอสนับสนุนการก่อสร้างไปยังกระทรวงมหาดไทย และได้รับอนุมัติเมื่อ 7 ก.ค. 2558 โดยให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เป็นเจ้าภาพดำเนินการ
นอกจากการสร้างแหล่งกักเก็บน้ำจำนวน 400 ไร่แล้ว ยังมีการปรับปรุงระบบคลองส่งน้ำห้วยคต-วังหมัน เพื่อใช้เป็นแหล่งรองรับน้ำหลากในฤดูฝนลดปัญหาน้ำท่วมและกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง สามารถจุน้ำได้ถึง 3.19 ล้าน ลบ.ม. ตั้งแต่ปี 2558-ปัจจุบัน วันนี้ปัญหาน้ำแล้งและน้ำท่วมในพื้นที่ อ.หนองมะโมง เริ่มบรรเทาลง แต่ยังขาดการกระจายน้ำ ที่จะนำน้ำในแหล่งน้ำที่มีอยู่ออกไปให้ประชาชนได้ใช้อย่างเท่าเทียมและทั่วถึง
“ปัจจุบันสระเก็บน้ำ 400 ไร่สามารถกักเก็บน้ำได้แล้วกว่าร้อยละ80 ของความจุ มีชุมชนได้รับประโยชน์แล้ว 6 หมู่บ้านได้อุปโภคบริโภคมีน้ำประปาใช้ แต่ยังอีกหลายพื้นที่ที่น้ำยังไปไม่ถึง ซึ่งท้องถิ่นเองมีแนวคิดในการทำระบบสระพวงสำหรับรับน้ำที่ล้นจากสระใหญ่สู่สระขนาดกลางและสระขนาดเล็กต่างๆ เพื่อกระจายน้ำเข้าสู่พื้นที่เกษตรกรให้ได้มากขึ้นโดยเฉพาะพื้นที่ตอนล่าง และแนวคิดที่จะนำพื้นที่รอบสระ 400 ไร่ที่เหลือมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่เกษตรกร” พลกฤต กล่าว
แต่การทำระบบชลประทานที่ดีนั้นต้องอาศัยข้อมูลทางวิชาการเข้ามาประกอบ ทำให้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกับ สถานวิจัยเพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการด้านทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวรเข้ามาศึกษาเพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมโดย รศ.ดร.สมบัติ ชื่นชูกลิ่น ผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรน้ำ-ชลประทาน ในฐานะหัวหน้าโครงการพัฒนาระบบสารสนเทศสนับสนุนการวางแผนจัดทำงบประมาณด้านทรัยพากรน้ำและเกษตร สำหรับจังหวัดชัยนาท กล่าวว่า กลไกภาครัฐที่เป็นอยู่นั้นไม่ง่ายที่โครงการจะเกิดอย่างครบถ้วน
กล่าวคือ แม้ปัจจุบันการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัดร่วมกัน ระหว่างหน่วยงานในจังหวัดผ่านคณะกรรมการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัด และคณะกรรมการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ แต่การเสนอของบประมาณระดับท้องถิ่นยังจำเป็นต้องเชื่อมโยงกลับไปที่หน่วยงานต้นสังกัดตามรูปแบบของระบบเดิม ทำให้โครงการไม่สามารถเกิดได้ในคราวเดียวกันและขาดความต่อเนื่อง
ดังนั้นเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาจังหวัดให้เกิดประสิทธิภาพเชื่อมโยงข้อต่อที่ยังขาด และเพื่อให้เกิดแผนพัฒนาจังหวัดแบบบูรณาการที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ในระดับต่างๆ ในการดำเนินการจัดทำแผนงบประมาณระดับท้องถิ่นสำหรับใช้ดำเนินการแก้ไขเรื่องน้ำและการเกษตร
ในพื้นที่ อ.หนองมะโมง เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงจำเป็นต้องใช้ระบบสารสนเทศเชื่อมโยงการบริหารจัดการน้ำและการเกษตร
นอกจากนี้ยังได้จัดทำคู่มือการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัดด้านทรัพยากรน้ำและการเกษตรจังหวัดชัยนาท สำหรับเป็นแนวทางการทำงานขององค์กรขับเคลื่อนและการนำเสนอโครงการงบบูรณาการ, คู่มือการปลูกพืชไร่และสมุนไพรทดแทนข้าวบริเวณสระเก็บน้ำ 400 ไร่, คู่มือการบริหารจัดการน้ำระบบส่งน้ำคลองห้วยคต-วังหมันและสระเก็บน้ำหนองมะโมง, คู่มือที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำในระบบชลประทาน ให้กับท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปประยุกต์ใช้ต่อไป
ดร.สมบัติ สรุปบทเรียนเรื่องนี้ว่า “การแก้ปัญหาเรื่องน้ำและการเกษตรส่วนใหญ่มักมีเป้าหมายเดียวกัน เวลาแก้จึงต้องคิดว่าทำอย่างไรให้การแก้ปัญหาเดียวกันไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน” เชื่อมโยงยุทธศาสตร์รัฐ กระทรวง จังหวัด และพื้นที่ โดยนอกจากปัญหาข้อมูลกลางที่ไม่เพียงพอและขาดการเชื่อมโยงแล้ว “การทำโครงการใดๆ จะต้องรับฟังปัญหาและความต้องการจากระดับล่างขึ้นมา” จัดเรียงลำดับความสำคัญก่อนหลัง และ “การประชุมระดับท้องถิ่นจำเป็นอย่างยิ่งต้องใช้ฐานข้อมูลเดียวกัน” ไม่เช่นนั้นก็จะมีปัญหา
“เมื่อต้องการแก้ปัญหาเดียวกันก็ต้องแก้ไปทิศทางเดียวกัน ก็จะช่วยลดความซ้ำซ้อนในขั้นตอนของการจัดทำแผนงาน/โครงการลงได้ จึงต้องเริ่มจากการบูรณาการด้านข้อมูล ซึ่งปัจจุบันฐานข้อมูลน้ำและเกษตรของศูนย์ปฏิบัติการจังหวัดชัยนาทยังไม่สมบูรณ์เพียงพอแต่หากในระดับท้องถิ่นได้มีฐานข้อมูลใช้ในเบื้องต้น เช่น ข้อมูลเส้นทางน้ำ ศักยภาพน้ำบาดาล ชนิดดิน/การใช้ประโยชน์ในที่ดิน สมุนไพรหรือพืชที่ใช้น้ำน้อย ฯลฯ ก็จะสามารถนำไปใช้สนับสนุนการเขียนแผนฯ ซึ่งงานวิจัยได้เข้ามามีบทบาทช่วยเติมเต็มตรงนี้” ดร.สมบัติ กล่าว
เสียงสะท้อนจากหน่วยงานภาครัฐในท้องที่ เห็นว่าการสำรวจศึกษาข้อมูล วิเคราะห์ศักยภาพพื้นที่ และการนำเทคโนโลยีสารสนเทศโดยเฉพาะเรื่องฐานข้อมูลเข้ามาใช้ รวมถึงความพยายามของนักวิจัยในการชี้เป้าสำหรับการจัดทำแผนงานต่างๆ เพื่อให้ได้รับการพิจารณางบประมาณในการพัฒนาโครงการได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี และเป็นก้าวแรกที่ทำให้หน่วยงานระดับจังหวัดเห็นคุณค่าของการบูรณาการแผนข้อมูลต่างๆ
อันจะนำไปสู่การจัดทำแผนให้ประสบความสำเร็จในครั้งต่อไป!!!
หมายเหตุ : สกู๊ปหน้า 17(ยุทธศาสตร์ชุมชน “กาฬสินธุ์” เป้าหมาย“ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”) เมื่อ 23 ก.ค. 2561 ขอแก้ไขชื่อหน่วยงานที่พาคณะสื่อมวลชนไปดูงาน จาก “กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น” เป็น “กรมการปกครอง”
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี