"เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง" เป็นหนึ่งในผืนป่ามรดกโลกที่คนไทยภาคภูมิใจเพราะนี่คือรางวัลอันยิ่งใหญ่จากธรรมชาติที่มอบให้ทุกชีวิตได้อย่างเท่าเทียม ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของสภาพป่าที่เต็มไปด้วยความหลากหลายทางธรรมชาติ โดยประกอบด้วยป่าถึง 5 ใน 7 ชนิดที่พบในเขตร้อนชื้น ได้แก่ ป่าดิบแล้ง ป่าดิบเขา ป่าทุ่งหญ้า ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ก่อให้เกิดความหลากหลายของพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ต่างๆ บางชนิดเป็นสัตว์ที่หายากใกล้จะสูญพันธุ์ เช่น ควายป่า เลียงผา เสือดาว หมาใน ไก่ป่า นกยูงไทย และยังมีแมลงต่างๆ อีกมากมาย
"เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง" หรือ "เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง" เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในประเทศไทย ตั้งอยู่ในจังหวัดอุทัยธานี และมีพื้นที่ติดต่อกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรในพื้นที่จังหวัดตาก และจังหวัดกาญจนบุรี ที่อยู่ทางทิศตะวันตก ถือเป็นหนึ่งในหัวใจหลักของผืนป่าตะวันตกของประเทศไทย และเป็นผืนป่าที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ โดยองค์การยูเนสโกเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2534 มีลักษณะเป็นผืนป่าที่มีความยาวจากเหนือจรดใต้วัดเป็นเส้นทางตรงมากกว่า 100 กิโลเมตร มีพื้นที่กว่า 1,737,587 ไร่ แต่ได้ผนวกรวมเพิ่มขึ้นอีก 2 ครั้ง จนขยายเป็นประมาณ 1,800,000 ไร่ หรือ 2,880 ตารางกิโลเมตร ในปัจจุบัน ทางเหนือติดกับอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผางรวมถึงเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ในจังหวัดตากและกาญจนบุรี และทิศใต้ติดกับอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ จังหวัดกาญจนบุรี รวมถึงอุทยานแห่งชาติพุเตย จังหวัดสุพรรณบุรี มีเพียงพื้นที่ด้านทิศตะวันออกเท่านั้นที่อยู่ติดกับชุมชน 3 อำเภอ คือ อำเภอบ้านไร่, อำเภอลานสัก และอำเภอห้วยคต จังหวัดอุทัยธานี
เดิมทีห้วยขาแข้งเป็นผืนป่าที่ได้รับสัมปทานให้ตัดไม้ แต่กลับไม่เคยถูกบุกรุก จนกระทั่งในปี 2508 จึงเริ่มมีการสำรวจทางวิชาการอย่างจริงจังและได้รับการประกาศให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเมื่อปี 2515 เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าลำดับที่ 5 ของไทย ลักษณะภูมิประเทศมีทั้งเทือกเขาและที่ราบ โดยเป็นแนวเขาของเทือกเขาถนนธงชัยและตอนเหนือของเทือกเขาตะนาวศรี มีความหลากหลายทั้งภูมิประเทศ, ภูมิอากาศ และความชื้น อันเป็นที่มาของความหลากหลายทางชีวภาพ จนกล่าวได้ว่าที่นี่มีป่าเกือบทุกประเภท ยกเว้นป่าชายเลนและป่าชายหาด หรือป่าพรุน้ำจืด เท่านั้น
โดยเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งถือเป็นพื้นที่เงาฝน เนื่องจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรที่อยู่ทิศตะวันตกเป็นพื้นที่ๆ สูงกว่าระดับน้ำทะเล ดังนั้นเมื่อฝนมาปะทะที่ด้านทิศตะวันตกรวมถึงตะวันตกเฉียงใต้ก็จะตกที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรโดยข้ามเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งไป จึงทำให้ป่าที่นี่ส่วนใหญ่ไม่ใช่ป่าดิบ แต่เป็นป่าเบญจพรรณ โดยเฉพาะป่าไผ่
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ยังเป็นต้นน้ำของแหล่งน้ำสำคัญ 3 สาย คือ ลำน้ำทับเสลา ซึ่งไหลลงสู่อ่างเก็บน้ำทับเสลา และไหลลงสู่แม่น้ำสะแกกรังจนกระทั่งลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา, ลำน้ำห้วยขาแข้งไหลลงสู่เขื่อนศรีนครินทร์ และลำน้ำแม่กลอง–อุ้มผาง ที่ไหลจากจังหวัดกาญจนบุรีและตาก ซึ่งเป็นแหล่งสำคัญในการผลิตไฟฟ้ารวมถึงน้ำประปาในภาคตะวันตกและกรุงเทพมหานคร
ความหลากหลายทางชีวภาพของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยสำคัญของสัตว์ป่าหายากหลายชนิด บางชนิดอยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์ เช่น สมเสร็จ, เก้งหม้อ, เลียงผา, กระทิง, วัวแดง, ควายป่า ซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่ทางธรรมชาติแห่งสุดท้ายแล้วในประเทศไทย อีกทั้งยังเป็นแหล่งอาศัยของเสือโคร่ง ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และได้แพร่ขยายไปยังพื้นที่ป่าใกล้เคียงกันด้วย
จากการศึกษาพบว่ามีประมาณ 70–80 ตัว จากปริมาณทั้งหมดที่มีในธรรมชาติในประเทศไทย 250–300 ตัว โดยเฉพาะที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งนี้จะมีสัตว์ป่าที่เป็นจุดสนใจของนักท่องเที่ยวที่นิยมการเที่ยวแบบผจญภัยหรือนักถ่ายภาพธรรมชาติอยู่ทั้งสิ้น 7 ชนิด เรียกกันว่า "ผู้ยิ่งใหญ่ทั้ง 7" ได้แก่ ช้าง, เสือโคร่ง, เสือดาว, ควายป่า, วัวแดง, กระทิง และ สมเสร็จ
อย่างไรก็ตาม "เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง" ไม่ใช่แหล่งท่องเที่ยวทั่วไปที่เปิดให้เข้าชม เนื่องจากจัดเป็นเขตอนุรักษ์ที่มีความเปราะบาง การเปิดต้อนรับนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามามากมายอาจส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในพื้นที่ได้ ดังนั้น จึงมีการกำหนดจุดผ่อนปรนให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าไปศึกษาและชมธรรมชาติได้ทั้งหมด 3 จุดได้แก่
1.บริเวณสำนักงานเขตรักษาพันธุ์ฯ อำเภอลานสัก ซึ่งมีกิจกรรมเดินป่าตามรอยเส้นทางของเสือ แวะคารวะอนุสรณสถาน "สืบ นาคะเสถียร" ผู้ยอมสละชีพเพื่อรักษาผืนป่าแห่งนี้เอาไว้ จนกลายเป็นตำนานแห่งห้วยขาแข้ง โดยอนุสรณสถานแห่งนี้เป็นรูปปั้นของสืบ นาคะเสถียร ที่หันหน้าไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ เพื่อดูความเป็นไปของผืนป่าตะวันตก และมีบันได 8 ขั้น เพื่อสื่อความหมายว่าเขาได้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯนาน 8 เดือน ก่อนตัดสินใจจบชีวิตตัวเองในบ้านพักส่วนตัว
2.บริเวณหน่วยพิทักษ์ป่าไซเบอร์ อำเภอห้วยคต โดยมีกิจกรรมตั้งแคมป์ริมน้ำตกไซเบอร์
3.บริเวณหน่วยพิทักษ์ป่าห้วยแม่ดี อำเภอบ้านไร่ โดยมีกิจกรรมตั้งแคมป์ตามโครงการห้องรับรองแขกห้วยขาแข้ง และมีเส้นทางศึกษาธรรมชาติไว้รองรับ
การเดินทาง สามารถเดินทางสู่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งได้ 2 เส้นทาง ได้แก่ 1.เส้นทางเข้าสู่ที่ทำการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง อยู่ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 90 กิโลเมตร โดยไปตามทางสายอุทัยธานี-หนองฉาง-ลานสัก ทางหลวงหมายเลข 3438 ถึงหลักกิโลเมตรที่ 53-54 เลี้ยวซ้ายเข้าไปประมาณ 15 กิโลเมตร จะถึงที่ทำการเขตด่านตรวจเขาหินแดงซึ่งตั้งอยู่ริมห้วยทับเสลา และจากที่ทำการเขตฯ สามารถเดินทางด้วยรถยนต์ต่อไปยังสถานีวิจัยเขานางรำ ระยะทาง 17 กิโลเมตร และหน่วยพิทักษ์ป่ากะปุกกะเปียง ระยะทาง 14 กิโลเมตร
2.เส้นทางเข้าสู่หน่วยพิทักษ์ป่าเขาบันได อยู่ทางทิศใต้ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ห่างจากตัวจังหวัดอุทัยธานีประมาณ 110 กิโลเมตร ไปตามทางสายอุทัยธานี-หนองฉาง-บ้านไร่ ระยะทางประมาณ 80 กิโลเมตร แล้วแยกเข้าทางลูกรังผ่านบ้านใหม่คลองอังวะอีกประมาณ 30 กิโลเมตร ถึงด่านตรวจคลองระยาง ไปยังหน่วยพิทักษ์ป่าห้วยแม่ดี และหน่วยพิทักษ์ป่าเขาบันได
ส่วนสถานที่พักและสิ่งอำนวยความสะดวก เนื่องจากไม่ใช่สถานที่ท่องเที่ยวทั่วไป ดังนั้น การเดินทางไปศึกษาธรรมชาติในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จึงต้องติดต่อขออนุญาตเสียก่อน สำหรับคนที่ต้องการเข้าไปศึกษาอย่างจริงจัง สามารถยื่นเรื่องได้ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ตู้ ปณ. 4 อำเภอลานสัก จังหวัดอุทัยธานี 61160 โดยต้องติดต่อยื่นรายละเอียดล่วงหน้าอย่างน้อย 30 วัน
สำหรับจุดที่อนุญาตให้พักแรมได้มีอยู่ 3 จุด จุดแรกคือบริเวณสำนักงานเขตฯ มีบ้านพักรองรับได้ 10-30 คน จำนวน 3 หลัง รวมทั้งอาคารฝึกอบรมรองรับได้ 80 คน จุดที่สองคือหน่วยพิทักษ์ป่าไซเบอร์ และจุดที่สามคือหน่วยพิทักษ์ป่าห้วยแม่ดี ทั้งจุดที่สองและจุดที่สาม มีบริการเต็นท์ให้เช่า หรือนักท่องเที่ยวสามารถนำเต็นท์มาเองได้
ภาพและข้อมูลจาก เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี