คนส่วนใหญ่เวลาทำบุญมักจะอธิษฐานว่า ขอให้รวย ขอให้สุขภาพแข็งแรง ขอให้ได้เลื่อนตำแหน่ง ฯลฯ แต่ที่จริงแล้วมีคำอธิษฐานที่ง่าย สั้น ครบวงจร และเป็นประโยชน์ครบถ้วนกว่ามาก
"หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ" เคยสอนเรื่องนี้ไว้ว่า เวลาทำบุญให้อธิษฐานสั้น ๆ ไปเลยว่า…"ขอให้พบแต่ความดี…ไม่มีความทุกข์" นิพพานะ ปัจจโย โหตุ เพราะคำว่า "ความดี" นั้นรวมครบหมด ทั้งรวย สุขภาพดี มียศตำแหน่ง มีคนรักและเมตตา ฯลฯ ส่วน "ความทุกข์" นั้นก็หมายถึงตัดสิ่งไม่ดีออกหมดทุกอย่าง ไม่มีทุกข์ ไม่มีโรคภัย ไม่มีอุปสรรค ไม่มีศัตรู ฯลฯ
ที่สำคัญคือ การพบแต่ความดีนั้นสำคัญมาก ดังนั้น เวลาทำบุญครั้งใด อธิษฐานง่าย ๆ ก็ได้เช่นกันว่า "ขอให้พบแต่ความดี…ไม่มีความทุกข์"! นิพพานะ ปัจจโย โหตุ เพราะถึงแม้เราจะขอพรจนร่ำรวยได้จริง แต่ถ้าไม่มีความดี เงินนั้นเราอาจเอาไปเล่นพนัน ไปซื้อยาบ้า สุดท้ายก็พาไปนรก
แม้จะมียศตำแหน่ง แต่ถ้าปราศจากความดีก็อาจเอาตำแหน่งนี้ไปข่มเหงรังแกคนอื่น คดโกงประเทศชาติ ก็มีนรกเป็นที่ไป หรือแม้จะมีแต่คนรัก คนเมตตา แต่ถ้าหากเราไม่ดี เราก็อาจกลายเป็นคนเจ้าชู้ หลอกคนนี้ให้รัก คนนั้นให้หลง สุดท้ายก็ทะเลาะตบตีกันและไปนรกกันทั้งหมู่
"การขอให้พบความดี" จึงถือเป็นพรอันสำคัญที่สุด เพราะผู้ที่จะทำความดีต้องมีปัญญาพอที่จะรู้ว่าความดีมีประโยชน์เช่นใด ดังนั้น เมื่อมีปัญญา แม้จะเกิดมาจนก็ใช้ปัญญาหาเงินจนรวยได้ แม้จะเกิดมาต่ำต้อยก็ใช้ปัญญาทำงานหายศตำแหน่งมาได้ไม่ยาก หรือแม้จะเกิดมาไม่มีใครรัก แต่หากมีปัญญารู้จักพูดจา ใครๆ ก็จะหันมารัก
ที่สำคัญคือ เมื่อมีปัญญาก็รู้ว่า ความชั่วไม่มีประโยชน์และไม่ควรทำ ความดีมีแต่ประโยชน์และควรทำ ดังนั้น จึงเป็นผู้มีความสุขทั้งโลกนี้และโลกหน้า มีแต่สุคติเป็นที่ไป ใครอยู่ใกล้ก็มีความสุข
ส่วนคำว่า "นิพพานะ ปัจจโย โหตุ" ที่โบราณาจารย์ท่านให้อธิษฐานแบบนี้ก็แปลว่า "จงเป็นพลวปัจจัยแก่การเข้าถึงนิพพาน" เพราะชีวิตในสังสารวัฏ อันยาวไกลนี้มันแสนอันตราย ด้วยอวิชาที่ครอบงำสรรพสัตว์ทั้งหลาย ทำให้ชีวิตหลงผิดไปทำผิดพลาด จึงต้องมีคำอธิฐานนี้กำกับไว้เสมอเพื่อที่จะทำให้เราผลทุกข์อย่างแท้จริง
*เปิด "ประวัติหลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ"
หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ เกิดในตระกูลหนูศรี เมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2447 ตรงกับวันศุกร์ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีมะโรง (ตรงกับวันวิสาขบูชา) โดยเป็นบุตรของนายพุดกับนางพุ่ม หนูศรี มีพี่สาวร่วมบิดามารดา 2 คน ท่านเป็นคนที่ 3 เป็นบุตรคนสุดท้อง
หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ บรรพชาอุปสมบท ณ วัดสะแก ตำบลธนู อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมีหลวงปู่กลั่น เจ้าอาวาสวัดพระญาติการาม เป็นพระอุปัชฌาย์ หลวงปู่แด เจ้าอาวาสวัดสะแก เป็นพระกรรมวาจาจารย์ หลวงปู่ฉาย วัดกลางคลองสระบัว เป็นพระอนุสาวนาจารย์ เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2468 ตรงกับวันอาทิตย์ แรม 4 ค่ำ เดือน 6 ได้รับฉายาว่า “พรหมปัญโญ”
ด้วยความที่ท่านเป็นผู้มีความใฝ่รู้จึงมีความเพียรที่ศึกษาทั้งด้านปริยัติและปฏิบัติ จากพระคณาจารย์ผู้ทรงภูมิรู้ภูมิธรรมในยุคนั้นหลายท่าน อาทิ หลวงพ่อกลั่น หลวงพ่อเภา ท่านเจ้าคุณเนื่อง พระครูชม หลวงพ่อรอด (เสือ) และอีกหลายๆท่านตามจังหวัดต่างๆ
หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ มีวิธีการเมตตาในสอนศิษย์ทั้งหลาย โดยอุบายธรรมสั้น ๆ ง่าย ๆ แต่มีความหมายลึกซึ้งในตัว โดยเล่าจากเหตุการณ์ที่ท่านพบเห็นมากับตัวของท่านเองหรือได้มาจากการปฏิบัติธรรมอันยาวนานตลอดชีวิตท่านและบางครั้งก็กล่าวถึงพุทธประวัติ ธรรมบทหรือชาดกต่าง ๆ ตามแต่ท่านจะเห็นควร ในเวลาหรือโอกาสต่าง ๆ ที่จะนำมาสอนศิษย์เพราะลูกศิษย์แต่ละคนนั้นมีภูมิธรรมไม่เท่ากัน คนที่เข้าวัดใหม่ ๆ ท่านก็จะสอนแบบเข้าใจง่าย ๆ แต่ลึกซึ้งและกินใจจน เสมือนหนึ่งว่าท่านสามารถรู้ถึงก้นบึ้งของความคิดของบรรดาลูกศิษย์ลูกหา
สุขภาพของหลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ เริ่มทรุดโทรมนับตั้งแต่ พ.ศ. 2527 เป็นต้นมา เนื่องการพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ สาเหตุจากการที่บรรดาศิษย์ทั่วทุกสารทิศ ที่หลั่งไหลกันมานมัสการท่านมากขึ้นทุกวันหลายคราหลายครั้งจะสุขภาพจะทรุดหนักมาก ท่านก็อุตส่าห์ออกโปรดญาติโยมเป็นปกติ พระที่อุปัฏฐากท่าน เล่าว่า บางครั้งถึงขนาดที่ท่านต้องพยุงตัวเองขึ้นด้วยอาการสั่น และมีน้ำตาคลอเบ้า ท่านก็ไม่เคยปริปากให้ใครต้องเป็นกังวลเลย แม้ว่าทางคณะแพทย์ ได้กราบขอร้องหลูวงปู่ให้เข้าพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล แต่หลวงปู่ก็ปฏิเสธ ภายหลังตรวจพบว่า หลวงปู่ อาพาธด้วยโรคลิ้นหัวใจรั่ว
จนกระทั่งปลายปี พ.ศ. 2532 หลวงปู่เริ่มพูดบ่อยครั้งกับบรรดลูกศิษย์ เกี่ยวกับการละสังขารของท่าน จนเมื่อวันอังคารที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2532 ช่วงเวลาบ่ายนั้น มีนายทหารอากาศผู้หนึ่งมากราบท่านเป็นครั้งแรก หลวงปู่ท่านได้ลุกขึ้นนั่งตอนรับ ด้วยใบหน้าที่สดใส ราศีเปล่งปลั่งเป็นพิเศษ จนบรรดาศิษย์ เห็นผิดสังเกต หลวงปู่ยินดีที่ได้พบกับศิษย์ผู้นี้ ท่านว่า “ต่อไปนี้ ข้าจะได้หายเจ็บไข้เสียที” คืนนั้นมีคณะศิษย์มากราบท่าน ท่านได้พูดว่า “ไม่มีส่วนใดในร่างกายที่ไม่เจ็บปวดเลย ถ้าเป็นคนอื่นคงเข้าห้อง ICU ไปนานแล้ว” พร้อมทั้งพูดหนักแน่นว่า “ข้าจะไปแล้วนะ” และกล่าวปัจฉิมโอวาทย้ำให้ทุกคนตั้งอยู่ในความไม่ประมาท “ถึงอย่างไรก็ขอให้อย่าได้ละทิ้งการปฏิบัติ ได้ชื่อว่าเป็นนักปฏิบัติ ก็เหมือนนักมวย ขึ้นเวทีแล้วต้องชก อย่ามัวแต่ตั้งท่า เงอะๆ งะๆ”
คืนนั้นหลวงปู่ก็กลับเข้ากุฏิ และละสังขารไปด้วยอาการสงบในกุฏิท่าน เมื่อเวลาประมาณ 5 นาฬิกา ของวันพุธที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2533 รวมสิริอายุได้ 85 ปี 8 เดือน 65 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่พระราชทานเพลิงศพองค์หลวงปู่ดู่ เมื่อวันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2535
*คำอธิษฐานแห่งองค์หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ
ผู้ใดที่เคยสร้างบุญสร้างกุศลมากับข้า เคยเป็นศิษย์เป็นอาจารย์เป็นลูกเป็นหลาน สร้างบุญกุศลมากับข้ามา แม้ในชาตินี้ไม่ได้พบสังขารธรรมของข้า แต่พอพบเห็นหลักธรรมคำสั่งสอนของข้า แล้วเกิดศรัทธา คนผู้นั้นแหละเคยสร้างบุญสร้างกุศลมากับข้า เคยเป็นศิษย์เป็นอาจารย์เป็นลูกเป็นหลานของข้า ขอให้ตั้งใจปฏิบัติธรรมะภาวนาไตรสรณคมณ์ "พุทธัง สรณัง คัจฉามิ, ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ, สังฆัง สรณัง คัจฉามิ" เวลาเหลืออีกไม่มากแล้ว รีบพากันปฏิบัติเพื่อจะได้ไว้เป็นที่พึ่งในภายหน้า ข้าจะคอยช่วยศรัทธาข้าจริงนับถือข้าจริง แกคิดถึงข้า ข้าก็คิดถึงแก แกไม่คิดถึงข้า ข้าก็คิดถึงแก ข้าอยู่ใกล้ ๆ แกจำไว้
คัดลอกจาก : board.palungjit.org
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี