จังหวัดอ่างทอง เป็นเมืองที่มีวัดวาอารามเก่าแก่โบราณสวยงามมากมาย สุดยอดความเป็นที่สุดในด้านความศักดิ์สิทธิ์กว่า 200 วัด ตั้งอยู่บริเวณภาคกลางตอนล่าง ห่างจากกรุงเทพฯ 100 กิโลเมตร ถ้าคุณจะไปเที่ยวทำบุญไหว้พระขอพรเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตและครอบครัว เนื่องในโอกาสใดโอกาสหนึ่งก็สามารถเดินทางไปได้ตลอดเวลา สำหรับวัดจากจำนวนกว่า 200 วัดมีวัดที่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่นิยมไปมี 9 วัด คือ
1."วัดขุนอินทประมูล" อำเภอโพธิ์ทอง เป็นพุทธมณฑลจังหวัดอ่างทอง ที่ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ เก่าแก่ที่มีอายุกว่า 400 ปี เป็นวัดโบราณเก่าแก่ที่สร้างขึ้นในสมัยกรุงสุโขทัย สันนิษฐานได้จากซากอิฐแนวเขตเดิม จึงคะเนว่าเป็นวัดขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในอดีต และเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์องค์ใหญ่ที่มีชื่อว่า "พระศรีเมืองทอง" มีความยาววัดจากปลายพระเมาลีถึงปลายพระบาทได้ 50 เมตร (25 วา) เดิมประดิษฐานอยู่ในวิหาร แต่ถูกไฟไหม้ปรักหักพังไป เมื่อคราวเสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ 1 เหลือแต่องค์พระตากแดดตากฝน อยู่กลางแจ้งมานานนับเป็นร้อย ๆ ปี องค์พระพุทธรูปมีลักษณะและขนาดใกล้เคียงกับพระนอนจักรสีห์ จังหวัดสิงห์บุรี สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยเดียวกัน องค์พระนอนมีพุทธลักษณะที่งดงาม พระพักตร์ยิ้มละไม สงบเยือกเย็นน่าเลื่อมใสศรัทธา
ภายในวัดมีซากโบราณสถานวิหารหลวงพ่อขาว ซึ่งปัจจุบันเหลือเพียงแค่ฐาน ผนังบางส่วนและองค์พระพุทธรูป ส่วนศาลาเอนกประสงค์ มีศาลรูปปั้นขุนอินทประมูลและโครงกระดูกมนุษย์ ขุดพบในเขตวิหารพระพุทธไสยาสน์เมื่อปี พ.ศ. 2541 ลักษณะนอนคว่ำหน้า มือและเท้ามัดไพล่อยู่ด้านหลัง เชื่อกันว่าเป็นโครงกระดูกขุนอินทประมูลบ้างก็ว่าไม่ใช่ สันนิษฐานกันตามประวัติที่ได้เล่ากันว่า เป็นนายอากรผู้สร้างพระพุทธไสยาสน์ โดยยักยอกเอาเงินของหลวงมาสร้างเพื่อเป็นปูชนียสถาน ครั้นพระมหากษัตริย์ทรงทราบรับสั่งถามว่าเอาเงินที่ไหนมาสร้าง ขุนอินทประมูลไม่ยอมบอกความจริงเพราะกลัวส่วนกุศลจะตกไปถึงองค์พระมหากษัตริย์จึงถูกเฆี่ยนจนตาย และกลายเป็นที่มาของชื่อ "วัดขุนอินทประมูล"
2."วัดไชโยวรวิหาร" เป็นวัดพระอารามหลวงชั้นโท ตำบลไชโย อำเภอไชโย เดิมเป็นวัดราษฎร์เก่าแก่ มีนามว่า วัดไชโย ครั้นเมื่อสมเด็จพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) เจ้าอาวาสวัดระฆังโฆษิตารามได้เลือกวัดนี้เป็นที่สร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่ ตั้งอยู่กลางแจ้ง กล่าวว่าการก่อสร้างพระพุทธรูปนี้ใช้เวลานานเกือบ 3 ปี ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 จึงเสร็จ แล้วสมเด็จพุฒาจารย์ได้ถวายวัดไชโยเป็นวัดหลวง ได้รับพระราชทานนามว่า "วัดเกษไชโย"
ใน พ.ศ.2430 มีการปฏิสังขรณ์วัดเกษไชโยทั้งพระอาราม ทำให้พระพุทธรูปได้รับแรงกระเทือนจากการก่อสร้างพระวิหารก็พังทลายลง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระพุทธรูปขึ้นใหม่ทดแทนโดยโปรดเกล้าฯให้พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐ์วรการเป็นแม่กองช่าง โดยรื้อองค์พระเดิมออกหมด วางรากฐานก่อสร้างใหม่ใช้โครงเหล็กรัดอิฐปูนไว้ภายในลดขนาดจากองค์เดิมลงพระพุทธรูปองค์นี้ได้รับพระราชทานนาม "พระมหาพุทธพิมพ์" ขนาดหน้าตักกว้าง 8 วา 6 นิ้ว สูง 11 วา ศอก 7 นิ้ว และโปรดเกล้าฯให้ยกฐานะวัดไชโยให้เป็นพระอารามหลวง นอกจากนี้ยังมีการก่อ พระวิหาร สร้างพระอุโบสถเป็นมุขลดยื่นออกมาทางด้านหน้า มีศาลาราย กำแพงแก้ว ศาลาการเปรียญ กุฏิสงฆ์ หอสวดมนต์ หอระฆัง ศาลารายกลางวัด ศาลาท่าน้ำ รวมเวลาการปฏิสังขรณ์นานถึง 8 ปี
พระวิหาร มีความสูงใหญ่มากแห่งหนึ่ง รูปทรงแปลกตา ด้านนอกมีรูปทวารบาลลายรดน้ำ เป็นรูปเสี้ยวกวาง เสาหารด้านหน้า-หลังพระวิหารมีขนาดใหญ่โตมาก ส่วนภายในพระอุโบสถ พระประธานเป็นพระพุทธรูปปั้นปางสมาธิ ผนังทุกด้านมีภาพจิตรกรรมฝีมือช่างสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นเรื่องพุทธประวัติ ภาพเหล่าทวยเทพที่วิจิตรงดงาม ยังอยู่ในสภาพที่ดี บานประตูแกะสลักอย่างประณีต
สิงที่น่าสนใจในวัดนี้ ได้แก่ พระมหาพุทธพิมพ์ หรือที่เรียกว่า หลวงพ่อโต เป็นฝีพระหัตถ์ของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐ์วรการ เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ มีพุทธลักษณะที่โดดเด่นกว่ายุคสมัยที่ไม่ยึดแนวอุดมคติตายตัว พระพักตร์และพระกรรณจึงเหมือนคนธรรมดามากกว่า มีริ้วรอยย่นของ สบง จีวร ชัดเจน นอกจากจะเป็นวัดสำคัญของอำเภอไชโยแล้ว ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้ประชาชนรู้จักวัดนี้เป็นอย่างดี ได้แก่ "พระสมเด็จเกษไชโย" พระเครื่องที่สร้างโดยสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ซึ่งเปี่ยมไปด้วยพุทธคุณนานัปการ
3."วัดม่วง" ที่ประดิษฐาน "พระพุทธมหานวมินทรศากยมุนีศรีวิเศษชัยชาญ" หรือ "หลวงพ่อใหญ่" ตั้งอยู่ที่ตำบลหัวตะพาน อำเภอวิเศษชัยชาญ หากได้มาเที่ยวที่จังหวัดอ่างทองแล้วไม่ได้แวะเวียนไปที่อำเภอวิเศษชัยชาญ เพื่อสักการะ "หลวงพ่อใหญ่"แล้วอาจพูดได้ไม่เต็มปากว่าได้มาเยือนอ่างทอง เพราะที่แห่งนี้จัดได้ว่าเป็นแลนด์มากร์กที่สำคัญของจังหวัดเลยทีเดียว ดังนั้น วัตถุประสงค์หลักของเราในการออกเดินทางมายังจังหวัดอ่างทองในครั้งนี้ก็คือการมาเห็นพระพุทธรูปที่ใหญ่ที่สุดในโลก ณ วัดม่วงนั่นเอง
สำหรับความเป็นมาของวัดม่วง สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นตั้งแต่ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ซึ่งในสมัยนั้นเมืองวิเศษชัยชาญเคยเป็นเมืองหน้าด่านที่มีความเจริญรุ่งเรืองมาก หลังจากที่กรุงศรีอยุธยาเสียกรุงวัดวาอาราม และพระพุทธรูปจำนวนมาก็ถูกเผาจนเหลือแต่ซากปรักหักพัง ซึ่งวัดม่วงก็ถูกปล่อยให้รกร้างแต่นั้นมา
จนเมื่อปี พ.ศ.2525 หลวงพ่อเกษม อาจารสุโภ ได้ธุดงค์มาปักกรดบริเวณนี้ ตามนิมิตที่นิมนต์ให้ท่านมาบูรณะวัดม่วงขึ้นมาใหม่อีกครั้ง และในปี พ.ศ.2534 หลวงพ่อเกษมฯ ได้วางศิลาฤกษ์เพื่อก่อสร้างพระพุทธรูปปางมารวิชัย ที่มีหน้าตักกว้าง 63 เมตร สูง 95 เมตร โดยให้พระนามอย่างเป็นทางการว่า "พระพุทธมหานวมินทรศากยมุนีศรีวิเศษชัยชาญ" แต่เช้าบ้างมักเรียกกันติดปากว่า "หลวงพ่อใหญ่" มากกว่า ซึ่งก่อนที่หลวงพ่อเกษม จะมรณะภาพลง ท่านได้สั่งเสียศิษยานุศิษย์ให้ดำเนินการสร้างให้แล้วเสร็จ เพื่อเป็นพระมหากุศลแด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งการก่อสร้างได้สำเร็จลุล่วงในปี พ.ศ.2550 รวมเวลาในการสร้างทั้งหมด 16 ปี ด้วยงบประมาณทั้งสิ้น 131 ล้านบาทจากเงินบริจาคด้วยจิตศรัทธาของพุทธศาสนิกชนทั้งสิ้น
มีความเชื่อว่า ถ้าได้มาสักการะขอพรและใช้มือตนเองสัมผัสที่ปลายนิ้วของหลวงพ่อ และอธิษฐานจะสมหวังในทุกๆ ด้าน
4."วัดต้นสน" ตั้งอยู่ที่ตำบลบางแก้ว ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก อยู่ในเขตเทศบาลเมืองอ่างทอง ตรงข้ามกับวิทยาลัยเทคนิคอ่างทอง สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ประมาณปี พ.ศ.2310 แต่ไม่มีการจดบันทึกประวัติเป็นหลักฐานแน่ชัด จึงเล่าสืบต่อกันมาว่า วัดชำรุดทรุดโทรมมากเกือบจะกลายเป็นวัดร้าง ต่อมาในปี พ.ศ.2488 พระราชสุวรรณโมลี อดีตเจ้าคณะจังหวัดอ่างทอง ได้บูรณะก่อสร้างเสนาสนะต่าง ๆ ขึ้นและขยายอาณาเขตให้กว้างขวาง
พระราชสุวรรณโมลี ได้เริ่มสร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่นามว่า "สมเด็จพระพุทธนวโลกุตร ธัมมบดีศรีเมืองทอง" หรือ "สมเด็จพระศรีเมืองทอง" พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่พุทธศาสนิกชนอ่างทองและใกล้เคียงเคารพนับถือมาก มีพุทธศิลป์สวยงามเป็นที่ประทับใจแก่ผู้พบเห็นเป็นอย่างยิ่ง หล่อด้วยทองเหลืองหน้าตักกว้าง 6 วา 3 ศอก 9 นิ้ว สูง 9 วา 2 ศอก 19 นิ้ว ปิดทองคำแท้ทั้งองค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จแทนพระองค์ในการประกอบพิธีสวมพระเกตุสมเด็จพระศรีเมืองทอง เมื่อวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ.2528
นอกจากนี้ ยังมีโบสถ์ศิลปะอยุธยา ประดิษฐานหลวงพ่อดำพระพุทธรูปศิลปะสมัยอยุธยาอายุกว่าร้อยปี วิหารพระพุทธชินราช ประดิษฐานพระพุทธชินราช (จำลอง) และมีสมเด็จพระศรีเมืองทองเงิน พระพุทธรูปปางมารวิชัยองค์ใหญ่ ประดิษฐานอยู่กลางแจ้งเด่นเป็นสง่าอยู่บริเวณประตูทางเข้าวัด ให้พระพุทธศาสนิกชนได้แวะสักการะเพื่อความเป็นสิริมงคล
5."วัดป่าโมกวรวิหาร" หรือ วัดป่าโมก อำเภอป่าโมก เป็นที่ประดิษฐาน "พระพุทธไสยาสน์" เป็นลักษณะสถาปัตยกรรมอยุธยาตอนปลายโดยแท้ ที่ได้รับคำเลื่องลือว่างดงามมากที่สุดองค์หนึ่งของเมืองไทย
สำหรับ วัดป่าโมกวรวิหารนี้เป็นวัดที่อยู่ติดริมแม่น้ำของจังหวัดอ่างทอง ชาวบ้านเรียกว่า วัดใต้ท้ายตลาด ในอดีตบริเวณวัดแห่งนี้เคยมีต้นโมกอยู่มากมาย ในอดีตสันนิษฐานว่าวัดนี้จมน้ำลงไปหมดจึงได้ย้ายพระพุทธไสยาสน์มาไว้ที่วัดอีกแห่งแล้วเปลี่ยนเป็นชื่อวัดป่าโมก ภายในวิหารวัดป่าโมกนี้ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ที่แสนงดงาม พระพักตร์ยาวรีเป็นรูปไข่ มีความยาว 22.58 เมตร ภายในพระพุทธไสยาสน์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ 36 องค์ สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยสุโขทัยตามพงศาวดารเหนือ มีเรื่องเล่าขานกันว่า สมเด็จพระนเรศวรมหาราชก่อนที่จะยกทัพไปทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชา พระองค์ได้เสด็จมาชุมนุมพลและถวายสักการะบูชา โดยทำพิธีเหยียบชิงชัยภูมิตัดไม้ข่มนามและนมัสการองค์พระพุทธไสยาสน์
นอกจากนี้ภายในวัดป่าโมกยังมีมีพระวิหารเขียนที่ตั้งอยู่ด้านหน้าพระวิหารพระพุทธไสยาสน์ สร้างในสมัยพระเจ้าท้ายสระที่เคยเป็นที่ประทับของพระเจ้าท้ายสระ ภายในมีภาพเขียนชาดก ฝีมือช่างสมัยรัชกาลที่ 3-4 บานประตูกลางวิหารเขียนเป็นมุก ได้นำไปไว้ที่วิหารยอด วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในสมัยรัชกาลที่ 5 ด้านหน้าพระวิหารมีเรือสำเภาก่อด้วยอิฐฉาบปูน มีเจดีย์ประดิษฐานอยู่ตรงกลางลำเรือนั้นอยู่ และมณฑปพระพุทธบาท 4 รอย หอไตร ศาลเจ้าแม่ช่อมะขาม พระบรมรานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช และสมเด็จพระเอกาทศรถ ตั้งอยู่บริเวณลานริมแม่น้ำเจ้าพระยา
6."วัดสี่ร้อย" เป็นวัดเก่าแก่ในตำบลสี่ร้อย อำเภอวิเศษชัยชาญ ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำน้อย มีอายุประมาณ 200 ปี ไม่พบหลักฐานการสร้างที่แน่นอน สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ขุนรองปลัดชูและชาวบ้านวิเศษชัยชาญ 400 คน ที่เสียชีวิตจากสงครามระหว่างไทยกับพม่าในสมัยสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์แห่งกรุงศรีอยุธยา เป็นเหตุให้ได้ชื่อว่า "วัดสี่ร้อย"
ภายในบริเวณวัดมีพระพุทธรูปปางพระปาลิไลยก์องค์ใหญ่อยู่กลางแจ้ง สร้างเมื่อปี พ.ศ.2452 องค์พระทำด้วยปูน มีหน้าตักกว้าง 6 เมตร สูง 21 เมตร อยู่ด้านหน้าพระอุโบสถและเจดีย์สี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสองเป็นศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ ชาวบ้านเรียกว่า "หลวงพ่อโตวัดสี่ร้อย" หรือ "หลวงพ่อร้องไห้" ชาวบ้านให้ความเคารพศรัทธามาก เนื่องจากเชื่อกันว่าท่านมีความศักดิ์สิทธ์ และมีเหตุการณ์ไม่คาดคิดเกิดขึ้นเป็นข่าวว่า หลวงพ่อโตวัดสี่ร้อยมีพระโลหิตออกมาทางพระนาสิก เป็นเหตุทำให้ได้รับความสนใจมากจนมีพุทธศาสนิกชนเดินทางมาสักการะกราบไหว้เพื่อเป็นสิริมงคลมากมาย
7."วัดโล่ห์สุทธาวาส" หรือที่เรียกกันว่า วัดโล่ห์ เป็นวัดเล็กๆ ตั้งอยู่ในตัวเมืองอ่างทอง มีอายุการสร้างมากว่าร้อยปี วัดโล่ห์สุทธาวาสมีสิ่งที่น่าสนใจคือ ภายในอุโบสถชั้นล่าง ผู้มีจิตศรัทธาสามารถเดินลอดพระอุโบสถสวรรค์ที่มีความงดงามเพื่อเป็นสิริมงคล และยังสามารถสักการะพระแก้วมรกตและพระบรมสารีริกธาตุ ส่วนพระอุโบสถชั้นบนประดิษฐานพระพุทธอนันตชินเป็นพระประธาน และชมภาพจิตรกรรมฝาผนังพระพุทธประวัติ บริเวณในพื้นที่วัดยังจัดเป็นส่วนพิเศษให้ชาวจังหวัดอ่างทองและผู้มีความเลื่อมใสศรัทธากราบนมัสการรูปหล่อของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) จับยามสามตา ซึ่งมีความศักดิ์สิทธิ์มากโดยเฉพาะการทำนายทายทักเสี่ยงเซียมซี พุทธศาสนิกชนนิยมกราบไหว้แล้วนำน้ำพระพุทธมนต์กลับไปบูชา บริเวณเดียวกันยังจัดแสดงหุ่นขี้ผึ้งของเกจิอาจารย์ชื่อดังต่างๆ และมีพุทธไสยาสน์อายุกว่า 150 ปีให้กราบไหว้บูชา
โดยวัดโล่ห์สุทธาวาสมีประวัติที่เชื่อว่ามีความเกี่ยวข้องกับเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) คราวที่เจ้าประคุณสมเด็จฯโตมาบูรณะ พระพุทธมหาพิมพ์ ประธานองค์ใหญ่ที่วัดไชโยวรวิหาร คหบดีคนหนึ่งของจังวัดอ่างทองชื่อ "โล่ห์" เป็นผู้เลื่อมใสศรัทธาในบวรพระพุทธศาสนา และในเจ้าประคุณสมเด็จฯโตเป็นอย่างมาก จึงมีความประสงค์ที่จะสร้างวัดขึ้นในที่ดินของตนเอง เศรษฐีโล่ห์จึงเดินทางไปกราบนมัสการขอคำแนะนำ ากเจ้าประคุณสมเด็จฯ โต เมื่อเจ้าประคุณสมเด็จฯ ทราบเจตนาอันเป็นมหากุศลแล้วก็ได้เมตตาหาตำแหน่งและฤกษ์ยามในการสร้างวัดนี้ขึ้น โดยวิธีการนั่ง จับยามสามตา ภายหลังเมื่อดำเนินการสร้างวัดโล่ห์สุทธาวาสเสร็จเรียบร้อยแล้ว เศรษฐีโล่ห์จึงได้นิมนต์เจ้าประคุณสมเด็จฯ โต มาเทศนาและเททองหล่อรูปเหมือนของท่านในอิริยาบถนั่งจับยามสามตาในวันฉลองวิสุงคามสีมานั่นเอง
8."วัดจันทรังษี" ตำบลหัวไผ่ อำเภอเมืองอ่างทอง ประดิษฐานรูปหล่อหลวงพ่อสด วัดปากน้ำ (หลวงพ่อสด จันทสโร) หล่อด้วยโลหะองค์ใหญ่สุดในโลก มีขนาดหน้าตักกว้าง 6 เมตร 9 นิ้ว สูง 9 เมตร 9 นิ้ว น้ำหนัก 45 ตัน ลงรักปิดทองคำ โดยมีความเชื่อกันว่าถ้าใครสัมผัสที่ฐานของหลวงพ่อสด ท่านจะประทานพรให้มีสุขภาพแข็งแรง สดใส หน้าตางดงาม
วัดจันทรังษี" สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2446 ตั้งอยู่ระหว่างสองฝั่งถนน มีการจัดสวนประดับประดาด้วยต้นไม้น้อยใหญ่อย่างสวยงาม ภายในวัดมีวิหารจัตุรมุขมียอดบุษบกกลาง 5 ชั้น สูง 48 เมตร กว้าง 24 เมตร ยาว 33 เมตร มีสถาปัตยกรรมอันวิจิตรงดงามที่บ่งบอกถึงความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาในจังหวัดอ่างทอง
ส่วนอีกด้านเป็นโบสถ์ประดิษฐานพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ของชาวหัวไผ่ ชาวบ้านเล่าว่า พระพุทธรูปองค์นี้สามารถโยกไปมาได้ ประชาชนในแถบนั้นจึงนิยมเรียกกันว่า "หลวงพ่อโยก" เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นศิลปะแบบอยุธยา
บริเวณหน้าวิหารมีประติมากรรมปูนปั้นรูปช้างขนาดใหญ่ที่สวยงาม มีประวัติที่เล่าสืบต่อมาว่า สามเณรสงัด สะอาดเอี่ยม ได้ติดตามปรนนิบัติหลวงตาทัยซึ่งพำนักอยู่ในป่าช้าวัดจันทรังษี หลวงตาได้บอกกับสามเณรว่าวัดจันทรังษีมีช้างใหญ่อยู่เชือกหนึ่งเป็นช้างที่สวยงามมาก ชื่อว่าช้างมงคล และต่อไปวัดจันทรังษีนี้จะเจริญรุ่งเรือง ในปัจจุบันวัดจันทรังษีมีความเจิรญสมกับคำพูดของหลวงตาทัย
9."วัดสังกระต่าย" เป็นวัดร้างที่มีโบสถ์เก่าแก่อายุกว่า 400 ปี มีรากต้นโพธิ์ 4 ต้น โอบล้อมตัวโบสถ์ไว้ไม่ให้พังทลายเป็นโบสถ์ปรกโพธิ์ ความงามมหัศจรรย์ ตั้งอยู่บริเวณข้างสำนักงานเทศบาลตำบลศาลาแดง หมู่ที่ 4 ตำบลศาลาแดง อำเภอเมืองอ่างทอง จังหวัดอ่างทอง
โบสถ์วัดสังกระต่าย เป็นโบสถ์เก่าแก่อายุกว่า 400 ปี ปัจจุบันไม่มีหลังคา มีเพียงพื้น และตัวฝาโบสถ์ที่ล้อมรอบอยู่ด้วยรากต้นโพธิ์ 4 ต้น ส่วนหลังคานั้นได้ร่มเงาจากต้นโพธิ์ จึงทำให้ผู้เข้าไปชมความงามมหัศจรรย์จำนวนมาก
ภายในตัวโบสถ์นั้นมีอยู่ 3 ห้อง ด้านในห้องแรกมีหลวงพ่อแก่น ตั้งประดิษฐานให้ประชาชนกราบไหว้ และที่ห้องด้านกลางมีประประธานองค์ใหญ่ หลวงพ่อวันดี และหลวงพ่อศรี อยู่ด้านซ้ายหลวงพ่อสุข อยู่ด้านขวาประดิษฐานอยู่ด้านกลางห้อง และด้านหลังยังมีอีกห้องซึ่งเป็นห้องว่าง เมื่อเดินผ่านประตูโบสถ์ที่มีรากต้นโพธิ์ยึดเกาะผ่านเข้าไปด้านในโบสถ์จะได้พบความมหัศจรรย์ที่ธรรมชาติได้สร้างขึ้น มีรากต้นโพธิ์สวยงามชอนไวไปตามฝาผนังโบสถ์พร้อมอากาศที่โล่ง เนื่องจากมีกิ่งก้านของต้นโพธิ์ทั้ง 4 ต้นนั้นบังแสดแดด และเป็นร่มเงาจึงทำให้ด้านในโบสถ์ของวัดสังกระต่าย โปรง และเย็นสบาย
โบสถ์วัดสังกระต่ายแห่งนี้ปัจจุบันได้ถูกพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดอ่างทอง ในทุกวันจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาชมความงดงามของธรรมชาติที่อยู่ร่วมกับพุทธศาสนาให้ประชาชนมาชมความงามพร้อมไหว้พระขอพร ชมมหัศจรรย์โบสถ์ปกโพธิ์งามมหัศจรรย์ ที่ธรรมชาติได้สร้างขึ้น อยู่ที่วัดสังกระต่าย ข้างเทศบาลตำบลศาลาแดง อำเภอเมือง จังหวัดอ่างทอง
ภาพ/ข้อมูลจาก ททท./วัฒธรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี