“กรุงเทพมหานคร (กทม.)” เมืองหลวงของประเทศไทย แม้จะมีเนื้อที่เพียงพันห้าร้อยตารางกิโลเมตร (ตร.กม.) เศษๆ จำนวนประชากรในทะเบียนราษฎรมีเพียงราว 5 ล้านคน แต่ว่ากันว่าจำนวนประชากรจริงๆ มีมากกว่า 10 ล้านคน จากคนไทยทั่วทุกภูมิภาคที่เข้ามาแสวงหาโอกาสในชีวิต แน่นอนเมื่อมีคนมีอยู่จำนวนมาก “ความขัดแย้งในการใช้พื้นที่” ระหว่างกลุ่มคนที่มีรสนิยมในการใช้ชีวิต (Life Style) แตกต่างกันจึงตามมาเป็นธรรมดา
ที่งานเสวนา “ทำยังไงไม่ให้ทะเลาะกัน? ประวัติศาสตร์การพัฒนาและชุมชนเมือง” จัดโดยภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รศ.ชาตรี ประกิตนนทการ อาจารย์ภาควิชาศิลปสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวถึงคำคำหนึ่งที่ได้รับความสนใจในหมู่นักพัฒนาเมือง นั่นคือ “เจนตริฟิเคชั่น (Gentrification)” ที่ยังไม่มีคำแปลไทย แต่อธิบายความหมายได้ว่า..
“ปรากฏการณ์ที่เกิดการปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมของย่านย่านหนึ่ง แต่ส่วนใหญ่จะพูดถึงย่านเมืองเก่า ที่เสื่อมสภาพลงจากการย้ายออกของคนที่มีฐานะไปอยู่ชานเมือง แล้วทำให้ตัวเมืองเก่าเกิดความเสื่อมโทรม แล้วเกิดการย้ายกลับเข้ามาของคนกลุ่มใหม่ซึ่งเป็นคนชั้นกลางขึ้นไป โดยเฉพาะที่เป็นศิลปิน แฟชั่นดีไซเนอร์ ย้ายกลับเข้ามาอาศัยในเมืองมากขึ้นเพราะว่าพื้นที่เมืองเก่ามันราคาถูก
พอเกิดการย้ายเข้ามาเรื่อยๆ คนกลุ่มนี้ก็เริ่มลงมือเปลี่ยนสภาพของเมือง ปรับสภาพที่ถ้าใช้คำง่ายๆ คือทำให้..“ชิค - คูล (Chic - Cool)”..คนกลุ่มนี้เริ่มมีเสียงมากขึ้นในย่านเมืองเก่า เรียกร้องนั่นนี่ทำให้เกิดความขัดแย้งทางด้านวัฒนธรรม รสนิยมในการใช้ชีวิตและชนชั้น อันนี้คือปัญหาใหญ่”
ข้างต้นนั้นคือคำอธิบายของคำว่า Gentrification ซึ่งแม้ในไทยจะไม่ได้ชัดเจนมากอย่างในต่างประเทศ แต่ก็พอมองเห็นได้เช่นกัน อาจารย์ชาตรียกตัวอย่าง “รสนิยมของคนชั้นกลางค่อนบน (Upper MiddleClass) กับความพยายามเรียกร้องให้เมืองเป็นไปอย่างนั้น” ไล่ตั้งแต่ 1.พื้นที่สีเขียว เป็นพื้นที่สาธารณะที่ทุกคนใช้ประโยชน์ร่วมกัน เช่น ปิกนิก 2.ทางเดินริมน้ำ ด้วยทรรศนะที่เห็นว่าแม่น้ำควรเอาไว้มองและพักผ่อน
3.ทางจักรยาน ซึ่งการใช้จักรยานในสังคมไทยที่เป็นกระแส ณ ปัจจุบัน ดูจะเป็นการใช้งานตามแฟชั่นเสียมากกว่าเป็นพาหนะในชีวิตประจำวันจริงๆ เห็นได้จากการ “จัดเต็ม” ทั้งจักรยานและเครื่องแต่งกายราคาแพง 4.ทำตึกเก่าให้เป็นแบบ “ฮิปสเตอร์ (Hipster)” ปรับปรุงให้เป็นที่พักสไตล์เก๋ๆ ติสต์ๆ ไว้ถ่ายรูปสวยๆ ได้ 5.หลงรักตึกเก่าทรง “โคโลเนียล (Colonial)”อาคารเก่ายุคที่ผสมผสานระหว่างศิลปะไทยกับยุโรป สามารถตกแต่งดัดแปลงได้หลากหลายกว่าอาคารศิลปกรรมไทยเดิมที่หากทำไปแล้วอาจถูกมองในแง่ลบจากผู้มีความคิดแบบอนุรักษ์นิยม
6.พ่นสีบนผนังสไตล์ “กราฟฟิตี้ (Graffiti)” แบบไม่จริง ศิลปะแบบกราฟฟิตี้นั้นเกิดขึ้นในลักษณะ “วัฒนธรรมนอกกระแส” เป็นการแสดงออกถึงการ “ต่อต้านอำนาจรัฐ (แบบเล็กๆ)” นั่นคือฝ่ายศิลปินก็พ่นสีไปเพื่อแสดงจุดยืนบางอย่างส่วนฝ่ายเจ้าหน้าที่ทางการก็จะไล่ลบ วนไปมาเช่นนี้เรื่อยไป แต่กราฟฟิตี้แบบไม่จริงหมายถึงการพ่นสีผนังกลายเป็นต้องขออนุญาตฝ่ายรัฐ “สูญเสียจิตวิญญาณ” ไปเสียแล้ว
และ 7.ร้านขายของแบบติสต์ๆ ไม่ใช่การเปิดท้ายหรือแผงค้าแบบเดิมๆ ที่คนไทยคุ้นเคย แต่ต้องแต่งร้านให้เก๋ๆ ขายสินค้าที่ดูแล้วชิคๆ คูลๆ เช่น ขายอาหารก็ต้องเป็นแบบ “ฟู้ดทรัค” (Food Truck) โดยทั้งหมด 7 ข้อนี้มีผู้ให้นิยามว่าเป็นองค์ประกอบของวิถีชีวิตแบบ “สโลว์ไลฟ์ (Slow Life)” ของชนชั้นกลางระดับบน ซึ่งก็เป็นเหมือนกันในหลายประเทศทั่วโลก
ปรากฏการณ์ Gentrification นี้หากเกิดขึ้นไปตามธรรมชาติโดยเอกชนและประชาชนล้วนๆ ผลกระทบอาจไม่มากนัก แต่ความรุนแรงจะเพิ่มขึ้นทันทีที่ “รัฐเข้ามาเร่งปฏิกิริยาให้เร็วขึ้นด้วยเห็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ” เช่น ย่านเมืองเก่าในเมือง แวนคูเวอร์ (Vancouver) ประเทศแคนาดา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของที่นั่นยุติโครงการที่อยู่อาศัยราคาถูกของรัฐ แล้วปล่อยให้เอกชนลงทุนแทน บวกกับระดมเงินทุนมาก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ อาทิ ปรับสภาพความสะอาด ขยายถนน เพื่อจูงใจให้คนชั้นกลางเข้ามาอยู่อาศัย
หรือเมือง เซี่ยงไฮ้ (Shanghai) ประเทศจีน กรณีนี้เห็นตัวอย่างชัดเจนมากในการที่รัฐบาลจีนเข้าไปปรับปรุงสภาพเมืองให้เอื้อต่อผู้อยู่อาศัยที่มีรายได้ค่อนไปทางสูง อาทิ ใช้มาตรการทางภาษี ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะ “ทำทางเดินริมน้ำที่สวยงามมาก” รวมถึงจัดการกับปัญหาความซับซ้อนของกรรมสิทธิ์ที่ดิน เพื่อให้ประชากรกลุ่มกระเป๋าหนักเข้ามาเช่าใช้ประโยชน์ได้ง่าย และสำหรับประเทศไทย อาจารย์ชาตรีมองว่าภาครัฐของไทยเองก็เริ่มเห็นมูลค่าทางเศรษฐกิจจากการแปรสภาพเมืองแบบนี้บ้างแล้ว
“ทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยามีการประท้วงกัน ประเด็นที่ผมอยากจะพูดคือเห็นด้วยกับการประท้วงของคนชั้นกลาง แต่ผมคิดว่าเขาประท้วงอยู่ 2 ข้อด้วยกัน คือ 1.ออกแบบไม่สวย 2.กินพื้นที่แม่น้ำมากเกินไปทำลายสภาพแวดล้อม ประเด็นของผมคือแล้วถ้ามันเปลี่ยนเป็นไม่ลงแม่น้ำมากและมันสวย กลุ่มคนชั้นกลางจะไม่ปฏิเสธ ถ้าเขาแก้ตรงนี้เสร็จผมเดาเองว่ากลุ่มคนชั้นกลาง สถาปนิก ศิลปินจะไม่ต่อต้าน
ทั้งๆ ที่มันจะเกิดกระบวนการที่น่ากลัว มันจะทำให้พื้นที่ด้านในชุมชนมีการพัฒนากินเข้าไปอีกหลายกิโลเมตรจากริมแม่น้ำ นำมาซึ่งกระบวนการ Gentrification ที่จะทำให้ระบบพื้นที่ในชุมชนมันเปลี่ยนไป และคนที่อยู่ดั้งเดิมจะถูกถีบออกไป ผมกังวลมาก ถ้ารัฐบาลไทยฉลาดเหมือนจีนเราก็จะไม่ต่อต้าน กลุ่มสถาปนิก อาจารย์นักวิชาการก็จะไม่ต่อต้าน ทั้งๆ ที่ยังมีผลที่เป็นเรื่องสำคัญมาก” อาจารย์ชาตรี ระบุ
ในตอนแรกนี้ได้อธิบายถึงปรากฏการณ์กระแสนิยมในรูปแบบพัฒนาเมืองที่ตอบโจทย์ประชากรกลุ่มหนึ่งทว่าส่งผลกระทบต่อประชากรอีกกลุ่มหนึ่ง ส่วนในตอนต่อไปจะกล่าวถึงการพัฒนาเมืองแบบกระแสนิยมหลักในภาครัฐของไทยที่ส่งผลกระทบต่อประชากรคนเล็กคนน้อยว่ามีที่มาอย่างไร และควรจะมีทางออกอย่างไร
(โปรดติดตามต่อในฉบับวันอาทิตย์หน้า)
SCOOP@NAEWNA.COM
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี